คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2798-2799/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อมีประกาศกระแสพระบรมราชโองการ เรื่อง ขยายการหวงห้าม และจัดซื้อที่ดินสำหรับการชลประทาน แต่เขตที่ดิน ตามที่ประกาศหวงห้ามไม่เพียงพอเนื่องจากสภาพเป็นดินเหลว ต้องใช้ที่ดินจำนวนมาก กรมชลประทานจึงกันเขตเกินที่กำหนด ไว้ในประกาศกระแสพระบรมราชโองการในการกันเขตนั้นตอนใดที่มี เจ้าของครอบครองอยู่ก็จ่ายเงินซื้อ ถ้าไม่มีเจ้าของก็ ไม่ต้องจ่ายเงินซื้อ การที่กรมชลประทานได้รังวัดปัก เขตที่ดินดังกล่าวเช่นนี้แล้ว ที่ดินนั้นก็ต้องถือว่า เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน อันเป็นทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(3) แล้ว ไม่ต้องมีกฎหมายพิเศษให้อำนาจ กรมชลประทานหวงห้ามอย่างใดอีก
ที่ดินที่ใช้สำหรับการชลประทาน กรมชลประทานมีหน้าที่ดูแล รักษาที่ดินดังกล่าวจึงมีอำนาจฟ้องคดีเกี่ยวกับที่ดินนั้นได้
การที่อธิบดีกรมชลประทานไม่ขัดข้องในการที่มีผู้ขอออกโฉนดที่ดินทับที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไม่ทำให้ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับที่ดินสาธารณะนั้นหมดไป กรมชลประทานยังมีอำนาจฟ้อง
การที่จำเลยกล่าวอ้างว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมโดยกล่าวอ้างเหตุนอกเหนือจากที่ได้ให้การไว้นั้น เป็นการ กล่าวอ้าง ข้อที่มิได้ว่ากันมาในศาลชั้นต้น
สืบพยานโจทก์จำเลยเสร็จแล้วศาลมีอำนาจที่จะเรียกสำนวนคดีอื่นที่เกี่ยวกับคดีมาประกอบการพิจารณาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสาม ที่บัญญัติให้อำนาจศาลไว้ว่า เมื่อศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเป็นการจำเป็นที่จะต้องนำพยานหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับประเด็นในคดีมาสืบเพิ่มเติมก็ย่อมทำได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการและรักษาคุ้มครองกิจการชลประทานทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2467 ได้มีประกาศกระแสพระบรมราชโองการเรื่องการขยายเขตหวงห้ามและจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างการทดน้ำ ไขน้ำ บริเวณเชียงรากน้อยและบางเหี้ย พุทธศักราช 2467 ซึ่งได้กำหนดเขตหวงห้ามไว้ โจทก์ได้ทำการสำรวจการหวงห้ามที่ดินตามประกาศดังกล่าว แต่ที่ดินตามที่กำหนดเขตไว้ในกระแสพระบรมราชโองการไม่เพียงพอเพราะสภาพดินเหลว โจทก์จึงได้ตกลงกับกระทรวงเจ้าสังกัดแก้ไขเขตชลประทานเสียใหม่ แล้วทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินที่กันไว้เป็นเขตชลประทาน จัดทำแผนที่และปักหลักเขตไว้เป็นที่แน่นอน ที่ดินแปลงใดมีผู้ครอบครองก็จ่ายเงินทดแทนที่ดินให้ผู้นั้น ที่ดินแปลงใดไม่มีผู้ครอบครองก็ถือว่าเป็นที่หลวงตามประกาศที่ดินบริเวณหรือเขตดังกล่าว โจทก์ได้ถือสิทธิครอบครองไว้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเพื่อการชลประทานตลอดมาถึงปัจจุบันเกินกว่า 40 ปี ไม่มีผู้ใดเข้ามาเกี่ยวข้องอ้างเป็นเจ้าของ ในระหว่างปี พ.ศ. 2516 และ พ.ศ. 2517 จำเลยยื่นคำขอออกโฉนดกับที่ดินกรมชลประทานดังกล่าวรวม 2 แปลง แปลงแรกเนื้อที่ 26 ไร่ 1 งาน 34 ตารางวา คือที่ดินในสำนวนแรก กับแปลงที่สองเนื้อที่ 9 ไร่ 3 งาน 21 ตารางวา คือที่ดินในสำนวนหลัง สำนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินในสำนวนแรกให้จำเลยคือโฉนดเลขที่ 38306 ที่ดินแปลงหลังจำเลยยื่นคำขอออกโฉนดตามหนังสือฉบับที่ 212/213/2516 การออกโฉนดในสำนวนแรกก็ดี การดำเนินการขอออกโฉนดในสำนวนหลังก็ดี เป็นการทับที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้พิพากษาว่า โฉนดที่ดินเลขที่ 38306 และคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินฉบับที่ 212/213/2516 ของจำเลยต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการเป็นโมฆะ ห้ามมิให้สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการออกโฉนดที่ดินในสำนวนหลังให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดิน ห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า ที่พิพาทไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ ที่พิพาทอยู่นอกเขตตามประกาศกระแสพระบรมราชโองการ โจทก์ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะกันที่ดินนอกเหนือไปจากเขตตามประกาศ ที่ดินที่พิพาทไม่ใช่ที่รกร้างว่างเปล่า แต่เป็นที่ดินที่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินก่อนที่จะมีกระแสพระบรมราชโองการ โจทก์ไม่เคยกันที่พิพาทไว้เพื่อการชลประทาน ทั้งไม่เคยจ่ายเงินค่าทดแทนให้จำเลย การออกโฉนดและการยื่นคำขอออกโฉนดของจำเลยเป็นไปโดยสุจริต เป็นการชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผน ทั้งโจทก์ก็ทราบไม่คัดค้านและเห็นชอบให้จำเลยออกโฉนดได้ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะหม่อมหลวงปิลันธ์ มาลากุล เป็นเพียงผู้รักษาการแทนอธิบดีกรมชลประทาน ไม่มีอำนาจลงชื่อเป็นโจทก์ ไม่มีอำนาจแต่งทนายความ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า โฉนดที่ดินเลขที่ 38306 ตำบลบางปูใหญ่ (บางปู) อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ในสำนวนแรกและคำขอรังวัดออกโฉนดฉบับที่ 212/213/2516 ของจำเลยต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการในสำนวนหลังเป็นโมฆะ ห้ามมิให้สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการออกโฉนดตามคำขอดังกล่าว ให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป

จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้ปักเขตที่ดินสำหรับการชลประทานตามประกาศกระแสพระบรมราชโองการแล้ว ที่ดินที่พิพาททั้งสองแปลงเป็นที่รกร้างว่างเปล่ามาก่อนที่กรมชลประทานจะปักเขตและที่พิพาททั้งสองแปลงอยู่ในเขตของกรมชลประทาน การออกโฉนดที่ดินก็ดีการขอรังวัดออกโฉนดก็ดี เป็นเวลาภายหลังที่ที่พิพาทถูกกันเป็นเขตชลประทานแล้ว

วินิจฉัยข้อกฎหมายว่า เมื่อกรมชลประทานได้ทำการรังวัดปักเขตที่ดินตามประกาศกระแสพระบรมราชโองการ แต่เขตที่ดินตามประกาศกระแสพระบรมราชโองการให้หวงห้ามที่ดินนั้นไม่เพียงพอเพราะสภาพเป็นดินเหลว จึงได้ขยายเขตให้กว้างออกไปเพื่อให้มีที่ดินและดินพอใช้ในการทำคันกั้นน้ำเค็ม ในการกันเขตที่ดินนั้น ตอนใดเป็นที่มีเจ้าของครอบครองอยู่ โจทก์ได้จ่ายเงินซื้อแล้วจึงปักหลักเขต ถ้าไม่มีเจ้าของก็ไม่ต้องจ่ายเงินซื้อ เมื่อโจทก์ได้ทำการรังวัดปักหลักเขตที่ดินไปเพื่อใช้ในการชลประทานเช่นนี้แล้ว ที่ดินก็ต้องถือว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน อันเป็นทรัพย์สินใช้เพื่อสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยเฉพาะตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(3) ราษฎรผู้ไม่เคยถือสิทธิอะไรในที่ดิน ไม่มีเหตุจะขัดขวางการใช้ของกรมชลประทานได้ กรณีเช่นนี้ไม่จำต้องมีกฎหมายพิเศษให้อำนาจกรมชลประทานหวงห้ามอย่างใด ทั้งกรมชลประทานมิได้อาศัยอำนาจบังคับซื้อหรือฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศกระแสพระบรมราชโองการ หากแต่กรมชลประทานได้ทำการซื้อที่ดินที่มีผู้ครอบครองโดยตรงหรือมิฉะนั้นก็ให้ถือเอาที่ดินรกร้างว่างเปล่า อยู่มาเป็นเขตชลประทานซึ่งย่อมกระทำได้โดยชอบ แม้เป็นการขยายเขตออกไปเกินกว่าที่กำหนดไว้ตามประกาศพระบรมราชโองการก็ตาม

ส่วนที่จำเลยฎีกาเรื่องอำนาจฟ้องนั้น ข้อแรกจำเลยฎีกาว่าที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามความหมายของกฎหมาย หาได้อยู่ในอำนาจของกรมชลประทานที่จะดูแลรักษาไม่เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอโดยเฉพาะและว่าถ้าเป็นที่ราชพัสดุ ก็เป็นอำนาจของกรมธนารักษ์ที่จะดำเนินคดี โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าที่พิพาทเป็นที่ดินที่ใช้สำหรับการชลประทานโดยเฉพาะอยู่ในความดูแลรักษาของโจทก์ เมื่อโจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาที่ดินดังกล่าว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องได้ สำหรับข้อที่สองที่จำเลยฎีกาว่าตามหลักฐานปรากฏว่าอธิบดีกรมชลประทานไม่ขัดข้องในการที่จำเลยร้องขอออกโฉนดที่ดินพิพาท การที่จำเลยร้องขอให้ทางราชการออกโฉนดที่ดินพิพาทให้จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์เห็นว่า การที่จำเลยขอออกโฉนดทับที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งจะโอนแก่กันมิได้นั้น ย่อมถือได้แล้วว่าข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทเกิดขึ้นแล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ส่วนเรื่องฟ้องเคลือบคลุม จำเลยฎีกาว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่า ครั้งแรกโจทก์ทำคันกั้นน้ำเค็มกว้าง 230 เมตร แล้วต่อมาร่นความกว้างเหลือ 190 เมตร โดยโจทก์มิได้กล่าวอ้างว่าการทำเช่นนั้นโดยอาศัยสิทธิหรือกฎหมายอะไร จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม เห็นว่าฎีกาจำเลยข้อนี้จำเลยกล่าวอ้างนอกเหนือไปจากที่กล่าวไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยชอบแล้ว

จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า ศาลชั้นต้นเรียกสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 150/2516 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการมาประกอบการพิจารณาโดยไม่มีฝ่ายใดอ้างเป็นพยานไว้ และจำเลยไม่มีโอกาสคัดค้านพยานในคดีดังกล่าว จำเลยต้องเสียเปรียบคำพิพากษาในคดีแพ่งดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยนั้น เห็นว่าโจทก์ได้อ้างสำนวนดังกล่าวไว้แล้วในบัญชีระบุพยานลงวันที่ 28 มกราคม 2520 อันดับที่ 36 ทั้งเมื่อศาลจดรายงานฯ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2521 เรียกสำนวนดังกล่าวมารวมไว้ในคดีนี้ให้จำเลยดูแล้ว จำเลยก็ไม่คัดค้านอย่างใด และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 86 วรรคสาม บัญญัติให้อำนาจศาลไว้ว่าเมื่อศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเป็นการจำเป็นที่จะต้องนำพยานหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับประเด็นในคดีมาสืบเพิ่มเติมก็ย่อมทำได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นได้เรียกสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 150/2516 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการมาประกอบการพิจารณาจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ

พิพากษายืน

Share