คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 274/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ปิดประกาศสำเนากฎกระทรวงและแผนที่ท้ายกฎกระทรวงให้ราษฎรได้ทราบว่าบริเวณป่าที่จำเลยครอบครองอยู่เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยทราบประกาศดังกล่าวแล้วไม่ยื่นแสดงสิทธิของจำเลยว่ามีสิทธิอยู่ในเขตป่าสงวนได้ภายใน 90วัน นับแต่วันที่กฎกระทรวงใช้บังคับ แม้จำเลยปลูกบ้านอยู่มาก่อนก็ถือว่าจำเลยได้สละสิทธิหรือประโยชน์นั้นแล้วตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 12 วรรคแรก จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดถือครอบครองที่ดินดังกล่าว เมื่อนายอำเภอสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป จำเลยไม่ยอมรื้อถอนยังคงยึดถือครอบครองที่ดินนั้นต่อไป ย่อมเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติเพราะทำให้ที่ดินนั้นกลายเป็นที่บ้านอยู่อาศัย ไม่เป็นที่ดินตามสภาพเดิมอีกต่อไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 6, 14, 31 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2522 มาตรา 3 กฎกระทรวงฉบับที่ 860 (พ.ศ. 2422) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และให้จำเลยกับบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 มาตรา 3 จำคุก 6 เดือน ปรับ5,000 บาทให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา56 ให้จำเลยและบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยได้ปลูกบ้านอยู่อาศัยที่หมู่ที่ 8ตำบลเสิงสาง อำเภอเสิงสาง อันเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติดงอีจานใหญ่ตามกฎกระทรวงเอกสารหมาย จ.1 แม้จำเลยจะเข้ายึดถือครอบครองที่ดินนี้มาก่อนก็ตามแต่เมื่อจำเลยทราบประกาศซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาได้ประกาศกฎกระทรวงพร้อมแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.4 แล้ว ไม่ยื่นแสดงสิทธิของจำเลยว่ามีสิทธิอยู่ในเขตป่าสงวนได้ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ จึงถือว่าจำเลยได้สละสิทธิหรือประโยชน์นั้นแล้ว ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 12 วรรคแรก จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุ ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อนายอำเภอเสิงสางสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป จำเลยไม่ยอมรื้อถอนยังคงยึดถือครอบครองที่ดินนั้นต่อไป ย่อมเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติเพราะทำให้ที่ดินนั้นกลายเป็นที่บ้านอยู่อาศัย ไม่เป็นที่ดินตามสภาพเดิมอีกต่อไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษแล้วรอการลงโทษและพิพากษามานั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share