คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2807/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินและตึกแถวเป็นของ ศ. ซึ่งได้จำนองแก่ธนาคารและได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลย โดยระบุให้ธนาคารเป็นผู้รับประโยชน์ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 231 สิทธิจำนองย่อมครอบไปถึงสิทธิที่จะเรียกร้องเอาแก่ผู้รับประกันภัย อันมีความหมายว่าค่าสินไหมทดแทนที่ธนาคารผู้รับจำนองจะพึงเรียกได้จากจำเลยผู้รับประกันภัยก็ตกอยู่ในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกับทรัพย์ที่จำนองดังนั้นหากเกิดเพลิงไหม้ตึกแถวในระหว่างการจำนอง ธนาคารย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยแทนตึกแถวจากจำเลยได้โดยตรง จึงเป็นกรณีที่ธนาคารในฐานะเจ้าหนี้จำนองรับช่วงทรัพย์อันได้แก่สิทธิเรียกร้องของ ศ. ลูกหนี้ที่เอาประกันภัยที่มีอยู่กับจำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยตามมาตรา 226 วรรค 2 เมื่อตึกแถวมิได้ถูกเพลิงไหม้ในระหว่างการจำนองและ ศ. ได้จดทะเบียนไถ่จำนองโดยโจทก์เป็นผู้ชำระหนี้แก่ธนาคารแทน ศ.แล้วศ. ได้จดทะเบียนโอนขายให้โจทก์โดยปลอดการจำนอง จึงทำให้สิทธิจำนองระงับไปและธนาคารผู้รับจำนองหมดสิทธิที่จะได้รับช่วงทรัพย์อันได้แก่สิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ ศ. มีอยู่ต่อจำเลยอีกต่อไปตามมาตรา 231 สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในกรมธรรม์ประกันภัยจึงกลับมาเป็นของ ศ. ผู้เอาประกันภัยตามเดิม ต่อมาเกิดเพลิงไหม้ตึกแถวโจทก์ก็ไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ได้รับช่วงสิทธิด้วยอำนาจกฎหมายจากธนาคารผู้รับจำนองเพราะโจทก์เป็นบุคคลผู้ได้ไปซึ่งอสังหาริมทรัพย์และเอาเงินราคาค่าซื้อให้แก่ผู้รับจำนองทรัพย์สินเสร็จไปตามมาตรา 229(2) การที่ ศ. โอนตึกแถวให้โจทก์ สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในสัญญาประกันภัยของ ศ. จะโอนมาเป็นของโจทก์ด้วยหรือไม่นั้นต้องบังคับตามมาตรา 875 วรรคสอง เมื่อ ศ. ผู้เอาประกันภัยไม่ได้บอกกล่าวการโอนให้จำเลยทราบเพราะไม่ทราบเงื่อนไขจนกระทั่งเกิดเพลิงไหม้ตึกแถว สิทธิในสัญญาประกันภัยจึงไม่โอนตามไปด้วยและตามกรมธรรม์ประกันภัยระบุไว้ว่าสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยย่อมระงับสิ้นไปเมื่อทรัพย์สินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้ได้เปลี่ยนมือจากผู้เอาประกันภัยโดยวิธีอื่นนอกจากทางพินัยกรรมหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยรับประกันวินาศภัยตึกแถวไว้จากนางศุทธิรัตน์ ทรงงาม ระหว่างอายุสัญญาประกันภัย นางศุทธิรัตน์ได้จำนองตึกแถวพร้อมที่ดินแก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด ต่อมานางศุทธิรัตน์โอนขายตึกแถวและที่ดินให้โจทก์ โดยโจทก์ชำระหนี้จำนองแทนนางศุทธิรัตน์ได้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ตึกแถวและที่ดินให้โจทก์ ต่อมาได้เกิดเพลิงไหม้ตึกแถว จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ขอให้บังคับให้จำเลยชำระเงิน 275,000บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า นางศุทธิรัตน์ไม่เคยแจ้งการโอนให้จำเลยทราบกรมธรรม์ประกันภัยได้ระงับสิ้นไปแล้วตามเงื่อนไขการรับประกันภัยขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยชำระเงิน 275,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยชำระเสร็จ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ดินและตึกแถวพิพาทได้จำนองแก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด และได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลย โดยมีข้อความระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยว่าให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด เป็นผู้รับประโยชน์ ตามมาตรา 231 บัญญัติว่าถ้าทรัพย์สินที่จำนองเป็นทรัพย์ได้เอาประกันภัยไว้ ท่านว่าสิทธิจำนองย่อมครอบไปถึงสิทธิที่จะเรียกร้องเอาแก่ผู้รับประกันภัยด้วย อันมีความหมายว่าค่าสินไหมทดแทนที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด ผู้รับจำนองจะพึงเรียกได้จากจำเลยผู้รับประกันภัยก็ตกอยู่ในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกับทรัพย์ที่จำนอง ดังนั้นหากเกิดเพลิงไหม้ตึกแถวพิพาทในระหว่างการจำนองธนาคารกรุงไทย จำกัด ย่อมมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยแทนตึกแถวพิพาทจากจำเลยได้โดยตรง จึงเป็นกรณีที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด ในฐานะเจ้าหนี้จำนองรับช่วงทรัพย์อันได้แก่สิทธิเรียกร้องของนางศุทธิรัตน์ลูกหนี้ผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่กับจำเลยในฐานะผู้รับประกันภัย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226 วรรค 2 เมื่อได้ความว่าตึกแถวพิพาทมิได้ถูกเพลิงไหม้ในระหว่างการจำนองและนางศุทธิรัตน์ได้จดทะเบียนไถ่จำนองโดยโจทก์เป็นผู้ชำระหนี้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด แทนนางศุทธิรัตน์ แล้วนางศุทธิรัตน์ได้จดทะเบียนโอนขายให้โจทก์โดยปลอดการจำนอง จึงทำให้สิทธิจำนองระงับไปและธนาคารกรุงไทย จำกัดผู้รับจำนองหมดสิทธิที่จะได้รับช่วงทรัพย์อันได้แก่สิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยที่นางศุทธิรัตน์มีอยู่ต่อจำเลยอีกต่อไปตามนัยแห่งมาตรา 231 ที่กล่าวข้างต้น สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในกรมธรรม์ประกันภัยจึงกลับมาเป็นของนางศุทธิรัตน์ผู้เอาประกันภัยตามเดิม โจทก์จึงไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ได้รับช่วงสิทธิด้วยอำนาจกฎหมายจากธนาคารกรุงไทย จำกัด ผู้รับจำนองเพราะเป็นบุคคลผู้ได้ไปซึ่งอสังหาริมทรัพย์และเอาเงินราคาค่าซื้อให้แก่ผู้รับจำนองทรัพย์สินเสร็จไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 22(2) เมื่อนางศุทธิรัตน์โอนตึกแถวพิพาทให้โจทก์ สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในสัญญาประกันภัยของนางศุทธิรัตน์จะโอนมาเป็นของโจทก์ด้วยหรือไม่นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 75วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าในสัญญาประกันภัยมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นเมื่อผู้เอาประกันภัยโอนวัตถุที่เอาประกันภัยและบอกกล่าวการโอนไปยังผู้รับประกันภัย ท่านว่าสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยนั้นย่อมโอนตามไปด้วย แต่ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า นางศุทธิรัตน์ผู้เอาประกันภัยไม่ได้บอกกล่าวการโอนให้จำเลยทราบเพราะไม่ทราบเงื่อนไขดังกล่าวจนกระทั่งเกิดเพลิงไหม้ตึกแถว ดังนั้นสิทธิในสัญญาประกันภัยจึงไม่โอนตามไปด้วย และในกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 4.4ได้ระบุไว้ว่าสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยย่อมระงับไป เมื่อทรัพย์สินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้ได้เปลี่ยนมือจากผู้เอาประกันภัยโดยวิธีอื่นนอกจากทางพินัยกรรมหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยเพราะสัญญาประกันภัยได้ระงับไปแล้วตามข้อสัญญาและบทกฎหมายดังกล่าว
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share