แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ46กำหนดบทนิยามคำว่าการเลิกจ้างไว้เพื่อให้ใช้แก่เรื่องค่าชดเชยตามประกาศนี้เท่านั้นมิได้มุ่งหมายให้นำไปใช้แก่เรื่องอื่นหรือกฎหมายอื่นเจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องนี้มีเพื่อเป็นการช่วยเหลือให้ลูกจ้างมีเงินในระหว่างหางานใหม่เนื่องจากต้องออกจากงานโดยไม่รู้ตัวส่วนจะมีความผิดทางอาญาตามประกาศของคณะปฎิวัติฉบับที่103ลงวันที่16มีนาคม2515หรือไม่นั้นต้องพิเคราะห์ถึงเจตนาของจำเลยว่าได้กระทำไปโดยมีเจตนาไล่ผู้เสียหายออกจากงานและมีเจตนาไม่จ่ายค่าชดเชยแก่ผู้เสียหายในฐานะเป็นลูกจ้างหรือไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประกาศของคณะปฎิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ข้อ 8 ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46(1)(2)ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยทั้งสองให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประกาศของคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ข้อ 8 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515ข้อ 46(1)(2) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 1 ให้ปรับ20,000 บาท จำเลยที่ 2 ให้จำคุกมีกำหนด 6 เดือน และปรับ20,000 บาท พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีและลักษณะแห่งความผิดประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 แต่ถ้าจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการและมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 นางสาววราภรณ์ องอาจวาสนาที่ 1 และนางสาวสมนิตย์ ชัยมงคลทรัพย์ ที่ 2 ผู้เสียหายเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2535 และวันที่ 16พฤศจิกายน 2534 ตามลำดับ ต่อมาวันที่ 4 ธันวาคม 2535 ผู้เสียหายทั้งสองได้ออกจากงาน ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวจึงต้องวินิจฉัยก่อนว่า จำเลยทั้งสองได้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติ ตามข้อกำหนดแห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ในข้อ 46(1) และ (2) หรือไม่ เห็นว่าประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46ดังกล่าวกำหนดบทนิยามคำว่าการเลิกจ้างไว้เพื่อให้ใช้แก่เรื่องค่าชดเชยตามประกาศนี้เท่านั้น มิได้มุ่งหมายให้นำไปใช้แก่เรื่องอื่นหรือกฎหมายอื่นด้วย เจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องนี้มีเพื่อเป็นการช่วยเหลือให้ลูกจ้างมีเงินในระหว่างหางานใหม่เนื่องจากต้องออกจากงานโดยไม่รู้ตัว ส่วนจะมีความผิดตามประกาศของคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ซึ่งเป็นความผิดทางอาญาหรือไม่นั้น ก็ต้องพิเคราะห์ถึงจำเลยทั้งสองว่า ได้กระทำไปโดยมีเจตนาไล่ผู้เสียหายทั้งสองออกและมีเจตนาไม่จ่ายค่าชดเชยแก่ผู้เสียหายทั้งสองในฐานะเป็นลูกจ้างหรือไม่ ในข้อนี้ได้ความจากคำเบิกความของนางโรโดล่า จิโรนิโม แก้วดี พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้ช่วยฝ่ายบริหารของจำเลยที่ 1 ที่เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ก่อนจำเลยที่ 2 จะเรียกผู้เสียหายทั้งสองไปพบจำเลยที่ 2 ได้ปรึกษากับพยานว่า จะไม่ใช้วิธีไล่ผู้เสียหายทั้งสองออกจากงานแต่จะให้โอกาสโดยจะทำโทษไม่ให้ขึ้นเงินเดือนในปีใหม่และตัดโบนัส ถ้าหากยังมาทำงานสายก็จะตัดเงินวันละ 200 บาทซึ่งพยานก็เห็นด้วยกับจำเลยที่ 2 และในวันเกิดเหตุช่วงระหว่างร่วมรับประทานอาหารเที่ยงกับผู้เสียหายทั้งสองก็ปรากฏว่าผู้เสียหายทั้งสองได้พูดด้วยว่าจำเลยที่ 2 จะใช้วิธีตัดโบนัสไม่ขึ้นเงินเดือนถ้าหากมาทำงานสายจะตัดวันละ 200 บาท แสดงว่าจำเลยที่ 2กำลังเลือกใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงให้ผู้เสียหายทั้งสองทำงานให้มีประสิทธิภาพ ยังมิได้ตัดสินใจเด็ดขาดที่จะไล่ผู้เสียหายทั้งสองออก ดังจะเห็นได้จากการที่จำเลยที่ 2 เรียกผู้เสียหายทั้งสองเข้าไปพบแล้วให้ผู้เสียหายที่ 1 โทรศัพท์ไปสอบถามบิดาของผู้เสียหายที่ 1ก่อนว่าจะพูดว่าอย่างไรบ้าง ถ้าหากจำเลยที่ 2 ตั้งใจที่จะไล่ผู้เสียหายทั้งสองออกแล้วก็ไม่จำต้องให้ผู้เสียหายที่ 1 โทรศัพท์ไปสอบถามบิดาของผู้เสียหายที่ 1 จำเลยที่ 2 สั่งให้ออกทันทีย่อมทำได้ การที่เรียกมาพบเพื่อหาวิธีทำโทษหรือปรามให้ทำงานโดยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นก็เป็นวิธีการบริหารงานของจำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ต่อผู้เสียหายทั้งสองในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชานอกจากนี้ยังได้ความจาก นางสาววรินทร์ ประโลมพยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ว่า บ่ายวันเกิดเหตุผู้เสียหายทั้งสองกลับเข้ามาที่บริษัทจำเลยที่ 1 อีกครั้งจำเลยที่ 2เรียกผู้เสียหายทั้งสองเข้าไปพบที่ห้องทำงานอีกครั้งนานประมาณ1 ชั่วโมง พยานทราบจากผู้เสียหายทั้งสองว่า จำเลยที่ 2 เรียกไปพบเพื่อให้กลับเข้าทำงาน แต่ผู้เสียหายทั้งสองปฎิเสธจากนั้นก็ไม่มาทำงาน แสดงว่าจำเลยที่ 2 มิได้มีความตั้งใจที่จะไล่ผู้เสียหายทั้งสองเพียงแต่มีพฤติการณ์กล่าวโทษในกรณีที่ผู้เสียหายทั้งสองไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน หากจำเลยที่ 2 ประสงค์จะไล่ผู้เสียหายทั้งสองออกจากงานแล้วก็ไม่มีเหตุผลใดที่ให้นางสาววรินทร์โทรศัพท์ไปตามผู้เสียหายทั้งสองกลับมาทำงานทั้งยังได้มีหนังสือถึงผู้เสียหายทั้งสองให้กลับเข้ามาทำงานตามปกติตามเอกสารหมาย ล.6 เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับคำเบิกความของนางสาวศิริพร กาญจนสูตร เจ้าหน้าที่กองนิติการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกระทรวงมหาดไทยที่เบิกความว่า เงินต่าง ๆที่ทางสำนักงานแรงงานกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก แจ้งเตือนไปยังจำเลยที่ 1 ปรากฎว่าจำเลยที่ 1 ได้จ่ายให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองครบถ้วนแล้วยกเว้นแต่เพียงเงินค่าชดเชยเท่านั้นที่ผู้เสียหายทั้งสองอ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้พูดโทรศัพท์กับบิดาของผู้เสียหายที่ 1 ถึงกรณีที่ไล่ผู้เสียหายทั้งสองออกแล้วนั้นก็ไม่ปรากฏว่าบิดาของผู้เสียหายที่ 1 มาเบิกความยืนยันเช่นนั้น ดังนี้รูปคดียังเป็นที่สงสัยอยู่ว่า จำเลยที่ 2 จะได้ไล่ผู้เสียหายทั้งสองออกจากงานแล้วจริงหรือไม่ และที่จำเลยที่ 1 ยังมิได้จ่ายเงินค่าชดเชยให้ผู้เสียหายทั้งสองนั้นก็มีเหตุผลน่าเชื่อว่า จำเลยที่ 2เข้าใจโดยสุจริตว่ายังไม่ได้เลิกจ้างผู้เสียหายทั้งสอง และค่าชดเชยดังกล่าวก็ยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ว่าจำเลยที่ 1 จะต้องจ่ายหรือไม่ น่าจะว่ากล่าวกันในคดีที่ศาลแรงงานกลาง จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้องโจทก์