แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำฟ้องฎีกาของจำเลยมี ส. ทนายความ เป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ฎีกา ผู้เรียงและผู้พิมพ์ โดย ส. มิได้ยื่นใบแต่งทนายความไว้แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยโดยมิได้มีคำสั่งให้ ส. ยื่นใบแต่งทนายความเข้ามาให้ถูกต้องเสียก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 232 และมาตรา 18กรณีเช่นนี้ต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา เมื่อปรากฏว่าจำเลยทิ้งฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174 จึงเป็นการล่วงเลยเวลา ที่ศาลฎีกาจะสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาดังกล่าว ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน 350,000 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์ 144,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 3,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาแต่ไม่เกิน1 ปี กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์แต่จำเลยไม่ชำระโจทก์จึงดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 7ตุลาคม 2540 และ 9 ธันวาคม 2540
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ ลงวันที่ 11 ธันวาคม2540 อ้างเหตุเพิ่งทราบฟ้องโจทก์เมื่อมีการยึดทรัพย์ เนื่องจากจำเลยที่ 1ไม่ได้อาศัยอยู่บ้านเลขที่ตามฟ้อง เพียงแต่มีชื่อเป็นเจ้าของบ้านแทนญาติและพักอยู่ที่อื่นตลอดมาตั้งแต่ปี 2536 หากจำเลยที่ 1 ต่อสู้คดี จำเลยที่ 1มีโอกาสชนะคดีโจทก์
โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องเป็นภูมิลำเนาที่จำเลยที่ 1 ให้ไว้แก่โจทก์ในขณะทำสัญญาเช่าซื้อซึ่งตรงตามสำเนาทะเบียนบ้าน การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลจึงชอบแล้วและไม่ผิดระเบียบไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1 จะขอให้พิจารณาใหม่
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ยกคำร้องจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 247 ให้นำบทบัญญัติในลักษณะ 1 ว่าด้วยการอุทธรณ์มาใช้บังคับกับการฎีกาโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 232 บัญญัติว่า “เมื่อได้รับอุทธรณ์แล้ว ให้ศาลชั้นต้นตรวจอุทธรณ์และมีคำสั่งให้ส่งหรือปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์นั้นไปยังศาลอุทธรณ์ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ถ้าศาลปฏิเสธไม่ส่ง ให้ศาลแสดงเหตุที่ไม่ส่งนั้นไว้ในคำสั่งทุกเรื่องไป”และมาตรา 18 บัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่าคำคู่ความที่ได้ยื่นไว้ดังกล่าวแล้วนั้น อ่านไม่ออก หรืออ่านไม่เข้าใจ หรือเขียนฟุ่มเฟือยเกินไป หรือไม่มีรายการ ไม่มีลายมือชื่อ ไม่แนบเอกสารต่าง ๆ ตามที่กฎหมายต้องการ หรือมิได้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องครบถ้วนศาลจะมีคำสั่งให้คืนคำคู่ความนั้นไปทำมาใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติมหรือชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องครบถ้วนภายในระยะเวลาและกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ตลอดจนเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามที่ศาลเห็นสมควรก็ได้ ถ้ามิได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลในระยะเวลาหรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ก็ให้มีคำสั่งไม่รับคำคู่ความนั้น” เมื่อปรากฏว่าคำฟ้องฎีกาของจำเลยที่ 1 มีนายสุวรรณ รัตนเมือง เป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ฎีกาผู้เรียงและผู้พิมพ์ โดยที่นายสุวรรณ รัตนเมือง มิได้ยื่นใบแต่งทนายความไว้ด้วย แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1โดยมิได้มีคำสั่งให้นายสุวรรณยื่นใบแต่งทนายความเข้ามาให้ถูกต้องเสียก่อน ทั้งที่เป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นต้องตรวจฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว กรณีเช่นนี้ต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มิได้นำส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้แก่โจทก์ภายในกำหนด 7 วัน ตามคำสั่งศาลชั้นต้นศาลชั้นต้นจึงส่งสำนวนมาศาลฎีกา การที่จำเลยที่ 1 ไม่นำส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์ภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นสั่ง โดยนายสุวรรณในฐานะทนายจำเลยที่ 1 ได้ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นโดยชอบแล้วถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ทิ้งฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 174 จึงเป็นการล่วงเลยเวลาที่ควรจะปฏิบัติ ไม่มีเหตุสมควรที่ศาลฎีกาจะสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาดังกล่าว ฎีกาจำเลยที่ 1 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 1 ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดในชั้นฎีกาแก่จำเลยที่ 1