คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2816/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือรับสภาพหนี้ระบุว่าจำเลยที่ 1 ขอนำหลักทรัพย์ที่ดิน น.ส.3 ของจำเลยที่ 3 มาประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 ยอมทำหนังสือรับสภาพหนี้ ต่อมาจำเลยที่ 3 และที่ 4 จดทะเบียนจำนองที่ดินให้แก่โจทก์ในวงเงินจำนวนสูงมาก โดยมิได้โต้แย้งแสดงว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทราบแล้วว่า จำเลยที่ 1 ทำเงินขาดบัญชีและมีเจตนาจำนองที่ดินเป็นประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อโจทก์ เมื่อพิจารณาสัญญาจำนองที่ระบุว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ยอมรับผิดในหนี้สินใด ๆ ที่จำเลยที่ 1 ได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่โจทก์ในเวลานี้หรือในเวลาหนึ่งเวลาใดต่อไปในภายหน้าไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ ตามที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทุกประการ และหนังสือรับสภาพหนี้ได้ทำขึ้นก่อนที่จะทำสัญญาจำนองดังกล่าว ดังนี้ เมื่อฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตกลงจำนองที่ดินเพื่อเป็นประกันหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยที่ 3 และที่ 4 ผู้จำนองจึงต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์
แม้สัญญาจำนองจะระบุความรับผิดของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ฉบับที่สิ้นสุดไปแล้ว และได้มีการทำสัญญาจ้างกันใหม่ ทั้งจำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็ให้การยอมรับว่าจำเลยทั้งสองจำนอง ที่ดินเพื่อเป็นประกันหนี้จำเลยที่ 1 ในขณะที่ทำสัญญาจำนอง จึงเป็นกรณีที่ระบุสัญญาจ้างผิดฉบับคลาดเคลื่อนไป โดยผิดหลง โดยมีเจตนาที่แท้จริงจะผูกพันกันตามสัญญาจ้างฉบับใหม่ จำเลยที่ 3 และที่ 4 ย่อมไม่อาจยกข้อผิดหลง ดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดของตนตามสัญญาจำนองที่มีต่อโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ 8,231,258.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 7,886,235.50 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 50,000 บาท จำเลยที่ 3 และที่ 4 ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองจากโจทก์คนละ 2,800,000 บาท และ 1,200,000 บาท หากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองขอให้ยึดที่ดินจำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ในระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลาง โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และต่อมาโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลแรงงานกลางอนุญาต ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อยอมรับผิดและใช้หนี้ให้แก่โจทก์ ซึ่งมีนายเปรมศักดิ์ สามีจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือรับสภาพหนี้ โดยไม่ได้โต้แย้งข้อความในเอกสารดังกล่าว แสดงว่าจำเลยที่ 1 เจตนาทำหนังสือรับสภาพหนี้ด้วยความสมัครใจ ทั้งหนังสือรับสภาพหนี้ระบุว่าจำเลยที่ 1 ขอนำหลักทรัพย์ น.ส.3 ของจำเลยที่ 3 มาประกันหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 ยอมทำหนังสือรับสภาพหนี้ด้วย ต่อมาจำเลยที่ 3 จดทะเบียนจำนองที่ดินนี้แก่โจทก์ การจำนองที่ดินของจำเลยที่ 3 เกิดขึ้นเนื่องจากการทำหนังสือรับสภาพหนี้ การที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 จดทะเบียนจำนองในวงเงินจำนวนสูงมากโดยมิได้โต้แย้ง แสดงว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ทราบแล้วว่าจำเลยที่ 1 ทำเงินขาดบัญชีและมีเจตนาจำนองที่ดินเป็นประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อโจทก์ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ทำเงินขาดบัญชี จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจำนอง พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินจากโจทก์จำนวน 2,800,000 บาท จำเลยที่ 4 ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินจากโจทก์จำนวน 1,200,000 บาท หากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่นำเงินมาชำระ ให้ยึดที่ดิน น.ส.3 ของจำเลยที่ 3 กับที่ดินโฉนดของจำเลยที่ 4 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบตามสัญญาจำนอง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์ประการแรกว่า โจทก์ฟ้องนางวนิดา พนักงานโจทก์พร้อมผู้ค้ำประกัน แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องนางวนิดาในส่วนอาญาเหมือนจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าโจทก์ฟ้องโดยเลือกปฏิบัตินั้น เห็นว่า อุทธรณ์ดังกล่าวมิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่าไม่ถูกต้องอย่างไร จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ประการที่สองว่า การจำนองตามสัญญาจำนองมีวัตถุประสงค์เพื่อประกันการกระทำหรืองดเว้นการกระทำซึ่งจำเลยที่ 1 กระทำต่อโจทก์ตามสัญญาจ้างเท่านั้น เมื่อสัญญาจ้างดังกล่าวซึ่งเป็นสัญญาประธานสิ้นสภาพไปแล้วเพราะมีการทำสัญญาจ้างฉบับใหม่สัญญาจำนองที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำกับโจทก์อันเป็นสัญญาอุปกรณ์ย่อมไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 3 และที่ 4 นั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า หนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 1 ทำกับโจทก์ระบุว่าจำเลยที่ 1 ขอนำหลักทรัพย์ที่ดิน น.ส.3 ของจำเลยที่ 3 มาประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 ยอมทำหนังสือรับสภาพหนี้ด้วย ต่อมาจำเลยที่ 3 จดทะเบียนจำนองที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวตามหนังสือรับสภาพหนี้และจำเลยที่ 4 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินแก่โจทก์ด้วย การที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 จดทะเบียนจำนองในวงเงินจำนวนสูงมากโดยมิได้โต้แย้ง แสดงว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ทราบแล้วว่าจำเลยที่ 1 ทำเงินขาดบัญชีและมีเจตนาจำนองที่ดินเป็นประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อโจทก์ เมื่อพิจารณาประกอบกับสัญญาจำนองระบุว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ยอมรับผิดในหนี้สินใด ๆ ที่จำเลยที่ 1 ได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่โจทก์ในเวลานี้หรือในเวลาหนึ่งเวลาใดต่อไปในภายหน้าไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ ตามที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทุกประการและจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ก่อนที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะทำสัญญาจำนองดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตกลงจำนองที่ดินเพื่อเป็นประกันหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ของจำเลยที่ 1 อันเป็นหนี้ที่มีอยู่ในเวลาทำสัญญาจำนอง จำเลยที่ 3 และที่ 4 ผู้จำนองจึงต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์
แม้สัญญาจำนองจะระบุว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ยอมรับผิดในหนี้สินที่จำเลยที่ 1 ได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่โจทก์ตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ฉบับที่สิ้นสุดไปแล้ว และได้มีการทำสัญญาจ้างกันใหม่ ทั้งจำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็ให้การยอมรับว่าจำเลยทั้งสองจำนองที่ดินเพื่อเป็นประกันหนี้จำเลยที่ 1 ในขณะที่ทำสัญญาจำนอง ทั้งได้ความว่าในวันที่มีการทำสัญญาจำนอง จึงเป็นกรณีเป็นการระบุสัญญาจ้างผิดฉบับคลาดเคลื่อนไปโดยผิดหลง โดยมีเจตนาที่แท้จริงที่จะผูกพันกันตามสัญญาจ้างฉบับใหม่ จำเลยที่ 3 และที่ 4 ย่อมไม่อาจยกข้อผิดหลงดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดของตนตามสัญญาจำนองที่มีต่อโจทก์ได้ ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share