แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ในผลละเมิดที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำไปตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาและนายจ้างของจำเลยที่ 1 ในชั้นชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นได้กำหนดเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 2 ไว้เพียงประการเดียวว่า จำเลยที่ 1 ทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่ ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะวินิจฉัยไปตามประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดไว้ จะวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการโดยจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนและให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หาได้ไม่ เพราะเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น และเมื่อข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 กับ ส.ลูกจ้างของโจทก์ถูกฟ้องเป็นคดีอาญาในความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก คดีถึงที่สุดโดยศาลวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คร่อมเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนและล้ำเข้าไปในช่องทางเดินรถของ ส.แล้วเฉี่ยวชนรถยนต์คันที่ส.ขับ ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 ยกฟ้อง ส. ดังนั้นในการพิพากษาคดีนี้ ศาลจึงต้องถือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ตามที่ปรากฏในคำพิพากษาดังกล่าว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1เป็นฝ่ายประมาทฝ่ายเดียว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรและเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 ตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 โดยประมาทเป็นเหตุให้มาชนกับรถยนต์บรรทุกของโจทก์ซึ่งมีนายสมชายเป็นผู้ขับได้รับความเสียหาย ต่อมานายสมชายกับจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องในข้อหาขับรถยนต์โดยประมาท ศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ประมาทผู้เดียว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาและนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและจำเลยที่ 2 ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 2 เป็นบิดาแต่มิได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 คดีอาญายังไม่ถึงที่สุด นายสมชายคนขับรถของโจทก์ขับรถโดยประมาทเข้ามาชนรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 เสียหายขอให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาท จำเลยที่ 2ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์และยกฟ้องแย้ง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในปัญหาว่าจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ ในชั้นชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นได้กำหนดเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 2 ไว้เพียงประการเดียวว่า จำเลยที่ 1 ทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่ ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะวินิจฉัยไปตามประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดไว้ จะวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการโดยจำเลยที่ 1เป็นตัวแทนและให้ร่วมรับผิดต่อโจทก์หาได้ไม่ เพราะเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นเมื่อศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1โจทก์มิได้ฎีกาหรือแก้ฎีกาคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในเรื่องนี้แต่ประการใดข้อเท็จจริงจึงต้องฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ดังนั้นจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1
ในปัญหาว่าความเสียหายเกิดจากความประมาทเลินเล่อของฝ่ายใดนั้นได้ความว่า เหตุที่รถยนต์ชนกันครั้งนี้ พนักงานอัยการจังหวัดอุทัยธานีได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 กับนายสมชายเป็นจำเลยเรื่องความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก คดีถึงที่สุดแล้ว โดยศาลวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คร่อมเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนและล้ำเข้าไปในช่องทางเดินรถของนายสมชาย แล้วเฉี่ยวชนรถยนต์คันที่นายสมชายขับ เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติจราจรทางบกปรับจำเลยที่ 1 800 บาท และยกฟ้องนายสมชาย ดังนั้นในการพิพากษาคดีนี้ศาลจึงต้องถือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ตามที่ปรากฏในคำพิพากษาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียวเป็นผู้ขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์