คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2811-2818/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมการพิจารณาคดีทั้ง 11 สำนวนเข้าด้วยกันจำเลยแต่ละคนในทุกสำนวนต่างก็อ้างตนเองเป็นพยาน โดยรวมอยู่ในบัญชีระบุพยานฉบับเดียวกัน แสดงว่าจำเลยในคดีหนึ่งมิได้เป็นพยานเฉพาะคดีของตนเองเท่านั้น แต่ต่างเป็นพยานซึ่งกันและกันในทุกคดี จึงต้องห้ามไม่ให้เบิกความต่อหน้าจำเลยอื่นที่จะเบิกความเป็นพยานในภายหลัง
โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินกับกองมรดกของ ส. ครบกำหนดเวลาเช่าในสิ้นเดือนมีนาคม 2511 ต่อมาโจทก์ทำสัญญาเช่าต่อ เริ่มนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2511 เป็นต้นไป จึงมีช่วงว่างอยู่ 3 เดือน แต่โจทก์ยังครอบครองทรัพย์ที่เช่าอยู่ในระหว่าง 3 เดือนนั้น ถือได้ว่าคู่สัญญาได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลา จำเลยอยู่ในห้องพิพาทโดยอาศัยสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์ ดังนี้ เมื่อสัญญาเช่าช่วงที่พวกจำเลยทำไว้กับโจทก์สิ้นสุดลง โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องมีใจความอย่างเดียวกันทุกสำนวนว่า โจทก์เช่าที่ดินของกองมรดกหม่อมราชวงศ์สุวพรรณ สนิทวงศ์ แล้วสร้างตลาดประกอบด้วยร้านค้าและแผงลอย ซึ่งโจทก์มีสิทธิให้พ่อค้าแม่ค้าเช่าทำการค้าขายได้ สัญญาเช่ารายนี้หมดอายุเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2511 แต่ได้ตกลงต่ออายุสัญญาไปอีก 5 ปี จำเลยทำสัญญาเช่าร้านค้าจากโจทก์มีกำหนดคนละ 6 ปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2505 เมื่อสัญญาเช่าสิ้นอายุแล้ว ได้เรียกจำเลยมาทำสัญญาเช่าต่อ จำเลยไม่ยอมทำขอให้ศาลพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากร้านค้าที่เช่า

จำเลยทุกสำนวนให้การและฟ้องแย้ง ใจความอย่างเดียวกันว่าร้านค้าที่พิพาทเป็นของจำเลย เฉพาะจำเลยที่ 7 อ้างว่า ได้รับมรดกมาจากบิดาจำเลยทุกคนเป็นผู้เช่าช่วงที่ดินมาจากโจทก์ ที่ทำเป็นสัญญาเช่าร้านค้าเพราะที่ดินตรงนั้นเป็นที่ลุ่ม ไม่สามารถกำหนดเขตได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะสัญญาเช่าที่ดินระหว่างโจทก์กับเจ้าของที่ดินสิ้นสุดลงพร้อมกับสัญญาที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาหรือเรียกร้องให้จำเลยต่อสัญญาได้อีกขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าห้องพิพาทเป็นของจำเลย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นผู้เช่าที่ดินจากกองมรดกของหม่อมราชวงศ์สุวพรรณมาสร้างตลาด โดยยอมให้สิ่งปลูกสร้างเป็นของผู้ให้เช่าโดยโจทก์มีสิทธิให้เช่าสิ่งปลูกสร้างได้ จำเลยทราบดีแล้ว จึงยอมทำสัญญาเช่าห้องกับโจทก์ จำเลยไม่มีสิทธิสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารสัญญาเช่าท้ายฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกจากห้องพิพาทและให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย

จำเลยทุกคนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 11 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยแต่ละสำนวนที่อ้างตัวเองเป็นพยานในคดีของตนมีสิทธิฟังคำเบิกความของจำเลยอื่นที่เป็นพยานได้นั้น เห็นว่าเมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้รวมการพิจารณาคดีทั้ง 10 สำนวนเข้าไว้ในสำนวนแรกแล้ว จำเลยแต่ละคนในทุกสำนวนต่างก็อ้างตนเองเป็นพยานโดยรวมอยู่ในบัญชีระบุพยานฉบับเดียวกันแสดงว่าจำเลยในคดีหนึ่งมิได้เป็นพยานเฉพาะคดีของตนเองเท่านั้นแต่ต่างเป็นพยานจำเลยซึ่งกันและกันในทุกคดีด้วย เมื่อต่างคนต่างเป็นพยานแล้วก็ต้องห้ามไม่ให้เบิกความต่อหน้าจำเลยอื่นที่จะเบิกความเป็นพยานภายหลัง ฉะนั้น คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่ยอมให้จำเลยในแต่ละคดีฟังคำเบิกความของกันและกันจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 114 แล้ว

ปัญหาสุดท้ายคือ โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าแม้สัญญาเช่าที่ดินระหว่างโจทก์กับกองมรดกของหม่อมราชวงศ์สุวพรรณตามเอกสารหมาย จ.1 จ.2 ครบกำหนดเวลาเช่าในสิ้นเดือนมีนาคม 2511ส่วนสัญญาเช่าหมาย จ.3 เริ่มในวันที่ 1 กรกฎาคม 2511 เป็นต้นไปอีก5 ปี จึงมีช่วงว่างอยู่ 3 เดือน ซึ่งปรากฏว่าโจทก์ก็ยังครอบครองทรัพย์สินที่เช่าอยู่ และกองมรดกก็ทราบแล้วไม่ทักท้วง ในที่สุดเมื่อตกลงกันได้ จึงทำสัญญาเช่าหมาย จ.3 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2511 ในระหว่าง 3 เดือนนั้นจึงถือได้ว่าคู่สัญญาได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลา โจทก์จึงยังคงเป็นผู้เช่าที่ดินอยู่ตลอดเวลา และจำเลยก็อยู่ในห้องพิพาทโดยอาศัย สัญญาที่ตนทำไว้กับโจทก์ เมื่อสัญญาเช่าช่วงที่พวกจำเลยทำไว้กับโจทก์สิ้นกำหนดเวลาลงแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งหมดได้

พิพากษายืน

Share