คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2819/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ โดยให้ทำงานที่โรงงานกระดาษบางปะอิน แล้วจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์แม้จำเลยให้การในตอนต้นว่า จำเลยไม่เคยว่าจ้างโจทก์ ไม่มีนิติสัมพันธ์ทางการจ้างหรือสัญญาจ้างกับโจทก์ แต่จำเลยได้ให้การเป็นข้อต่อมาว่า โจทก์ทุกคนถูกโรงงานกระดาษบางปะอินเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2531 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างเพียงวันที่ 21 มกราคม 2531 หลังจากนั้นโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างอีก ที่โรงงานกระดาษบางปะอินจ่ายค่าจ้างงวดเดือนมกราคม 2531จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2531 เป็นจำนวนเกินกว่าที่มีสิทธิได้รับจึงฟ้องแย้งเรียกค่าจ้างที่จ่ายเกินจากโจทก์ ตามคำให้การดังกล่าวย่อมเห็นได้ชัดว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ จึงมีผลเป็นการยอมรับอยู่ในตัวว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยและจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2531 ตามฟ้อง ทั้งจำเลยยังฟ้องแย้งเรียกค่าจ้างที่อ้างว่าได้จ่ายเกินจากโจทก์อีกด้วย จึงไม่มีประเด็นว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยหรือไม่ จำเลยจ่ายค่าครองชีพให้แก่โจทก์มีจำนวนแน่นอนเป็นการประจำทุกเดือนเพื่อตอบแทนการทำงานเช่นเดียวกับค่าจ้าง ค่าครองชีพจึงเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานและระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง จำเลยรู้ดีอยู่ว่าโจทก์ทุกคนมีสิทธิได้รับค่าจ้างเพียงถึงวันที่ 21 มกราคม 2531 เท่านั้น การที่จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์หลังจากวันดังกล่าวจนถึงวันที่ 31 เดือนเดียวกัน จึงเป็นการจ่ายตามอำเภอใจโดยไม่ปรากฏเหตุที่จะทำให้สำคัญผิดแต่ประการใด จำเลยไม่มีสิทธิเรียกเงินคืน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทุกคนเป็นลูกจ้างประจำ ให้ทำงานที่โรงงานกระดาษบางปะอิน ปรากฏวันเข้าทำงานตำแหน่งหน้าที่ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายและค่าครองชีพของโจทก์แต่ละคนตามบัญชีท้ายฟ้อง ต่อมาเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2531 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุได้โอนกิจการขายให้แก่เอกชน จำเลยได้จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์โดยมิได้นำเงินค่าครองชีพซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างมารวมคำนวณในการจ่ายเงินบำเหน็จและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ ขอให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในส่วนที่ขาดให้โจทก์แต่ละคนตามบัญชีรายละเอียดท้ายฟ้อง จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่เคยว่าจ้างโจทก์ไม่ว่าด้วยลายลักษณ์อักษรหรือวาจา จำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ทางการจ้างหรือสัญญาจ้างกับโจทก์ หากศาลฟังว่าจำเลยต้องรับผิดในสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับโรงงานกระดาษบางปะอินจำเลยขอต่อสู้ว่าโรงงานกระดาษบางปะอิน ได้จ่ายเงินบำเหน็จและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วค่าครองชีพไม่ใช่ค่าจ้าง โจทก์ไม่มีสิทธินำค่าครองชีพมาคำนวณเป็นเงินบำเหน็จ จำเลยไม่ต้องรับผิดในเงินบำเหน็จ และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีก โจทก์ทุกคนถูกโรงงานกระดาษบางปะอินเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2531 แต่โรงงานกระดาษบางปะอินจ่ายค่าจ้างงวดเดือนมกราคม 2531 จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2531 ทำให้โจทก์ได้รับค่าจ้างเกินไป ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์แต่ละคนคืนค่าจ้างที่ได้รับเกินไปดังปรากฏตามคำขอท้ายฟ้องแย้งพร้อมดอกเบี้ย โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โรงงานกระดาษบางปะอินได้จ่ายค่าจ้างงวดเดือนมกราคม 2531 จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2531 จริงแต่เป็นการจ่ายเพื่อชำระหนี้โดยที่โรงงานกระดาษบางปะอินรู้อยู่แล้วว่าไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ดังนั้นทั้งจำเลยและโรงงานกระดาษบางปะอิน จึงหามีสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างที่จ่ายเกินไปนั้นคืนจากโจทก์ไม่ ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินบำเหน็จแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 400 บาท โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 9และที่ 37 คนละ 2,100 บาท โจทก์ที่ 10 ถึงที่ 36 และที่ 38 คนละ2,800 บาท โจทก์ที่ 39 ที่ 40 และที่ 46 คนละ 2,400 บาท โจทก์ที่ 41 ถึงที่ 45 และที่ 47 ถึงที่ 51 คนละ 2,000 บาท โจทก์ที่52 จำนวน 4,500 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 10 ถึงที่ 36 และที่ 38 ถึงที่ 51 คนละ 400 บาท โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 9 และที่ 37 ที่ 52 คนละ 300 บาท กับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ 34 จำนวน 1,958.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “กรณีเห็นควรวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อ 2 ของจำเลยก่อนโดยมีความว่า จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยว่าจ้างโจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยไม่ได้ จำเลยมิได้แถลงรับว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ประเด็นดังกล่าวจึงไม่ยุติ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยจึงขัดต่อกฎหมายพิเคราะห์แล้ว โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยตกลงจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำ โดยให้ทำงานประจำที่โรงงานกระดาษบางปะอินปรากฏวันเข้าทำงาน ตำแหน่งหน้าที่ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายและค่าครองชีพตามบัญชีท้ายคำฟ้อง แล้วจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ แม้จำเลยให้การในตอนต้นว่า จำเลยไม่เคยว่าจ้างโจทก์ไม่ว่าด้วยลายลักษณ์อักษรหรือวาจา จำเลยจึงไม่มีนิติสัมพันธ์ทางการจ้างหรือสัญญาจ้างกับโจทก์ แต่ต่อมาจำเลยได้ให้การไว้เป็นข้อ 3 ว่า โจทก์ทุกคนถูกโรงงานกระดาษบางปะอินเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม2531 ฉะนั้นอัตราค่าจ้างของโจทก์ในเดือนมกราคม 2531 โจทก์มีสิทธิได้รับเพียงวันที่ 21 มกราคม 2531 หลังจากนั้นโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างอีก ที่โรงงานกระดาษบางปะอินจ่ายค่าจ้างงวดเดือนมกราคม 2531 จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2531 เป็นจำนวนเกินกว่าที่มีสิทธิได้รับ จึงขอฟ้องแย้งและมีคำขอเรียกค่าจ้างที่เกินจากโจทก์ตามคำให้การดังกล่าวย่อมเห็นได้ชัดว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ จึงย่อมมีผลเป็นการยอมรับอยู่ในตัวว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยและจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2531 ดังโจทก์ฟ้อง ทั้งจำเลยยังฟ้องแย้งเรียกค่าจ้างที่จำเลยอ้างว่าได้จ่ายเกินจากโจทก์อีกด้วย ดังนั้นจึงไม่มีประเด็นว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยหรือไม่ ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วฟังว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยจึงชอบแล้ว
จำเลยอุทธรณ์ข้อต่อไปว่า ค่าครองชีพเป็นเงินที่รัฐจ่ายเป็นสวัสดิการให้แก่ลูกจ้างที่มีรายได้น้อยโดยจ่ายตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ใช่เป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงาน ไม่มีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างเช่น เงินเดือน จึงไม่ใช่ค่าจ้างที่จะนำมาคำนวณเงินบำเหน็จและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ได้พิเคราะห์แล้ว ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 2 ได้นิยาม “ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินหรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน…ทั้งนี้ไม่ว่าจะกำหนด คำนวณหรือจ่ายเป็นการตอบแทนในวิธีอย่างไร และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร กับระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง พ.ศ. 2519 ข้อ 5 ได้นิยาม “ค่าจ้าง”หมายความว่า ค่าจ้างอัตราปกติตามอัตราที่กำหนดจ่ายให้สำหรับการทำงานในระยะเวลาตามปกติ และหมายความรวมถึงเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ (พ.ส.ร.) ด้วย เห็นว่า จำเลยได้จ่ายค่าครองชีพให้แก่โจทก์ทุกคนมีจำนวนแน่นอน เป็นการประจำทุกเดือนเพื่อตอบแทนการทำงานเช่นเดียวกับค่าจ้าง ค่าครองชีพจึงเป็นค่าจ้างตามกฎหมายและระเบียบดังกล่าว จำเลยจะต้องนำมารวมเป็นค่าจ้างเพื่อเป็นฐานคำนวณเงินบำเหน็จและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งหมดด้วย
จำเลยอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า ตามคำฟ้อง คำให้การ ฟ้องแย้งและคำแถลงยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อศาลว่า จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เกินความเป็นจริงเพราะจ่ายผิดพลาดหรือสำคัญผิดในข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางงดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยจ่ายเงินให้โจทก์ตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระจึงไม่ชอบนั้น ปรากฏว่าจำเลยได้ให้การไว้ชัดแจ้งในคำให้การข้อ 3 ว่า โจทก์ทุกคนถูกเลิกจ้างตั้งแต่วันที่21 มกราคม 2531 ในเดือนดังกล่าวโจทก์จึงมีสิทธิรับค่าจ้างได้เพียงถึงวันที่ 21 หลังจากนั้นไม่มีสิทธิได้รับ ฉะนั้นที่โรงงานกระดาษบางปะอินจ่ายค่าจ้างให้โจทก์จนถึงวันที่ 31 มกราคม2531 โจทก์จึงได้รับค่าจ้างเกินไปตามรายละเอียดในบัญชีท้ายคำให้การและฟ้องแย้ง เห็นว่าตามคำให้การดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยรู้ดีอยู่ว่า โจทก์ทุกคนมีสิทธิได้รับค่าจ้างเพียงถึงวันที่ 21 มกราคม2531 เท่านั้น ที่จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์หลังจากวันดังกล่าวจนถึงวันที่ 31 เดือนเดียวกัน จึงเป็นการจ่ายตามอำเภอใจโดยไม่ปรากฏเหตุที่จะทำให้สำคัญผิดแต่ประการใด ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งงดสืบพยาน และวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้นจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share