คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 28/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 3 หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดร่วมรับผิดกับห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการโดยไม่จำกัดจำนวน โดยมิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 3 สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1088 วรรคหนึ่ง ฟ้องโจทก์จึงขาดสาระสำคัญที่ทำให้จำเลยที่ 3 ต้องรับผิด จึงถือไม่ได้ว่าตามคำฟ้องของโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดเนื่องจากสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 แม้โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 3 สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 ก็เป็นการนำสืบนอกเหนือไปจากคำฟ้อง กรณีไม่อาจให้จำเลยที่ 3 รับผิดร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 โดยไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1088 วรรคหนึ่งได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่และบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 2431 เลขที่ดิน 54 แขวงสามเสนใน (สามเสนในฝั่งเหนือ) เขตพญาไท (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร และส่งมอบที่ดินคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 519,995 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ชำระค่าเสียหายอีกเดือนละ 26,667 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสี่และบริวารจะออกจากที่ดินและส่งมอบที่ดินคืนโจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่และบริวารขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 2431 ดังกล่าว และส่งมอบที่ดินคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยทั้งสี่ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 519,995 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนชำระเสร็จ (วันฟ้อง 16 กุมภาพันธ์ 2543) และให้ชำระค่าเสียหายเดือนละ 26,667 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินและส่งมอบคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย กับให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2540 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าที่ดินของโจทก์มีกำหนดเวลา 1 ปี อัตราค่าเช่าปีละ 320,000 บาท เมื่อครบกำหนดเวลาเช่าแล้วไม่มีการต่ออายุสัญญาเช่า โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสี่และบริวารออกจากที่ดินของโจทก์แล้ว แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตาม มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า “คำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น” และมาตรา 142 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่ชี้ขาดคดีต้องตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อ แต่ห้ามมิให้พิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง…” ดังนั้น หากโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยที่ 3 ที่เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดซึ่งตามปกติจะจำกัดความรับผิดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับจะลงหุ้น ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยไม่จำกัดจำนวน เนื่องจากสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้าง โจทก์จะต้องบรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1 แต่คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 โดยมิได้บรรยายว่าจำเลยที่ 3 สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ฟ้องโจทก์จึงขาดสาระสำคัญที่ทำให้จำเลยที่ 3 ต้องรับผิด จึงถือไม่ได้ว่าตามคำฟ้องของโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดเนื่องจากสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1 แม้โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 3 สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1 ก็เป็นการนำสืบนอกเหนือไปจากคำฟ้อง กรณีไม่อาจให้จำเลยที่ 3 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1088 วรรคหนึ่ง ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share