คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2807/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องส่วนที่เกี่ยวกับเช็คพิพาทฉบับที่ 1 และที่ 2ว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทฉบับที่ 1 และที่ 2 ตามสำเนาท้ายฟ้อง(แก่ผู้ถือ) แล้วมอบแก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ โจทก์สลักหลังเช็คดังกล่าวชำระหนี้แก่ผู้มีชื่อ ผู้มีชื่อนำเช็คเข้าบัญชีเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน ผู้มีชื่อได้ใช้สิทธิไล่เบี้ยให้โจทก์ชำระเงินตามเช็คดังกล่าวในฐานะที่โจทก์สลักหลังเป็นอาวัลผู้สั่งจ่าย โจทก์ชำระเงินตามเช็คแก่ผู้มีชื่อแล้วรับเช็คดังกล่าวคืนมา โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามเช็คพิพาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คจนถึงวันฟ้องและต่อไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์เป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็ค เมื่อเช็คดังกล่าวธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรง และโจทก์ได้มีคำขอบังคับไว้ในคำฟ้องให้จำเลยชำระเงินตามเช็คพร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจนถึงวันฟ้องและต่อไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้วจึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายโดยชัดแจ้งว่าถูกใครใช้สิทธิไล่เบี้ยเมื่อใด ก็ไม่ทำให้คำฟ้องของโจทก์กลายเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าวมิใช่สภาพแห่งข้อหาที่กฎหมายบังคับให้ต้องแสดงไว้ในคำฟ้อง การสลักหลังเช็คซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921 ซึ่งมาตรา 989 วรรคแรกบัญญัติให้นำมาใช้บังคับในเรื่องเช็คด้วยนั้น บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้วว่า เป็นเพียงการประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่ายหาได้ถือว่าเป็นการสลักหลังโอนหรือสลักหลังลอยไม่ เมื่อโจทก์สลักหลังเช็คพิพาทฉบับที่ 1 และที่ 2 ซึ่งจำเลยสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ โจทก์ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้รับอาวัลจำเลยตามบทมาตราดังกล่าวจึงต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกับจำเลยซึ่งโจทก์ประกัน เมื่อโจทก์ผู้รับอาวัลได้ใช้เงินไปตามเช็คให้แก่ผู้ทรงเช็คแล้ว ย่อมได้สิทธิในอันจะไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยซึ่งโจทก์ได้ประกันไว้การที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องจำเลยเกี่ยวกับเช็คพิพาทฉบับที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นการใช้สิทธิของผู้รับอาวัลที่ได้ใช้เงินไปตามเช็คแล้วใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สั่งจ่ายซึ่งตนได้ประกันไว้ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 940 วรรคสาม ประกอบมาตรา989 วรรคแรก บัญญัติให้สิทธิไว้ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้ต้องบังคับเสียภายในระยะเวลาเท่าใด ฉะนั้นจึงต้องมีกำหนด 10 ปี ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164(เดิม) บัญญัติไว้ คดีตามคำฟ้องโจทก์เกี่ยวกับเช็คพิพาทฉบับที่ 1 และที่ 2 หาใช่กรณีโจทก์ผู้สลักหลังโอนเช็คแก่ผู้ทรง หรือผู้สลักหลังลอยโอนเช็คแก่ผู้ทรงใช้สิทธิฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยผู้สั่งจ่ายเช็คอันมีอายุความ6 เดือน ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1003บัญญัติไว้ไม่ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คชนิดออกให้แก่ผู้ถือ 4 ฉบับแล้วมอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ ต่อมาโจทก์สลักหลังเช็คฉบับที่ 1และที่ 2 ชำระหนี้แก่ผู้มีชื่อ ครั้นเช็คถึงกำหนดผู้มีชื่อและโจทก์ต่างนำเช็คไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินผู้มีชื่อไล่เบี้ยให้โจทก์ชำระเงินตามเช็คในฐานะผู้สลักหลังเป็นอาวัลผู้สั่งจ่ายโจทก์ชำระเงินตามเช็คแก่ผู้มีชื่อทั้งสองฉบับ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คทั้งสี่ฉบับโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 41,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 40,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์รับเช็คพิพาทจากจำเลยด้วยมูลหนี้อะไร โจทก์ถูกผู้มีชื่อใช้สิทธิไล่เบี้ยเมื่อใด ผู้มีชื่อเป็นใครจึงมิได้บรรยายโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาหรือข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม เช็คฉบับที่ 1 และที่ 2 ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์ถูกผู้ทรงเช็คไล่เบี้ย และโจทก์ชำระหนี้แก่ผู้ทรงเช็คหลังจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจนถึงวันฟ้องพ้นกำหนดอายุความที่ผู้สลักหลังจะฟ้องไล่เบี้ยผู้สั่งจ่ายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 20,000 บาทนับตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2529 และต้นเงิน 10,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า “คำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น” ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้บรรยายในคำฟ้องส่วนที่เกี่ยวกับเช็คพิพาทฉบับที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทฉบับที่ 1 และที่ 2 ตามสำเนาท้ายฟ้อง (แก่ผู้ถือ) แล้วมอบแก่โจทก์เพื่อชำระหนี้โจทก์สลักหลังเช็คดังกล่าวชำระหนี้แก่ผู้มีชื่อ ผู้มีชื่อนำเช็คเข้าบัญชีเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน ผู้มีชื่อได้ใช้สิทธิไล่เบี้ยให้โจทก์ชำระเงินตามเช็คดังกล่าวในฐานะที่โจทก์สลักหลังเป็นอาวัลผู้สั่งจ่าย โจทก์ชำระเงินตามเช็คแก่ผู้มีชื่อแล้วรับเช็คดังกล่าวคืนมา โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามเช็คพิพาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คจนถึงวันฟ้องและต่อไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ อันเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คเมื่อเช็คดังกล่าวธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรง และโจทก์ได้มีคำขอบังคับไว้ในคำฟ้องให้จำเลยชำระเงินตามเช็คพร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจนถึงวันฟ้อง และต่อไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จครบถ้วนตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง ดังกล่าวแล้ว จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายโดยชัดแจ้งว่าถูกใครใช้สิทธิไล่เบี้ยเมื่อใด ก็ไม่ทำให้คำฟ้องของโจทก์กลายเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าวมิใช่สภาพแห่งข้อหาที่กฎหมายบังคับให้ต้องแสดงไว้ในคำฟ้อง
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในข้อที่ 2 มีว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า การสลักหลังเช็คซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 921 ซึ่งมาตรา 989 วรรคแรก บัญญัติให้นำมาใช้บังคับในเรื่องเช็คด้วยนั้น บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้วว่า เป็นเพียงการประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย หาได้ถือว่าเป็นการสลักหลังโอนหรือสลักหลังลอยไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์สลักหลังเช็คพิพาทฉบับที่ 1 และที่ 2 ซึ่งจำเลยให้ใช้เงินแก่ผู้ถือโจทก์ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้รับอาวัลจำเลยตามบทมาตราดังกล่าวจึงต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกับจำเลยซึ่งโจทก์ประกัน เมื่อโจทก์ผู้รับอาวัลได้ใช้เงินไปตามเช็คให้แก่ผู้ทรงเช็คแล้ว ย่อมได้สิทธิในอันจะไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยซึ่งโจทก์ได้ประกันไว้ การที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องจำเลยเกี่ยวกับเช็คพิพาทฉบับที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นการใช้สิทธิของผู้รับอาวัลที่ได้ใช้เงินไปตามเช็คแล้วใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สั่งจ่ายซึ่งตนได้ประกันไว้ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 940 วรรคสาม ประกอบมาตรา989 วรรคแรก บัญญัติให้สิทธิไว้ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ ในกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้ต้องบังคับเสียภายในระยะเวลาเท่าใด ฉะนั้น จึงต้องมีกำหนด 10 ปี ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 (เดิม) บัญญัติไว้คดีตามคำฟ้องโจทก์เกี่ยวกับเช็คพิพาทฉบับที่ 1 และที่ 2 หาใช่กรณีโจทก์ในฐานะผู้สลักหลังโอนเช็คแก่ผู้ทรงหรือผู้สลักหลังลอยโอนเช็คแก่ผู้ทรง ใช้สิทธิฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยผู้สั่งจ่ายเช็คอันมีอายุความ 6 เดือน ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1003 บัญญัติไว้ไม่ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ จึงชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share