แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อไม่ปรากฏว่าข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน ของนายจ้างเป็นอย่างไร การจะปรับว่าการกระทำของลูกจ้าง เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายอันเป็นกรณีร้ายแรงย่อมปรับไม่ได้ ดังนั้นการที่ลูกจ้างซึ่งเป็นพนักงานขับรถให้พนักงานยกของเฝ้ารถไว้แล้วโทรศัพท์บอกนายจ้างว่าตนจะไม่นำรถกลับเพราะทางราชการห้ามมิให้รถบรรทุกวิ่งในช่วงเวลานั้น เป็นเหตุผลอันสมควรสำหรับลูกจ้างจะถือว่าการละทิ้งรถ ในลักษณะนี้ เป็นกรณีที่ร้ายแรงยังไม่ได้
การที่จะพิจารณาว่าการกระทำใดของลูกจ้างเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายอันเป็นกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่นั้น จักต้องพิจารณาจากการกระทำนั้น โดยเฉพาะ จะนำเอาความผิดครั้งก่อนๆมาพิจารณาประกอบแล้วถือว่าการกระทำครั้งหลังเป็นกรณีที่ร้ายแรงหาชอบไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำเป็นพนักงานขับรถส่งของ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด ไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ไม่จ่ายค่าชดเชยเป็นการบอกเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหาย กับให้ชำระดอกเบี้ยสำหรับเงินต้นสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ขับรถส่งของแล้วไม่ยกของลงจากรถส่งให้แก่ผู้รับตามหน้าที่กับละทิ้งหน้าที่ คือ โจทก์ขับรถส่งของเสร็จแล้วไม่นำรถกลับโรงงาน กลับละทิ้งรถไว้ จำเลยต้องนำรถกลับเอง เป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับอย่างร้ายแรง การเลิกจ้างของจำเลยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์ขับรถส่งของตามหน้าที่แล้วย่อมมีหน้าที่ขับรถกลับด้วย แม้ช่วงเวลา ๑๖ ถึง ๑๘ นาฬิกา ทางราชการห้ามรถบรรทุกวิ่งก็หาให้โจทก์พ้นหน้าที่ต้องขับรถกลับไม่ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการขัดคำสั่ง ถือได้ว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ให้ถูกต้องและสุจริต การเลิกจ้างของจำเลยจึงมีสาเหตุอันสมควรมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมอันจำเลยจะต้องรับผิดต่อความเสียหาย และจำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า แต่การที่โจทก์จอดรถทิ้งไว้โดยมีพนักงานยกของเฝ้าไว้และโจทก์ยังได้แจ้งทางโทรศัพท์ให้จำเลยส่งคนไปขับรถกลับได้โดยเรียบร้อย เป็นการขัดคำสั่งมิใช่เป็นกรณีที่ร้ายแรง โจทก์ไม่เคยถูกตักเตือนในเรื่องนี้มาก่อน เมื่อจำเลยเลิกจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีนี้คู่ความมิได้ส่งข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยต่อศาลเพื่อให้ศาลพิเคราะห์ว่าการกระทำของโจทก์นั้นเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายอันเป็นกรณีที่ร้ายแรงตามที่จำเลยต่อสู้หรือไม่ ดังนั้นการจะปรับว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายอันเป็นกรณีที่ร้ายแรงย่อมปรับมิได้ การที่โจทก์ให้พนักงานยกของเฝ้ารถไว้แล้วแจ้งทางโทรศัพท์ให้จำเลยทราบว่าตนไม่สามารถนำรถกลับได้ เพราะทางราชการห้ามมิให้รถบรรทุกวิ่งในช่วงเวลา๑๖ นาฬิกา ถึง ๑๘ นาฬิกา นั้น เป็นเหตุผลอันสมควรสำหรับโจทก์จึงจะถือว่าการทิ้งรถในลักษณะนี้เป็นกรณีที่ร้ายแรงยังไม่ได้
การที่พิจารณาว่าการกระทำใดของลูกจ้างเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายอันเป็นกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่นั้น จักต้องพิจารณาจากการกระทำนั้นโดยเฉพาะ จะนำเอาความผิดครั้งก่อน ๆ มาพิจารณาประกอบแล้วถือว่าการกระทำครั้งหลังเป็นกรณีที่ร้ายแรงหาชอบไม่ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗(๓)ได้เปิดโอกาสให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยในกรณีที่ลูกจ้างกระทำความผิดไม่ร้ายแรงอยู่แล้ว ทั้งนี้โดยให้ตักเตือนเป็นหนังสือก่อนสำหรับความผิดนั้น เมื่อประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ เปิดโอกาสให้จำเลยดังกล่าว จำเลยจะนำเอาความผิดครั้งก่อนมาประกอบการพิจารณาสำหรับความผิดครั้งหลังให้เป็นกรณีที่ร้ายแรงย่อมไม่ได้
พิพากษายืน