แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำสั่งทั่วไปของกรมศุลกากรที่ 47/2531 ที่ให้ใช้ราคานำเข้าสูงสุดก่อนรายที่พิจารณาไม่เกิน 1 เดือนนั้น เป็นเพียงระเบียบภายในของจำเลยในกรณีไม่อาจจะทราบราคาแท้จริงได้ตามกฎหมาย เมื่อทางโจทก์ได้เสนอหลักฐานให้ทราบแน่ชัดแล้วจึงไม่จำต้องอาศัยระเบียบดังกล่าวมาพิจารณา ประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่องการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรฉบับที่ 77(พ.ศ. 2533) ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5(4)และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 กำหนดให้สินค้าบางชนิดต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษในการนำเข้าในราชอาณาจักรในอัตราร้อยละ 0.5ของราคาตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และจำเลยได้ออกคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 25/2533 วางระเบียบเกี่ยวกับการเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษดังกล่าวและนำส่งกระทรวงพาณิชย์ในภายหลัง การที่จำเลยเรียกเก็บเงินนี้ก็โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายและคำสั่งดังกล่าวข้างต้น แต่จำเลยเรียกเก็บเงินโดยที่จำเลยกำหนดราคาผิดไป ฉะนั้นเมื่อจำเลยทำผิดจำเลยก็ต้องมีหน้าที่คืนแก่โจทก์ต่างกับกรณีต้องคืนเงินอากรขาเข้าตามมาตรา 19 หรือมาตรา 19 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9)พ.ศ. 2482 เพราะกรณีดังกล่าวเป็นกรณีเรียกไว้โดยชอบ โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินค่าธรรมเนียมพิเศษจากจำเลยได้ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ตรวจสอบราคาสินค้าของโจทก์แล้วมีความเห็นให้เพิ่มราคา และเรียกอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่ม โจทก์ก็ได้แก้ไขจำนวนเงินราคา ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลในใบขนสินค้าขาเข้าตามรายการสำแดงที่จำเลยขอเพิ่มแล้ว ถือได้ว่ามีการประเมินภาษีการค้าโดยเจ้าพนักงานประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 87(2) แล้ว หากโจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องอย่างไรก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 30 เสียก่อน การที่โจทก์อุทธรณ์ต่อผู้อำนวยการกองวิเคราะห์ราคาซึ่งไม่ใช่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 ไม่เป็นการอุทธรณ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดี อันเป็นการใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลให้คืนเงินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้พิพากษาว่า ราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงก่อนเพิ่มนั้น เป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ให้จำเลยคืนเงินในส่วนที่เพิ่ม 1,974,569 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเพิ่มไว้ คือวันที่ 28 ธันวาคม 2533เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนดสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน ตามมาตรา 30แห่งประมวลรัษฎากร การประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเป็นอันยุติ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกคืนเงินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล ส่วนเงินค่าธรรมเนียมพิเศษ จำเลยเรียกเก็บแทนกระทรวงพาณิชย์ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของค่าอากรขาเข้า ไม่ใช่รายได้ของจำเลยและไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน แต่นำไปใช้เข้ากองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งสังกัดอยู่ในกระทรวงพาณิชย์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ราคาที่แท้จริงในท้องตลาดสำหรับสินค้าที่โจทก์นำเข้าคือ 650 เหรียญสหรัฐอเมริกาต่อตัน ซี.ไอ.เอฟ. กรุงเทพเท่ากับราคาที่บริษัทฟอร์จูนเอเชีย จำกัด นำเข้ามาก่อนระยะเวลาที่โจทก์นำเข้าไม่เกิน 1 เดือน การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบด้วยเหตุผลและกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 1,292,340 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 28ธันวาคม 2533 อันเป็นวันที่โจทก์ชำระเงินให้จำเลยเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ซื้อลวดผูกเหล็กขนาดเบอร์ 18 จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน50,000 ม้วน น้ำหนัก 1,000 ตัน ตามใบกำกับสินค้าระบุราคาตันละ450 เหรียญสหรัฐอเมริกา ซี.ไอ.เอฟ. กรุงเทพ เป็นเงิน 450,000เหรียญสหรัฐอเมริกา เท่ากับเงินไทย 11,403,000 บาท และนำเข้ามาในราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2534 ก่อนสินค้ามาถึงโจทก์ได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อจำเลยสำแดงราคาสินค้าว่า ตันละ 450 เหรียญสหรัฐอเมริกา รวมราคาของ 11,403,000บาท คำนวณค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลและค่าธรรมเนียมพิเศษแล้วเป็นเงิน 4,442,272 บาท เจ้าหน้าที่ของจำเลยให้เพิ่มราคาเป็นตันละ 650 เหรียญสหรัฐอเมริกา คำนวณแล้วเป็นราคาของ 16,471,000บาท ค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลและค่าธรรมเนียมพิเศษรวมเป็นเงิน 6,417,351 บาท โจทก์ยอมชำระเงินตามที่จำเลยขอให้เพิ่มราคาแต่ได้โต้แย้งคัดค้านไว้ในเอกสารดังกล่าว โจทก์ได้อุทธรณ์การกำหนดราคาต่อผู้อำนวยการกองวิเคราห์ราคา ผู้อำนวยการกองวิเคราะห์ราคาพิจารณาแล้ว ยื่นการประเมินราคาเดิมแล้วแจ้งให้โจทก์ทราบ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2534 และวินิจฉัยปัญหาราคาของสินค้าที่โจทก์นำเข้ามีราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเท่าใดว่าตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2 ได้ให้ความหมายของคำว่า ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดหรือราคาว่า ราคาขายส่งเงินสดซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันโดยไม่ขาดทุน ณ เวลาและที่ที่นำของเข้าหรือส่งของออกแล้วแต่กรณี โดยไม่หักทอนหรือลดหย่อนราคาอย่างใด คือให้พิจารณาถึงราคาซื้อขายเงินสดอันแท้จริงนั้นเอง โจทก์นำสืบฟังได้ว่าสินค้าที่โจทก์นำเข้ามีราคาตันละ 450 เหรียญสหรัฐอเมริกา ส่วนการคำนวณราคาจำเลยอาศัยคำสั่งทั่วไปของกรมศุลกากรที่ 47/2531 ที่ให้ใช้ราคานำเข้าสูงสุดก่อนรายที่พิจารณาไม่เกิน 1 เดือน นั้นก็เป็นแต่ระเบียบภายในของจำเลยในกรณีไม่อาจจะทราบราคาแท้จริงได้ตามกฎหมาย เมื่อทางโจทก์ได้เสนอหลักฐานให้ทราบแน่ชัดแล้วจึงไม่จำต้องอาศัยระเบียบดังกล่าวมาพิจารณา
วินิจฉัยปัญหาโจทก์จะฟ้องเรียกเงินค่าธรรมเนียมพิเศษที่เกินจากจำเลยได้หรือไม่ว่า ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร ฉบับที่ 77 (พ.ศ. 2533) ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5(4) และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 กำหนดให้สินค้าบางชนิดต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษในการนำเข้าในราชอาณาจักรในอัตราร้อยละ 0.5 ของราคาตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และจำเลยก็ได้ออกคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 25/2533 วางระเบียบเกี่ยวกับการเก็บเงินค่าธรรมเนียมพิเศษดังกล่าวและนำส่งกระทรวงพาณิชย์ในภายหลังการเก็บเงินค่าธรรมเนียมพิเศษดังกล่าวให้เก็บได้ในอัตราร้อยละ 0.5ของราคาของ การที่จำเลยเป็นผู้เรียกเก็บเงินนี้ก็โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย และคำสั่งดังกล่าวข้างต้น แต่จำเลยเรียกเก็บเงินโดยที่จำเลยกำหนดราคาผิดไป ฉะนั้นเมื่อจำเลยทำผิดจำเลยก็ต้องมีหน้าที่คืนแก่โจทก์ ต่างกับกรณีจะต้องคืนเงินอากรขาเข้าตามมาตรา 19 หรือมาตรา 19 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482เพราะกรณีดังกล่าวเป็นกรณีเรียกไว้โดยชอบ ที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าธรรมเนียมพิเศษจากจำเลยจึงชอบแล้ว และวินิจฉัยปัญหาโจทก์จะต้องอุทธรณ์ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อนฟ้องคดีหรือไม่ว่า เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ตรวจสอบราคาสินค้าของโจทก์แล้ว มีความเห็นให้เพิ่มราคาและเรียกอากรขาเข้าภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่ม โจทก์ก็ได้แก้ไขจำนวนเงินราคาภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลในใบขนสินค้าขาเข้าตามรายการสำแดงที่จำเลยขอเพิ่มแล้ว กรณีย่อมถือได้ว่าได้มีการประเมินภาษีการค้าโดยเจ้าพนักงานประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 87(2) แล้ว หากโจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องอย่างไรก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 30 เสียก่อนการที่โจทก์อุทธรณ์ต่อผู้อำนวยการกองวิเคราะห์ราคา เจ้าหน้าที่ของจำเลยซึ่งไม่ใช่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 ไม่เป็นการอุทธรณ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีอันเป็นการใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลให้คืนเงินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลได้
พิพากษายืน