คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2804/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลย 700 บาท ริบของกลางศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก จำเลยฎีกาว่า สัตว์ป่าของกลางเดิมจำเลยมีไว้ในครอบครองประเภทละ 2 ตัวซึ่งชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาสัตว์ดังกล่าวได้ขยายพันธุ์จนมีจำนวนตามฟ้อง ลูกของสัตว์ป่าเหล่านั้นหาใช่สัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายไม่จึงมิใช่ทรัพย์ที่จะริบได้ เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยรับสารภาพว่าจำเลยมีสัตว์ป่าคุ้มครองจำนวนทั้งหมดตามฟ้องไว้ในความครอบครองจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทมาตราดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีไก่ฟ้า จำนวน 8 ตัว และนกหว้า จำนวน4 ตัว ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครองเกินกว่าจำนวนที่รัฐมนตรีกำหนด โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมยึดสัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ. 2503 มาตรา 15, 40, 47 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 228 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2515 ข้อ 6, 13, 19 และสั่งริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 มาตรา 15, 40, 47 ทวิลงโทษปรับ 1,400 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 700 บาท ริบของกลางจำเลยอุทธรณ์ขอให้ไม่ริบของกลาง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลย700 บาท ริบของกลาง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218วรรคแรก จำเลยฎีกาว่า ของกลางในคดีนี้เดิมจำเลยมีไว้ในครอบครองจำนวนประเภทละ 2 ตัว ซึ่งชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาสัตว์ดังกล่าวได้ขยายพันธุ์จนมีจำนวนตามฟ้อง ลูกของสัตว์ป่าเหล่านั้นหาใช่สัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายไม่ ของกลางในคดีนี้จึงมิใช่ทรัพย์ที่จะริบได้ อันเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยรับสารภาพว่าจำเลยมีสัตว์ป่าคุ้มครองจำนวนทั้งหมดตามฟ้องไว้ในความครอบครอง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทมาตราดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาจำเลย

Share