แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เช็คพิพาทเป็นเช็คสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือโจทก์เป็นผู้ถือเช็คพิพาทไว้ในครอบครอง โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็ค ตาม ป.พ.พ.มาตรา 904 เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาท จำเลยผู้ลงลายมือชื่อในเช็คจะต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็ค ตาม มาตรา 900 เช็คพิพาทสูญหายไปขณะเก็บไว้ในลิ้นชักหน้ารถยนต์ขณะนำรถยนต์ไปจอดที่บริเวณตลาดอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 25 มกราคม2539 นั้น จำเลยก็มิได้แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจและขออายัดเช็คพิพาทไว้โดยทันทีในวันนั้น กลับได้ความว่าจำเลยเพิ่งจะไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจและขออายัดเช็คพิพาทที่ธนาคารในวันที่เช็คพิพาทถึงกำหนดการใช้เงินวันที่ 29 มกราคม2539 ทั้ง ๆ ที่วันเกิดเหตุที่จำเลยอ้างว่าเช็คพิพาทสูญหายไปนั้นจำเลยอยู่ที่อำเภออู่ทองจังหวัดสุพรรณบุรี อันเป็นที่ตั้งของธนาคารตามเช็คพิพาทอยู่แล้ว จำเลยน่าจะแจ้งความและขออายัดเช็คเสียเลยในวันเกิดเหตุเพราะนอกจากเช็คพิพาทจะสูญหายไปแล้วยังมีเช็คอีกฉบับหนึ่งตามที่จำเลยอ้างซึ่งถึงกำหนดการใช้เงินแล้วสูญหายไปในคราวเดียวกันนั้นด้วย เพื่อธนาคารจะได้ระงับการจ่ายเงินตามเช็คที่ถึงกำหนดดังกล่าวได้ทันทีจำเลยจะได้ไม่เสียหาย แต่จำเลยซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านอยู่ที่หมู่ที่ 3 ตำบลหนองโสน อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ตำบลเดียวกันกับภูมิลำเนาของโจทก์และคนละจังหวัดกับที่เกิดเหตุที่อ้างว่าเช็คหาย กลับเพิ่งแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจและขออายัดเช็คที่หายเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2539 ตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 อันเป็นพิรุธและเมื่อพิจารณาคำเบิกความของนายวิชัย การสุจริตสมุห์บัญชีธนาคารตามเช็คพิพาทพยานโจทก์ประกอบรายการบัญชีกระแสรายวันของจำเลยตามเอกสารหมาย ป.จ.3(ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี) ปรากฏว่าก่อนวันที่ 29 มกราคม 2539 ซึ่งเป็นวันที่เช็คพิพาทถึงกำหนดการใช้เงินจำเลยไม่มีเงินอยู่ในบัญชี โดยในวันที่ 29 มกราคม 2539นั้นเองจำเลยนำเงินเข้าบัญชีเท่ากับจำนวนเงินตามเช็คพิพาทคือ 65,000 บาทแล้วจำเลยก็สั่งอายัดเช็คพิพาทต่อธนาคาร ครั้นวันรุ่งขึ้นจำเลยก็ถอนเงินออกจากบัญชีจำนวน 50,000 บาท วันถัดไปจำเลยก็ถอนเงินออกจากบัญชีอีก 15,000 บาทจนไม่มีเงินอยู่ในบัญชีของจำเลยเลย เสมือนเป็นการเตรียมการล่วงหน้าโดยการนำเงินเข้าบัญชีในวันเช็คพิพาทถึงกำหนดใช้เงินเพื่อเป็นหลักฐานในการต่อสู้ว่ามีเงินในบัญชีพอจะจ่ายตามเช็คพิพาทได้และขออายัดเช็คพิพาทในวันนั้นแล้วก็ถอนเงินออกจากบัญชีหมดในสองวันต่อมา เจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ที่ว่านางอนงค์นำเช็คพิพาทมาแลกเงินสดไปจากโจทก์ซึ่งจำเลยก็ทราบว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คก่อนเช็คถึงกำหนดใช้เงินนางอนงค์แจ้งให้โจทก์นำเช็คพิพาทไปเข้าบัญชีวันที่ 1กุมภาพันธ์ 2539 เพราะจำเลยนำเงินเข้าบัญชีไม่ทันครั้นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2539โจทก์นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างว่า มีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่าเช็คหาย ตามเอกสารหมาย ป.จ.1 และป.จ.2 (ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี) ข้อนำสืบต่อสู้คดีของจำเลยเป็นพิรุธย่อมไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ซึ่งได้รับประโยชน์จาก ป.พ.พ. มาตรา900 และมาตรา 904 ที่บัญญัติรับรองได้
เช็คพิพาทเป็นเช็คสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือย่อมโอนกันได้เพียงส่งมอบเช็คให้แก่กันผู้ถือเช็คไว้ในครอบครองก็เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ.มาตรา 904 แล้ว และแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่ารับเช็คพิพาทมาจากจำเลย แต่โจทก์นำสืบว่ารับเช็คพิพาทมาจาก อ.ก็ไม่ทำให้คดีของโจทก์รับฟังไม่ได้ เพราะแม้โจทก์ไม่บรรยายฟ้องว่าโจทก์รับเช็คพิพาทมาอย่างไร ก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ในฐานะผู้ทรงเช็คโดยชอบเสียไป
โจทก์รับเช็คพิพาทมาโดยมิได้ให้ อ.ผู้โอนสลักหลังก็เนื่องจากเช็คพิพาทเป็นเช็คอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ ซึ่งย่อมโอนไปเพียงส่งมอบให้แก่กัน การที่อ.จะไม่ได้ลงชื่อสลักหลังเช็คพิพาทหรือไม่ได้เข้าเบิกความเป็นพยานโจทก์ โดยจำเลยไม่ได้นำสืบถึงเหตุแห่งความไม่สุจริตของโจทก์ดังกล่าวนั้น ยังไม่พอฟังว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยไม่สุจริต
โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คสั่งจ่ายแก่ผู้ถือซึ่งสามารถโอนกันได้เพียงส่งมอบเช็คพิพาทเท่านั้นเมื่อไม่ปรากฏว่ามีประเด็นข้อต่อสู้ของจำเลยว่าการโอนเช็คพิพาทดังกล่าวมีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล ดังนั้นหนี้ระหว่างจำเลยกับ อ.จะเป็นหนี้อะไรย่อมไม่เป็นสาระในการวินิจฉัยคดีนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๓๙ จำเลยสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาอู่ทอง ลงวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๓๙จำนวนเงิน ๖๕,๐๐๐ บาท ส่งมอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ ต่อมาเมื่อเช็คถึงกำหนดชำระ โจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า “มีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงิน” เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน ๖๙,๐๖๒.๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ๗.๕ ต่อปีจากต้นเงินจำนวน ๖๕,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยรู้จักกับโจทก์มาก่อน จำเลยไม่เคยสั่งจ่ายเช็คพิพาทชำระหนี้ให้แก่โจทก์ เช็คพิพาทจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายจริงแต่ไม่ได้ส่งมอบให้แก่โจทก์ จำเลยเก็บเช็คพิพาทไว้ในรถยนต์ปรากฏว่า เช็คฉบับดังกล่าวหายไป จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ไว้ที่สถานีตำรวจและแจ้งอายัดเช็คไว้กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาอู่ทอง โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้องและไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน ๖๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาอู่ทอง ลงวันที่ ๒๙ มกราคม๒๕๓๙ จำนวนเงิน ๖๕,๐๐๐ บาท เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดการใช้เงิน โจทก์นำไปเรียกเก็บเงินเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทดังกล่าวให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือโจทก์เป็นผู้ถือเช็คพิพาทไว้ในครอบครอง โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๐๔ เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทจำเลยผู้ลงลายมือชื่อในเช็คจะต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็ค ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๐๐ ส่วนที่จำเลยนำสืบต่อสู้คดีว่าเช็คพิพาทสูญหายไปขณะเก็บไว้ในลิ้นชักหน้ารถยนต์ขณะนำรถยนต์ไปจอดที่บริเวณตลาดอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๓๙ นั้น จำเลยก็มิได้แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจและขออายัดเช็คพิพาทไว้โดยทันทีในวันนั้น กลับได้ความว่าจำเลยเพิ่งจะไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจและขออายัดเช็คพิพาทที่ธนาคารในวันที่เช็คพิพาทถึงกำหนดการใช้เงินวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๓๙ ทั้ง ๆ ที่วันเกิดเหตุที่จำเลยอ้างว่าเช็คพิพาทสูญหายไปนั้นจำเลยอยู่ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี อันเป็นที่ตั้งของธนาคารตามเช็คพิพาทอยู่แล้ว จำเลยน่าจะแจ้งความและขออายัดเช็คเสียเลยในวันเกิดเหตุเพราะนอกจากเช็คพิพาทจะสูญหายไปแล้วยังมีเช็คอีกฉบับหนึ่งตามที่จำเลยอ้างซึ่งถึงกำหนดการใช้เงินแล้วสูญหายไปในคราวเดียวกันนั้นด้วย เพื่อธนาคารจะได้ระงับการจ่ายเงินตามเช็คที่ถึงกำหนดดังกล่าวได้ทันทีจำเลยจะได้ไม่เสียหาย แต่จำเลยซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านอยู่ที่หมู่ที่ ๓ ตำบลหนองโสน อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรีตำบลเดียวกันกับภูมิลำเนาของโจทก์และคนละจังหวัดกับที่เกิดเหตุที่อ้างว่าเช็คหายกลับเพิ่งแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจและขออายัดเช็คที่หายเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม๒๕๓๙ ตามเอกสารหมาย ล.๑ และ ล.๒ อันเป็นพิรุธ และเมื่อพิจารณาคำเบิกความของนายวิชัย การสุจริตสมุห์บัญชีธนาคารตามเช็คพิพาทพยานโจทก์ประกอบรายการบัญชีกระแสรายวันของจำเลยตามเอกสารหมาย ป.จ.๓ (ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี) ปรากฏว่าก่อนวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๓๙ ซึ่งเป็นวันที่เช็คพิพาทถึงกำหนดการใช้เงินจำเลยไม่มีเงินอยู่ในบัญชี โดยในวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๓๙ นั้นเองจำเลยนำเงินเข้าบัญชีเท่ากับจำนวนเงินตามเช็คพิพาทคือ ๖๕,๐๐๐ บาท แล้วจำเลยก็สั่งอายัดเช็คพิพาทต่อธนาคารครั้นวันรุ่งขึ้นจำเลยก็ถอนเงินออกจากบัญชีจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท วันถัดไปจำเลยก็ถอนเงินออกจากบัญชีอีก ๑๕,๐๐๐ บาท จนไม่มีเงินอยู่ในบัญชีของจำเลยเลยเสมือนเป็นการเตรียมการล่วงหน้าโดยการนำเงินเข้าบัญชีในวันเช็คพิพาทถึงกำหนดใช้เงินเพื่อเป็นหลักฐานในการต่อสู้ว่ามีเงินในบัญชีพอจะจ่ายตามเช็คพิพาทได้และขออายัดเช็คพิพาทในวันนั้นแล้วก็ถอนเงินออกจากบัญชีหมดในสองวันต่อมา เจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ที่ว่านางอนงค์นำเช็คพิพาทมาแลกเงินสดไปจากโจทก์ซึ่งจำเลยก็ทราบว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็ค ก่อนเช็คถึงกำหนดใช้เงินนางอนงค์แจ้งให้โจทก์นำเช็คพิพาทไปเข้าบัญชีวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ เพราะจำเลยนำเงินเข้าบัญชีไม่ทันครั้นวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ โจทก์นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างว่า มีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่าเช็คหาย ตามเอกสารหมาย ป.จ.๑ และ ป.จ.๒ (ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี) ดังนี้ข้อนำสืบอันเป็นพิรุธของจำเลยดังกล่าวไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ซึ่งได้รับประโยชน์จากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๐๐ และมาตรา ๙๐๔ที่บัญญัติรับรองดังวินิจฉัยมาแล้วได้ ที่จำเลยฎีกาว่า ตามฟ้องของโจทก์อ้างว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ แต่โจทก์กลับนำสืบว่าโจทก์รับเช็คพิพาทมาจากนางอนงค์ซึ่งนำมาแลกเงินสดไปจากโจทก์ จึงเป็นการนำสืบนอกคำฟ้องและนอกประเด็น จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือย่อมโอนกันได้เพียงส่งมอบเช็คให้แก่กันเท่านั้นผู้ถือเช็คไว้ในครอบครองก็เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๐๔ แล้ว และแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่ารับเช็คพิพาทมาจากจำเลยแต่นำสืบว่าโจทก์รับเช็คพิพาทมาจากนางอนงค์ก็ไม่ทำให้คดีของโจทก์รับฟังไม่ได้ เพราะแม้โจทก์ไม่บรรยายฟ้องว่าโจทก์รับเช็คพิพาทมาอย่างไร ก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ในฐานะผู้ทรงเช็คโดยชอบเสียไป
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้นำนางอนงค์ผู้แลกเช็คพิพาทมาเบิกความและเช็คพิพาทไม่มีลายมือชื่อนางอนงค์สลักหลัง จึงทำให้เห็นว่าโจทก์ครอบครองเช็คพิพาทโดยไม่สุจริตนั้น การที่โจทก์รับเช็คพิพาทมาโดยมิได้ให้นางอนงค์ผู้โอนสลักหลังก็เนื่องจากเช็คพิพาทเป็นเช็คอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ ซึ่งย่อมโอนไปเพียงส่งมอบให้แก่กัน ดังนั้นการที่นางอนงค์จะไม่ได้ลงชื่อสลักหลังเช็คพิพาทหรือไม่ได้เข้าเบิกความเป็นพยานโจทก์ โดยจำเลยไม่ได้นำสืบถึงเหตุแห่งความไม่สุจริตของโจทก์ดังกล่าว จึงไม่อาจฟังว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยไม่สุจริตดังจำเลยฎีกาได้
ส่วนฎีกาประการสุดท้ายของจำเลยที่ว่าโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า โจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยกับนางอนงค์จะเป็นหนี้กันเรื่องอะไร ทั้ง ๆ ที่ตอบคำซักถามของทนายโจทก์ว่าจำเลยเป็นหนี้ค่าซื้อขายที่ดินกับนางอนงค์ เป็นการเบิกความกลับไปกลับมาไม่น่าเชื่อว่าโจทก์รับเช็คโดยนางอนงค์นำมาแลกเงินสดนั้น เห็นว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คสั่งจ่ายแก่ผู้ถือซึ่งสามารถโอนกันได้เพียงส่งมอบเช็คพิพาทเท่านั้นเมื่อไม่ปรากฏว่ามีประเด็นข้อต่อสู้ของจำเลยว่าการโอนเช็คพิพาทดังกล่าวมีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล ดังนั้นหนี้ระหว่างจำเลยกับนางอนงค์จะเป็นหนี้อะไรกันนั้นย่อมไม่เป็นสาระในการวินิจฉัยคดีนี้
พิพากษายืน.