คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2810-2811/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของการรถไฟแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 2 มีหน้าที่นำแผงเครื่องกั้นรถไฟลงเมื่อรถไฟแล่นผ่าน แต่ในขณะเกิดเหตุเมื่อรถไฟแล่นมาถึงจำเลยที่ 1 มิได้นำแผงเครื่องกั้นรถไฟลงแต่อย่างใด เมื่อรถยนต์ที่ผู้ตายขับแล่นผ่านไปจึงเป็นเหตุให้ถูกรถไฟชน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการประมาทเลินเล่อ และโดยปกติแล้วผู้ขับรถยนต์ทั่วไปเมื่อผ่านบริเวณรางรถไฟ หากไม่มีแผงเครื่องกั้นรถไฟปิดกั้นและปรากฏสัญญาณไฟและเสียงสัญญาณเตือนแล้วก็จะขับรถผ่านไปตามปกติ หากมีการนำแผงเครื่องกั้นรถไฟลง รถยนต์ที่ผ่านมาก็จะหยุดให้รถไฟผ่านไปก่อน แต่จากสภาพที่เกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน มีป้อมสำหรับพนักงานรถไฟและต้นไม้บังอยู่ ประกอบกับมีแสงไฟสว่างบดบังบริเวณนั้น จึงน่าจะทำให้ผู้ตายไม่อาจทราบได้ว่ารถไฟกำลังแล่นมาจึงขับรถยนต์ผ่านไปตามปกติ การกระทำของผู้ตายจึงไม่เป็นการประมาทเลินเล่อคงเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียว

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน

โจทก์ทั้งสองในสำนวนแรกฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังโดยไม่เปิดสัญญาณไฟและนำแผงเครื่องกั้นรถไฟลงตามหน้าที่ เป็นเหตุให้รถไฟชนรถยนต์กระบะของโจทก์ที่ 1ซึ่งขณะนั้นมีผู้ตายเป็นคนขับ รถยนต์กระบะของโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายใช้การไม่ได้คิดเป็นเงิน 300,000 บาท และผู้ตายถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปลงศพ 50,000 บาท นอกจากนั้นโจทก์ที่ 1 ต้องขาดไร้อุปการะจากผู้ตายเดือนละ2,000 บาท คิดนับแต่วันทำละเมิดเป็นเวลา 23 ปี เป็นเงิน 552,000 บาท โจทก์ที่ 2ต้องขาดไร้อุปการะเดือนละ 2,500 บาท คิดนับแต่วันทำละเมิดเป็นเวลา 23 ปี เป็นเงิน690,000 บาท รวมค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 902,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 902,000 บาทแก่โจทก์ที่ 1 และชำระเงิน 690,000 บาทแก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้เปิดสัญญาณไฟและนำแผงเครื่องกั้นรถไฟลงแล้ว แต่เหตุเกิดจากความประมาทของผู้ตายที่ยอมเสี่ยงภัยขับรถลอดผ่านแผงเครื่องกั้นรถไฟไปเอง ค่าเสียหายของรถยนต์กระบะตามฟ้องไม่เกิน 10,000 บาท โจทก์ได้รับชำระเงินจากบริษัทประกันภัยแล้วจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าปลงศพได้ หากโจทก์ได้รับความเสียหายก็ไม่เกิน 5,000 บาท ค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ทั้งสองนั้นสูงเกินส่วน ในส่วนของโจทก์ที่ 1 ไม่เกินเดือนละ 300 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี โจทก์ที่ 2 ไม่เกินเดือนละ 400บาท เป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี โจทก์ทั้งสองคิดดอกเบี้ยในค่าอุปการะเลี้ยงดูอันเป็นค่าเสียหายในอนาคตไม่ได้เนื่องจากหนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ขอให้ยกฟ้อง

โจทก์สำนวนหลังฟ้องว่า ผู้ตายซึ่งขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บ-9899สระบุรี ด้วยความประมาทไม่ลดความเร็วและดูเสียก่อนว่ามีขบวนรถไฟแล่นผ่าน ได้ขับรถลอดผ่านแผงเครื่องกั้นรถไฟตัดหน้ารถไฟในระยะกระชั้นชิดเป็นเหตุให้รถไฟชนรถที่ผู้ตายขับ ติดตะแกรงหน้ารถจักรครูดไปกระทบแผงไฟวาบได้รับความเสียหายเป็นเงิน4,587.43 บาท รถจักรได้รับความเสียหายเป็นเงิน 33,266.20 บาท และไม่สามารถนำขบวนรถไฟแล่นต่อไปได้ โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการนำรถจักรที่นำขบวนอื่นมานำขบวนแทนเป็นเงิน 5,030 บาท เป็นเหตุให้โจทก์ขาดรายได้ค่าโดยสารที่ขบวนอื่นต้องเสียเวลาเป็นเงิน 477 บาท รวมเป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้น 43,360.63 บาท จำเลยต้องรับผิดชำระค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันทำละเมิดคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 3,252.05 บาท รวมเป็นเงิน 46,612.68 บาทขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 46,612.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 43,360.63 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า เหตุที่เกิดขึ้นเพราะความประมาทของลูกจ้างของโจทก์ไม่ให้สัญญาณและไม่นำแผงเครื่องกั้นรถไฟลงตามหน้าที่ ผู้ตายไม่ทราบว่ามีรถไฟแล่นผ่านมาจึงขับรถข้ามทางรถไฟไป ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินความเป็นจริง ค่าเสียหายของโจทก์ตามความจริงไม่เกิน 33,200 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นให้เรียกโจทก์ที่ 1 ในสำนวนแรกซึ่งเป็นจำเลยในสำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์ที่ 2 ในสำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 2 เรียกจำเลยที่ 1 ในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยที่ 2 ในสำนวนแรกซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 2

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 586,200 บาทแก่โจทก์ที่ 1 และจำนวน 570,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องโจทก์สำนวนหลัง (จำเลยที่ 2)

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ทั้งสองสำนวน โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในสำนวนหลังในข้อเท็จจริงได้

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกาทั้งสองสำนวน โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุผลสมควรที่จะฎีกาในสำนวนหลังในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายวิชาญ ยอดคง ผู้ตายและเป็นเจ้าของรถยนต์กระบะคันหมายเลขทะเบียนบ-9899 สระบุรี โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรของผู้ตายกับโจทก์ที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ตามวันเวลาเกิดเหตุผู้ตายขับรถยนต์กระบะคันหมายเลขทะเบียนบ-9899 สระบุรี ของโจทก์ที่ 1 ไปตามถนนตัดผ่านทางรถไฟชนกับรถไฟขบวนที่ 5สายกรุงเทพมหานคร – เชียงใหม่ ของจำเลยที่ 2 ที่แล่นมาเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายและรถยนต์กระบะของโจทก์ที่ 1 เสียหายซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 1 มีหน้าที่คอยนำแผงเครื่องกั้นรถไฟลงเมื่อมีรถไฟผ่าน ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2ประการแรกคือ เหตุที่เกิดขึ้นเพราะความประมาทของผู้ตายหรือของจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสองมีนายประเมิน เงินต้น และนางประนอม จำปาเฟื่อง ซึ่งมีบ้านพักอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุประมาณ 30 เมตร มาเบิกความว่า ได้ยินเสียงรถไฟชนรถยนต์จึงวิ่งไปดูที่เกิดเหตุ พบแผงเครื่องกั้นรถไฟยังอยู่ที่สูงสุด ไม่ได้นำลงมากั้นถนนและไม่มีสัญญาณไฟที่แสดงว่ามีรถไฟกำลังแล่นผ่าน จึงพากันไปที่ป้อมพนักงานควบคุมและกั้นรถไฟปรากฏว่าประตูป้อมปิด จึงเรียกชื่อเล่นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ควบคุมแผงเครื่องกั้นรถไฟและไฟสัญญาณบริเวณสถานีรถไฟ เมื่อจำเลยที่ 1 เปิดประตูออกมา นายประเมินจึงแจ้งให้ทราบว่า รถไฟชนรถยนต์จำเลยที่ 1 มีอากรตกใจและตกตะลึง หลังจากนั้นมีพนักงานรถไฟอีกคนหนึ่งมาบอกให้จำเลยที่ 1 เอาแผงเครื่องกั้นรถไฟลงมาจำเลยที่ 1 จึงไปนำแผงเครื่องกั้นรถไฟลงแต่นำลงได้เพียงครึ่งเดียว แล้วจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ออกไปต่อมาร้อยตำรวจโทสายัณห์ ควบคุม มาตรวจสถานที่เกิดเหตุพบว่าแผงเครื่องกั้นรถไฟดังกล่าวไม่มีร่องรอยถูกชนและใช้ได้ตามปกติ ส่วนจำเลยที่ 2 มีจำเลยที่ 1 อ้างตนเองเบิกความเป็นพยานว่า ได้รับแจ้งจากพนักงานสับรางที่สถานีรถไฟหนองโดนว่าจะมีรถไฟผ่านที่เกิดเหตุ จึงนำแผงเครื่องกั้นรถไฟลงและได้ให้สัญญาณไฟและเสียงเตือนให้ทราบแต่ผู้ตายขับรถยนต์ลอดแผงเครื่องกั้นรถไฟทับทางรถไฟไปจนเกิดเหตุขึ้น ทำให้สัญญาณไฟแผงเครื่องกั้นรถไฟเสียหาย เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองเป็นชาวบ้านในบริเวณนั้นรู้จักกับจำเลยที่ 1 ดี หลังเกิดเหตุก็เรียกชื่อเล่นของจำเลยที่ 1 ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 มาก่อน จึงไม่มีเหตุอันใดจะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 1 และยังเบิกความได้สอดคล้องต้องกันในสาระสำคัญแห่งคดี จึงน่าเชื่อว่า เบิกความไปตามความเป็นจริง เมื่อพิจารณาประกอบกับคำเบิกความของร้อยตำรวจโทสายัณห์ที่เบิกความว่า เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุตรวจดูแผงเครื่องกั้นรถไฟแล้ว ปรากฏว่าอยู่ในสภาพปกติไม่มีร่องรอยถูกชนแต่อย่างใด ทั้งตามภาพถ่าย ภาพที่ 6 ปรากฏว่า หากจำเลยที่ 1 นำแผงเครื่องกั้นลงแล้ว ผู้ตายจะไม่สามารถขับรถยนต์ลอดผ่านไปได้โดยไม่ชนแผงเครื่องกั้นรถไฟ และที่หน้ารถยนต์ที่ผู้ตายขับก็ไม่มีร่องรอยการชนแต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองมีน้ำหนักน่าเชื่อว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 คดีจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1ซึ่งมีหน้าที่นำแผงเครื่องกั้นรถไฟลงเมื่อรถไฟแล่นผ่าน ในขณะเกิดเหตุเมื่อรถไฟแล่นมาถึงจำเลยที่ 1 ไม่ได้นำแผงเครื่องกั้นรถไฟลงแต่อย่างใดเมื่อรถยนต์ที่ผู้ตายขับแล่นผ่านไปจึงเป็นเหตุให้ถูกรถไฟชน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำที่ประมาทเลินเล่อ ส่วนการกระทำของผู้ตายนั้น เห็นว่า โดยปกติแล้วผู้ขับรถยนต์ทั่วไปเมื่อผ่านบริเวณรางรถไฟ หากไม่มีแผงเครื่องกั้นรถไฟปิดกั้นและปรากฏสัญญาณไฟและเสียงสัญญาณเตือนแล้ว ก็จะขับรถผ่านไปตามปกติ หากมีการนำแผงเครื่องกั้นรถไฟลงรถยนต์ที่ผ่านมาก็จะหยุดให้รถไฟผ่านไปก่อน เกี่ยวกับกรณีนี้หากจำเลยที่ 1 นำแผงเครื่องกั้นรถไฟลงจริงผู้ตายคงจะไม่ขับรถผ่านไปและเหตุก็จะไม่เกิดขึ้น เมื่อพิเคราะห์ถึงสภาพที่เกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนมีป้อมสำหรับพนักงานรถไฟและต้นไม้บังอยู่ ประกอบกับมีแสงไฟสว่างบดบังบริเวณนั้น จึงน่าจะทำให้ผู้ตายไม่อาจทราบได้ว่ารถไฟกำลังแล่นมา จึงขับรถยนต์ผ่านไปตามปกติ เห็นว่า การกระทำของผู้ตายไม่เป็นการประมาทเลินเล่อคงเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว ฎีกาของจำเลยที่ 2ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์ทั้งสองเสียหายเพียงใด โจทก์ที่ 1 เบิกความว่าซื้อรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุมาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2535 ในราคา 310,000 บาท นับถึงวันเกิดเหตุเป็นระยะเวลา 2 ปี การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้220,000 บาท เห็นว่า เป็นการเหมาะสมแล้ว ส่วนค่าขาดไร้อุปการะสำหรับโจทก์ที่ 1ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้เดือนละ 1,200 บาท เป็นเวลา 23 ปี รวมเป็นเงิน 331,200บาท เห็นว่า ผู้ตายรับราชการได้รับเงินเดือน เดือนละ 6,460 บาท หากยังมีชีวิตอยู่ก็มีโอกาสได้รับเงินเดือนสูงขึ้นและอาจมีรายได้พิเศษทางอื่นอีก จึงเป็นการกำหนดที่เหมาะสมแล้ว ส่วนที่กำหนดให้เป็นเวลา 23 ปี นั้น เห็นว่า ขณะถึงแก่ความตาย ผู้ตายอายุประมาณ 27 ปี การกำหนดให้อีก 23 ปี เท่ากับให้จนถึงผู้ตายมีอายุประมาณ 50 ปี ถือว่าไม่มากเกินไปและเป็นการสมควรแก่เหตุแล้ว ส่วนค่าขาดไร้อุปการะสำหรับโจทก์ที่ 2ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าสูงเกินไปและเป็นระยะเวลานานเกินไปนั้น เห็นว่า โจทก์ที่ 2 ยังเป็นผู้เยาว์ อายุประมาณ 2 ปี สมควรที่จะได้รับการอุปการะจนบรรลุนิติภาวะ และจำนวนที่กำหนดให้เดือนละ 2,500 บาท นั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการศึกษาของโจทก์ที่ 2 ด้วย เห็นว่า เป็นการกำหนดที่เหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้ตามฟ้องนั้น เห็นว่า เมื่อศาลฎีกาฟังว่า ผู้ตายมิได้มีส่วนประมาทเลินเล่อกระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share