คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2793/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จำกัด จะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยเงินกู้จากผู้กู้ได้ในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติในการกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากประชาชนฯ และตามประกาศของบริษัทโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อขณะทำสัญญากู้เงิน โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี และต่อมาได้ทำสัญญากู้เพิ่มกำหนดดอกเบี้ยใหม่เป็นอัตราร้อยละ 12.5ต่อปี แม้จะมีข้อตกลงต่อไปว่า ในกรณีที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ถูกต้องจำเลยยอมให้โจทก์เรียกให้ชำระหนี้ทั้งหมดและคิดดอกเบี้ยในเงินต้นที่ค้างชำระในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้เดิมจึงเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383
หนี้จำนองเป็นเพียงหนี้อุปกรณ์ซึ่งจะต้องมีหนี้ประธานเสียก่อน การบังคับจำนองจึงจะกระทำได้ เมื่อหนี้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นหนี้ประธานกำหนดอัตราดอกเบี้ยเท่าใดหนี้จำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์จึงคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงเท่าดอกเบี้ยที่โจทก์คิดไว้จากหนี้ตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธาน ซึ่งตามสัญญากู้เงินเพิ่มเติมครั้งที่ 1จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์เพิ่มอีก โดยระบุว่าจำเลยยอมชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี จึงเป็นข้อตกลงตามเจตนาของคู่สัญญา อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจึงมิใช่เบี้ยปรับ แม้จำเลยผิดสัญญาโจทก์ยังคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่งศาลชั้นต้นลดเบี้ยปรับจากอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ลงโดยกำหนดให้โจทก์ได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่งน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยก่อนที่จำเลยผิดนัดมีผลเป็นการงดเบี้ยปรับโดยสิ้นเชิงจึงไม่ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 5,024,512.61 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของเงินต้น 2,928,505.21 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ

โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเพราะเหตุจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์ในการทำคำพิพากษาเห็นควรให้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 3,218,036.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของเงินต้น 2,928,505.21 บาท นับแต่วันที่ 14 มกราคม2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้นำเงินที่จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ 13 ครั้งครั้งละ 15,000 บาท มาหักชำระหนี้ดอกเบี้ยและเงินต้นตามลำดับ ในวันชำระหนี้แต่ละครั้ง หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้โจทก์ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 29685ตำบลคลองนราอภิรมย์ อำเภอบางเลน (บางปลา) จังหวัดนครปฐม (นครชัยศรี) พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยกรณีผิดนัดในอัตราร้อยละ 21 หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จำกัด จะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยเงินกู้จากผู้กู้ได้ในอัตราร้อยละ 21ต่อปี ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติในการกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากประชาชน และการกำหนดอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่บริษัทเงินทุนอาจจ่ายหรือเรียกได้ และตามประกาศของบริษัทโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อขณะทำสัญญากู้เงิน โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี และต่อมาได้ทำสัญญากู้เพิ่ม กำหนดดอกเบี้ยใหม่เป็นอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี แม้จะมีข้อตกลงต่อไปว่าในกรณีที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ถูกต้อง จำเลยยอมให้โจทก์เรียกให้ชำระหนี้ทั้งหมดและคิดดอกเบี้ยในเงินต้นที่ค้างชำระในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้เดิมจึงเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มีสิทธิคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 21 ต่อปี ตามสัญญาจำนองเห็นว่า หนี้จำนองเป็นเพียงหนี้อุปกรณ์ซึ่งจะต้องมีหนี้ประธานเสียก่อน การบังคับจำนองจึงจะกระทำได้ เมื่อหนี้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นหนี้ประธานกำหนดอัตราดอกเบี้ยเท่าใด หนี้จำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์จึงคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงเท่าดอกเบี้ยที่โจทก์คิดไว้จากหนี้ตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธาน ซึ่งตามสัญญากู้เงินเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2536 จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์เพิ่มอีก 1,500,000 บาท เมื่อรวมเงินต้นที่ค้างตามสัญญากู้เงินฉบับก่อน จำเลยเป็นหนี้โจทก์รวม 3,854,874.22 บาท และในสัญญากู้เงินเพิ่มเติมครั้งที่ 1ระบุว่าจำเลยยอมชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี จึงเป็นข้อตกลงตามเจตนาของคู่สัญญาอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจึงมิใช่เบี้ยปรับ แม้จำเลยผิดสัญญาโจทก์ยังคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง แต่ที่ศาลชั้นต้นลดเบี้ยปรับจากอัตราร้อยละ 21ต่อปี ลงโดยกำหนดให้โจทก์ได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่งน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยก่อนที่จำเลยผิดนัดมีผลเป็นการงดเบี้ยปรับโดยสิ้นเชิงซึ่งไม่ถูกต้อง แต่ปัญหาที่ว่าโจทก์ควรได้รับเบี้ยปรับเป็นจำนวนเท่าใดจึงจะเหมาะสมแก่ทางได้เสียของโจทก์อันชอบด้วยกฎหมายเป็นปัญหาข้อเท็จจริงมิใช่ข้อกฎหมายที่ขึ้นมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาโดยตรง อีกทั้งการพิจารณาถึงสิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาปัญหาดังกล่าวต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 และมาตรา 248 ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจกำหนดเบี้ยปรับเสียใหม่ให้สอดคล้องกับกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243(1)(2) ประกอบมาตรา 247 ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาเท่ากับจำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง ศาลควรพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้โจทก์เต็มตามฟ้องนั้น เห็นว่า การที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาหาใช่เหตุที่ศาลจะพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เต็มตามที่โจทก์ขอมาในฟ้องไม่ โจทก์ยังคงมีหน้าที่นำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานให้ศาลเห็นว่าโจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้ดังอ้าง ทั้งศาลชอบจะพิพากษาให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ตามจำนวนหนี้ที่มีอยู่จริงและโจทก์มีสิทธิได้รับเท่านั้น อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 14มกราคม 2541 เป็นต้นไป ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีใหม่เกี่ยวกับดอกเบี้ยดังกล่าวนอกจากนี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share