แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไว้แล้วอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ก่อนส่งสำนวนไปยังศาลฎีกาได้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มอย่างคดีมีทุนทรัพย์เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์ประสงค์จะขอให้ศาลวินิจฉัยเป็นแบบอย่างว่าคดีทำนองเดียวกันนี้ควรจะเป็นคดีมีทุนทรัพย์หรือไม่มีทุนทรัพย์อุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เช่นนี้จึงมีลักษณะเป็นคำขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับการใดที่เป็นปัญหาในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามพ.ร.บ.ล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา143จำต้องขอต่อศาลที่มีอำนาจซึ่งกรณีนี้หากศาลชั้นต้นยังไม่มีคำสั่งในเรื่องนี้ย่อมจะต้องขอต่อศาลชั้นต้นแต่เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งกรณีนี้ไปแล้วจึงชอบที่จะขอต่อศาลฎีกา เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกาเพื่อขอให้ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งเมื่อศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจรับไว้พิจารณาเสียแล้วจึงไม่เป็นประโยชน์แก่รูปคดีของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อีกต่อไปฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงเป็นฎีกาข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย.
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้(จำเลย) มีหนังสือยินยันให้ผู้ร้องทั้งสี่ชำระเงินค่าหุ้นที่ค้างแก่บริษัทลูกหนี้ (จำเลย) พร้อมด้วยดอกเบี้ย ผู้ร้องทั้งสี่ร้องคัดค้านต่อศาล ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งสี่ชำระเงินตามจำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยืนยัน ผู้ร้องทั้งสี่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำหน่ายชื่อผู้ร้องทั้งสี่จากบัญชีลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา โดยเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกา ก่าอนที่ศาลชั้นต้นจะส่งสำนวนมายังศาลฎีกาได้มีคำสั่งครั้งที่สองให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสียค่าขึ้นศาลอย่าางคดีมีทุนทรัพย์ภายใน 7 วัน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้วก็ชอบที่จะค้ดค้านต่อศาลฎีกา จะอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์ไม่ได้ พิพากษายกอุทธรณ์ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ได้ความตามอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาลอุทธรณ์ว่า เจ้าพนักงานพิทักษืทรัพย์ได้วางเงินค่าธรรมเนียมอย่างคดีมีทุนทรัพย์ตามคำสั่งศาลชั้นต้นไว้แล้วและมีข้อความตอนหนึ่งว่าจะขอให้ศาลวินิจฉัยเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในโอกาสต่อไปเห็นว่า เมื่อพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวรวมกันทั้งหมดมีความหมายว่า เจ้าพนักงานพิทักษืทรัพย์ประสงค์จะให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเป็นแบบอย่างว่าในภายหน้าถ้าคดีทำนองเดียวกันนี้ ควรจะเป็นคดีมีทุนทรัพย์หรือไม่มีทุนทรัพย์เพื่อเจ้าพนักงานจะได้ถือเป็นทางปฏิบัติต่อไปอุทธรณ์ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีลักษณะเป็นคำขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับการใด ๆ ที่เป็นปัญหาในการปฎิบัติหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 143 ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อ้างเหตุต่าง ๆ มาเป็นข้อคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นกรณีนี้ เป็นเพียงการอ้างเหตุผลสนับสนุนคำขอเพื่อประกอบการพิจารณาและจูงใจให้ศาลเห็นว่า คดีของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ควรเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ เมื่อปรากฎตามคำสั่งศาลชั้นต้นทีสั่งฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ลงวันที่ 13 มีนาคม 2527 ว่าศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาไว้แล้ว เนื่องจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เสียค่าขึ้นศาลในขณะฎีกาอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์แล้ว ต่อมาวันที่ 20 มีนาคม 2527 ได้สั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มอย่างคดีมีทุนทรัพย์ โดยมิได้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งตอนแรก คำสั่งศาลดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งรับฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ตั้งแต่ตอนแรก คำสั่งตอนหลังคงเป็นเพียงคำสั่งเพิ่มเติมไม่มีผลเป็นการลบล้างคำสั่งเดิมแต่อย่างใด ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับการปฏิบัติการตามหน้าที่ที่เป็นปัญหา จำต้องขอต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณา ซึ่งกรณีนี้ หากศาลชั้นต้นยังไม่มีคำสั่งในเรื่องนี้ย่อมจะต้องขอต่อศาลชั้นต้น แต่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งกรณีนี้ไปแล้ว ชอบที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขอต่อศาลฎีกา เมื่อปรากฎว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ร้องต่อศาลอุทธรณ์ซึ่งไม่มีอำนาจสั่งตามคำขอนั้นได้ ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกาขึ้นมาเพื่อขอให้ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่ง จึงไม่เป็นประโยชน์แก่รูปคดีของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพราะว่าอุทธรณ์นั้นเป็นเพียงคำขอตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 143ซึ่งศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจรับไว้พิจารณาเสียแล้ว ย่อมไม่มีอะไรที่ศาลฎีกาจะพิพากษาให้ตามฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อีกต่อไป อย่างไรก็ดีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เสียค่าขึ้นศาลตามฎีกาฉบับแรกอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ และอย่างคดีมีทุนทรัพย์ทั้งสองประการ ศาลฎีกาย่อมจะต้องรับวินิจฉัยฎีกานั้น และปัญหาที่ว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกากรณีนี้จะต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างไร เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดี ซึ่งศาลฎีกาจะต้องมีคำสั่งในเรื่องนี้ และในคำสั่งก็ย่อมต้องมีเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยอยู่แล้ว ปัญหาที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งเกี่ยวกับการปฏิบัติการตามหน้าที่เกี่ยวกับค่าขึ้นศาลก็ย่อมจะได้รับการวินิจฉัยเสร็จสิ้นไปด้วย เช่นกัน ฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงเป็นฎีกาข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์”.