คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9375/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 6โดยจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ถูกต้องสัญญาให้ที่ดินโจทก์จึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท แม้โฉนดที่ดินพิพาทที่โจทก์ได้รับมาจากพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 7จะเป็นโฉนดที่ดินปลอมแต่เมื่อโฉนดที่ดินฉบับหลวงระบุว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ดังนั้นกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมเป็นของโจทก์ตามกฎหมาย การที่บุคคลอื่นซึ่งไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทปลอมเป็นโจทก์ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แม้จะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ตาม จำเลยที่ 1ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ดังนั้นแม้จำเลยที่ 4และที่ 5 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 1 โดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งได้ชื่อในสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลยที่ 4และที่ 5 แล้วก็ตามจำเลยที่ 4 และที่ 5 ก็มิได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเพราะผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่โจทก์ใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 นั้นไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความ จำเลยที่ 4 และที่ 5 ฎีกาว่าได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382แต่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ไม่ได้ให้การสู้คดีไว้ในศาลชั้นต้นแม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินจำเลยที่ 7ทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1โดยประมาทเลินเล่อและได้กระทำไปเนื่องจากการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ดังนั้นจำเลยที่ 7จึงต้องรับผิดต่อโจทก์แม้ว่ามูลละเมิดจะขาดอายุความแล้วโจทก์ก็มีสิทธิขอให้จำเลยที่ 7 ดำเนินการแก้ไขโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทให้ถูกต้องเพื่อแสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ซึ่งเป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกทรัพย์คืนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า ก่อนที่จำเลยที่ 6 จะได้จดทะเบียนก่อตั้งสมาคม นายศักดิ์ ไทยวัฒน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมที่ดินในขณะนั้น ได้จัดตั้งคณะบุคคลขึ้นเป็นผู้เริ่มก่อการใช้ชื่อว่า “โครงการสโมสรกรุงเทพฯ กรีฑา” มีวัตถุประสงค์ร่วมกันตั้งสโมสร สนามกอล์ฟ และกีฬาอื่น ๆ สำหรับผู้เป็นสมาชิกโดยเฉพาะ ผู้เข้าเป็นสมาชิกจะต้องเสียเงินค่าหุ้นหุ้นละ 40,000 บาทและจะได้รับที่ดินเป็นการตอบแทนหุ้นละ 1 ไร่ โจทก์ได้เข้าหุ้นเป็นสมาชิก 3 หุ้น นายศักดิ์ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2เป็นผู้ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 2652 แล้วโอนให้แก่สมาชิก โจทก์จึงได้รับการยกให้ที่ดินรวม 3 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 73784, 73785 และ 73786 โดยมีจำเลยที่ 3เป็นเจ้าพนักงานที่ดินผู้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม จำเลยที่ 2และที่ 3 ได้ร่วมกับผู้มีชื่อสมคบกันทำปลอมขึ้นทั้งฉบับซึ่งหนังสือสัญญาให้ที่ดินมีโฉนดรวม 3 แปลง ฉบับสำหรับสำนักงานที่ดินพระนครโดยระบุอายุในช่องอายุโจทก์ปลอม จำเลยที่ 2ลงลายมือชื่อปลอมในช่อง “ผู้ให้” จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อปลอมและประทับตราปลอมในช่อง “เจ้าพนักงานที่ดิน” และผู้มีชื่อลงลายมือชื่อของโจทก์ปลอมในช่อง “ผู้รับให้” แล้วนำไปใส่ไว้ในสารบบจดทะเบียนแทนฉบับที่แท้จริง หลังจากนั้นผู้มีชื่อได้แสดงตนเป็นตัวโจทก์นำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนปลอมสำเนาทะเบียนบ้านปลอม หนังสือยินยอมคู่สมรสปลอม และลงลายมือชื่อปลอม โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 73784 และ 73785ของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าผู้มีชื่อนั้นไม่ใช่ตัวโจทก์ มีนายมะน้อม บุญกระโทกเจ้าพนักงานที่ดินของจำเลยที่ 7 เป็นผู้ดำเนินการทำหนังสือสัญญาขายที่ดินและจดทะเบียนให้ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1ได้นำที่ดินทั้งสองแปลงไปจำนองไว้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัดต่อมาจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและโอนขายที่ดินทั้งสองแปลงนี้ให้แก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 โจทก์ได้นำโฉนดที่ดินเลขที่ 73784 และ 73785 ไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดิน จึงทราบจากเจ้าพนักงานที่ดินว่าโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับดังกล่าวที่โจทก์เก็บไว้เป็นโฉนดที่ดินปลอมและปัจจุบันในสารบัญจดทะเบียนของโฉนดที่ดินฉบับหลวงทั้งสองฉบับได้มีการจดทะเบียนโอนขายต่อไปยังจำเลยที่ 4 และที่ 5 แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 3และผู้มีชื่อเป็นการละเมิดต่อโจทก์ นิติกรรมการโอนขายที่ดินระหว่างผู้มีชื่อกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4และที่ 5 จึงตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 4 และที่ 5 ไม่ได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนที่ดินทั้งสองแปลงจากจำเลยที่ 4 และที่ 5 ซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ได้ จำเลยที่ 6ในฐานะนายจ้างตัวการได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างตัวแทนดำเนินการแบ่งแยกที่ดินโอนให้แก่โจทก์ จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 2 กระทำขึ้นด้วยนอกจากนี้จำเลยที่ 6 ยังต้องมีหน้าที่ดูแลคุ้มครองสิทธิของสมาชิกรวมทั้งการบริการและดูแลที่ดินของสมาชิก แต่จำเลยที่ 6ละเลยหน้าที่ไม่แจ้งให้โจทก์ทราบหรือสอบถามโจทก์ถึงการจำหน่ายจ่ายโอนไปซึ่งที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 6 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์อีกฐานะหนึ่งด้วย การที่นายมะน้อมเจ้าพนักงานที่ดินของจำเลยที่ 7ดำเนินการทำหนังสือสัญญาขายที่ดินและจดทะเบียนโอนขายที่ดินระหว่างผู้มีชื่อกับจำเลยที่ 1 ทั้ง ๆ ที่ผู้มีชื่อได้แสดงตนปลอมตัวเป็นโจทก์และอ้างเอกสารปลอมเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวัง เป็นการละเมิดต่อโจทก์ และการที่จำเลยที่ 3 กระทำละเมิดต่อโจทก์ดังกล่าวมาแล้ว จำเลยที่ 7ในฐานะผู้ปกครองบังคับบัญชาและรับผิดชอบในการปฏิบัติงานของนายมะน้อมและจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดในความเสียหายที่นายมะน้อมและจำเลยที่ 3 ได้ก่อขึ้นต่อโจทก์ด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันและแทนกันแก้ไขเพิกถอนสารบัญการจดทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ 73784 และ 73785 ตำบลสวนหลวง (คลองประเวศฝั่งเหนือ)อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร ให้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ดังเดิม และให้จำเลยที่ 7 ดำเนินการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 73784และ 73785 ดังกล่าวใหม่ให้ถูกต้อง หากจำเลยทั้งเจ็ดไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา และหากไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ไม่ว่ากรณีใด ๆ ให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันและแทนกันชดใช้ราคาค่าที่ดินให้โจทก์เป็นเงิน 28,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยปลอมเอกสารใด ๆสัญญาให้ที่ดินและโฉนดที่ดินที่โจทก์อ้างมาท้ายฟ้องไม่ใช่เอกสารฉบับที่จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมโอนให้ที่ดินแก่โจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อ้างว่ามีการกระทำละเมิด ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องไม่ตรงตามความจริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 7 ให้การว่า จำเลยที่ 3 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 และผู้มีชื่อปลอมหนังสือสัญญาให้ที่ดินมีโฉนดรวม 3 แปลงตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 จำเลยที่ 3 จดทะเบียนการยกให้ที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ไปตามหน้าที่โดยลงลายมือชื่อและประทับตราที่แท้จริงในหนังสือสัญญาให้ที่ดินมีโฉนดรวม 3 แปลงเอกสารดังกล่าวจึงมิใช่เอกสารปลอมทั้งฉบับ และจำเลยที่ 3มิได้กระทำการหรือร่วมกับผู้อื่นกระทำการปลอมในช่องอายุและช่องลายมือชื่อผู้รับให้ในหนังสือสัญญาให้ที่ดินมีโฉนดรวม 3 แปลง เมื่อจดทะเบียนเสร็จแล้ว เจ้าพนักงานที่ดินของจำเลยที่ 7 ได้มอบสัญญาให้ที่ดินให้โจทก์ไป 1 ฉบับ ส่วนอีก3 ฉบับ แยกเก็บไว้ในสารบบจดทะเบียนเป็นรายโฉนด หลังจากนั้นจำเลยที่ 3 ได้ย้ายไปรับรายการที่อื่น มิได้เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนที่ดินของสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนงอีกเลย ส่วนการจดทะเบียนโอนขายที่ดินระหว่างผู้ที่อ้างตัวเป็นโจทก์กับจำเลยที่ 1 ก่อนที่นายมะน้อม บุญกระโทกจะจดทะเบียนให้เจ้าพนักงานที่ดินของจำเลยที่ 7 ได้ทำการสอบสวนและตรวจสอบหลักฐานต่าง ๆ ครบถ้วนถูกต้องตามระเบียบของทางราชการแล้ว เห็นว่า ผู้ขายเป็นโจทก์จึงรับดำเนินการจดทะเบียนให้โดยไม่ได้ประมาทเลินเล่อ เมื่อจำเลยที่ 3 มิได้ปลอมหนังสือสัญญาให้ที่ดิน และนายมะน้อมมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 7 ในฐานะนายจ้างจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์หากฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 กระทำการปลอมหนังสือสัญญาให้ที่ดินจำเลยที่ 7 ก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เพราะเป็นการกระทำส่วนตัวของจำเลยที่ 3 โจทก์ไม่เสียหาย เนื่องจากโจทก์ได้รับที่ดินมาโดยการให้มิได้เสียค่าตอบแทน อย่างไรก็ตามค่าเสียหายไม่ควรเกิน 1,200,000 บาท ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะพ้นกำหนด10 ปี นับแต่วันทำละเมิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้การว่า โจทก์ได้ที่ดินโฉนดเลขที่ 73784 และ 73785 มาโดยไม่ชอบ เพราะเป็นโฉนดที่ดินปลอม ไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ ตามกฎหมาย และจะยกขึ้นยันจำเลยที่ 4 และที่ 5 ซึ่งได้ที่ดินดังกล่าวมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วไม่ได้โจทก์นำคดีมาฟ้องเกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 6 ให้การว่า จำเลยที่ 6 ไม่ต้องรับผิดตามฟ้องต่อโจทก์ เพราะจำเลยที่ 6 ได้แบ่งแยกที่ดินและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินรวม 3 แปลงให้แก่โจทก์เรียบร้อยแล้วตามสัญญาการเข้าเป็นสมาชิก จำเลยที่ 6 ไม่มีวัตถุประสงค์ในการดูแลคุ้มครองสิทธิของสมาชิกและไม่มีหน้าที่ใด ๆ ในการดูแลรักษาที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำละเมิด ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเป็นราคาที่ดินไม่ควรเกิน 4,800,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดฟังคำพิพากษาโจทก์แถลงว่าจำเลยที่ 1 ถูกศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ ศาลชั้นต้นเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกศาลมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1ให้เพิกถอนคำสั่งรับฟ้องจำเลยที่ 1 แล้วมีคำสั่งไม่รับฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 ร่วมกันแก้ไขเพิกถอนสารบัญการจดทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ 73784 และ73785 ตำบลสวนหลวง (คลองประเวศฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนงจังหวัดพระนคร ให้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ดังเดิมหากจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 7
จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 6 และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ถูกต้องตามหนังสือสัญญาให้ที่ดินเอกสารหมาย จ.5 แม้โฉนดที่ดินฉบับเจ้าของที่ดินตามภาพถ่ายโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ที่โจทก์รับมาจากเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 7 เป็นโฉนดที่ดินปลอม แต่โฉนดที่ดินฉบับหลวงตามภาพถ่ายโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.15 และ จ.16 ก็ระบุไว้ชัดแจ้งว่า โจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเช่นนี้ กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงย่อมเป็นของโจทก์ตามกฎหมาย การที่มีบุคคลอื่นซึ่งไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงอ้างว่าเป็นตัวโจทก์โดยใช้บัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านที่ระบุว่าเป็นของโจทก์ปลอม กับหนังสือให้ความยินยอมที่ระบุว่าเป็นของภริยาโจทก์ปลอมไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยที่ 1แม้จะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ตามแต่เมื่อบุคคลดังกล่าวไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท จึงไม่มีสิทธิที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลอื่นได้ จำเลยที่ 1ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยที่ 1ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ก็ย่อมไม่มีสิทธิใด ๆ ในการที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลอื่นเช่นเดียวกันดังนั้นแม้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 1 โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งได้แก้ชื่อในสารบัญจดทะเบียนของโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นชื่อของจำเลยที่ 4และที่ 5 ก็ตาม จำเลยที่ 4 และที่ 5 ก็หาได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไม่ เพราะเมื่อผู้โอนไม่มีสิทธิที่จะโอนให้แก่ผู้รับโอน ผู้รับโอนจะได้สิทธิซึ่งไม่มีอยู่ไม่ได้ฎีกาจำเลยที่ 4 และที่ 5 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ข้อที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยมูลละเมิดและเรียกทรัพย์คืน จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/9 และ 193/30เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเกิน 10 ปี จึงขาดอายุความนั้น ในเรื่องมูลละเมิดศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า คดีโจทก์ขาดอายุความจึงไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก แต่ในเรื่องเรียกทรัพย์คืนในคดีนี้เป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ โจทก์จึงถูกโต้แย้งสิทธิอยู่ตลอดเวลาที่ทรัพย์สินของตนยังอยู่ในความครอบครองของบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ได้เสมอไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความที่จำเลยที่ 4 และ 5 อ้างว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1336 บัญญัติว่า “ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย”การเรียกทรัพย์คืนจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 193/9และ 193/10 นั้น เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 1336 ดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่กำหนดถึงสิทธิของเจ้าของทรัพย์สินว่ามีสิทธิอย่างใดบ้างที่กฎหมายให้ความคุ้มครองอันเป็นอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นทรัพย์สิทธิอย่างหนึ่ง หาใช่การบังคับตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหน้าที่จะต้องใช้ภายในกำหนดอายุความดังที่บัญญัติไว้ในบรรพ 1 ลักษณะ 6 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของเจ้าของทรัพย์สินจึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 193/9 และ 193/30 ดังที่จำเลยที่ 4และที่ 5 อ้าง ฎีกาจำเลยที่ 4 และที่ 5 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
ข้อที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ฎีกาว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 นั้น จำเลยที่ 4 และที่ 5ไม่ได้ให้การสู้คดีไว้ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยปัญหานี้ให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่จำเลยที่ 7 ฎีกาว่า นายมะน้อม บุญกระโทกเจ้าพนักงานที่ดินผู้จดทะเบียนสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการจดทะเบียนไปโดยมิได้ประมาทเลินเล่อ จึงมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ทั้งมูลคดีในเรื่องละเมิดขาดอายุความแล้วจำเลยที่ 7 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า การที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 7มอบโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ซึ่งเป็นแบบพิมพ์โฉนดที่ดินของจำเลยที่ 7 ทำหนังสือสัญญาให้ที่ดินโดยฉบับที่เก็บไว้ที่สำนักงานที่ดินซึ่งมี 2 ฉบับ ระบุอายุโจทก์ไม่เหมือนกันและลายมือชื่อผู้รับให้ในฉบับที่ระบุอายุโจทก์ไม่ถูกต้องก็ไม่ใช่ลายมือชื่อของโจทก์ เมื่อมีผู้แอบอ้างเป็นตัวโจทก์ขอจดทะเบียนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 7 ก็นำหนังสือสัญญาให้ที่ดินเอกสารหมาย ล.12มาใช้เป็นหลักฐานในการตรวจสอบเพื่อจะอ้างได้ว่าอายุผู้ขายสอดคล้องกับบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านปลอมและลายมือชื่อในช่องผู้รับให้ก็เหมือนกับลายมือชื่อของผู้ยื่นคำขอทั้ง ๆ ที่หนังสือสัญญาให้ที่ดินเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 7มีอยู่ 2 ฉบับ คือฉบับที่ถูกต้องตามเอกสารหมาย ล.11 และฉบับที่ไม่ถูกต้องตามเอกสารหมาย ล.12 แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 7อ้างว่าตรวจดูกับเอกสารหมาย ล.12 แล้ว โดยไม่ได้คำนึงถึงเอกสารหมาย ล.11 พฤติการณ์เช่นนี้แสดงว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 7 ได้ร่วมกันวางแผนมาตั้งแต่ต้นโดยออกโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 (ล.21 และ ล.22) ให้แก่โจทก์ส่วนโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.13 และ ล.14 เชื่อได้ว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 7 เก็บไว้ มิฉะนั้นการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ย่อมไม่อาจกระทำได้ และทำหนังสือสัญญาให้ที่ดินโดยระบุอายุโจทก์ไม่ตรงต่อความจริงกับปลอมลายมือชื่อโจทก์ในฐานะผู้รับให้ตามเอกสารหมาย ล.12 เก็บไว้ในสารบบที่ดินพิพาทไว้ด้วย ต่อมาก็นำบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน และหนังสือให้ความยินยอมของภริยาโจทก์ปลอมมาจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยอ้างเอาเอกสารหมาย ล.12 เป็นหลักฐานในการตรวจสอบการดำเนินการดังกล่าว หากเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 7ไม่ได้ร่วมกระทำด้วยบุคคลภายนอกโดยลำพังไม่มีทางที่จะกระทำได้เมื่อการกระทำของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 7 ได้กระทำไปเนื่องจากการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 7 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์และแม้ว่ามูลละเมิดจะขาดอายุความแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิขอให้จำเลยที่ 7 ดำเนินการแก้ไขโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทให้ถูกต้องเพื่อแสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ซึ่งเป็นการเรียกทรัพย์คืนได้ ฎีกาจำเลยที่ 7 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share