คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2790/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดครั้งก่อนเป็นเรื่องโจทก์ปล่อยนมทิ้งที่พื้น โรงงาน ส่วนความผิดครั้งหลังเป็นเรื่องโจทก์หลงลืมใส่ ไขมันมะพร้าวในการผสมนม จึงเป็นความผิดคนละเหตุ แม้ ความผิดครั้งก่อนจำเลยจะมีหนังสือเตือนโจทก์แล้วก็ตามกรณีก็ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ในความผิดครั้งหลังได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย กรณีที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องโดยหลงลืมใส่ ไขมันมะพร้าวในการผสมนมนั้น หาเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตไม่ จึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ทำหน้าที่เป็นพนักงานควบคุมผสมนม จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปรากฏความผิด ไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย ขอศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ปฏิบัติงานด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง กล่าวคือ โจทก์ไม่ใส่ไขมันมะพร้าวในการผสมนม ทำให้นมมีคุณภาพไม่ตรงตามมาตรฐาน จำเลยต้องเสียเวลาในการผลิตโดยต้องนำนมมาผสมใหม่ให้ได้มาตรฐาน และโจทก์เคยกระทำความผิดมาก่อนซึ่งจำเลยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแต่ไม่ต้องจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

โจทก์จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยว่า ความผิดของโจทก์ครั้งก่อนเป็นเรื่องที่โจทก์ปล่อยนมทิ้งที่พื้นที่โรงงาน ส่วนความผิดครั้งเป็นเรื่องที่โจทก์หลงลืมใส่ไขมันมะพร้าวในการผสมนม จึงเป็นความผิดคนละเหตุแม้ความผิดครั้งก่อนจำเลยจะมีหนังสือตักเตือนโจทก์แล้วก็ตาม กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(3) ซึ่งจะทำให้จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

และวินิจฉัยอุทธรณ์โจทก์ว่า แม้จำเลยจะมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ แต่การเลิกจ้างจำเลยต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582กล่าวคือต้องบอกกล่าวล่วงหน้า เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 583 ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดีหรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดีกระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยดูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้” กรณีที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องโดยหลงลืมใส่ไขมันมะพร้าวในการผสมนมนั้น ไม่ต้องด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดตามบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนเลิกจ้าง เมื่อมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าก็ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าความผิดของโจทก์ต้องด้วยมาตรา 583 ที่บัญญัติว่า “ทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต” นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะความในข้อนี้หมายถึงลูกจ้างทำโดยไม่สุจริตแต่คดีนี้ไม่ปรากฏว่าโจทก์กระทำโดยไม่สุจริต กรณีจึงไม่ต้องด้วยเหตุดังกล่าว

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share