คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2785/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยครอบครองผงยาที่ใส่ซองบุหรี่นำมาจากที่เกิดเหตุโดยไม่ได้รับอนุญาต และยาจำนวนนี้เจ้าพนักงานผู้ตรวจพิสูจน์นำไปตรวจพิสูจน์รวมกับของกลางอีกจำนวนหนึ่ง แต่เมื่อแยกธาตุแล้วไม่สามารถทราบได้โดยแน่ชัดว่ามีสารบริสุทธิ์ของอีเฟดรีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 และมอร์ฟีนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โจทก์ในประเภท 2 อยู่เป็นจำนวนเท่าใด จึงต้องฟังว่าอีเฟดรีนและมอร์ฟีนทีจำเลยครอบครองนั้นไม่สามารถคำนวณปริมาณที่แน่นอนได้ แม้เจ้าพนักงานตำรวจค้นพบยา 3 เม็ดซึ่งเป็นเมทแอมเฟตามีน และผงยาในซองบุหรี่ซึ่งมีอีเฟดรีนและมอร์ฟีนจากจำเลย แต่เมื่อจำเลยไม่ทราบว่าผงยาของกลางมีมอร์ฟีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ผสมอยู่ด้วยดังนี้ จะถือว่าจำเลยรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานมีมอร์ฟีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมายไม่ได้ เมื่อจำเลยขาดเจตนามีมอร์ฟีนดังกล่าวไว้ในครอบครองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 วรรคสาม การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานมีมอร์ฟีนอันเป็นยาเสพติดในประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมาย คงฟังได้เพียงว่าจำเลยมีอีเฟดรีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมายเท่านั้น จำเลยที่ 3 เพิ่งนำผงยาสีน้ำตาลซึ่งมีอีเฟดรีนรวมอยู่ด้วยบรรจุอยู่ในซองบุหรี่มาจากบริเวณบ่อเลี้ยงที่เกิดเหตุ อันเป็นผงยาคนละจำนวนกับเมทแอมเฟตามีน 3 เม็ดที่จำเลยมีไว้ในครอบครองอยู่แล้ว การกระทำของจำเลยที่มีอีเฟดรีนไว้ในครอบครองเป็นการกระทำที่มีเจตนาต่างกันกับที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง ความผิดดังกล่าวจึงเป็นความผิด 2 กรรมต่างกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 2 มีนาคม 2537 เวลากลางวันต่อเนื่องจนถึงวันที่ 4 มีนาคม 2537 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือจำเลยทั้งสี่ร่วมกันมีอีเฟดรีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2น้ำหนักรวม 25,125 กิโลกรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์น้ำหนัก3.518 กิโลกรัม ไว้ในครอบครองของจำเลยทั้งสี่โดยไม่ได้รับอนุญาตจำเลยทั้งสี่มีฝิ่น (มอร์ฟีน) อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2น้ำหนักรวม 25.125 กิโลกรัม คำนวณเป็นมอร์ฟีนบริสุทธิ์น้ำหนัก20.1 กรัม ไว้ในครอบครอง ซึ่งไม่ใช่กรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะอนุญาตเป็นหนังสือ จำเลยทั้งสี่ร่วมกันมีเฮโรอีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรงในประเภท 1 จำนวน 10 หลอด น้ำหนักสุทธิรวม14.38 กรัม ไว้ในครอบครองซึ่งไม่ใช่กรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะอนุญาตเป็นหนังสือ จำเลยทั้งสี่ร่วมกันผลิตวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2โดยใช้อีเฟดรีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามปริมาณข้างต้นผสมกับฝิ่นซึ่งตรวจพบอัลคาลอยด์ของฝิ่นผสมอยู่ โดยตรวจพบมอร์ฟีนตามปริมาณและน้ำหนักดังกล่าวข้างต้นและผสมกับวัตถุเคมีอีกหลายชนิดจนเป็นผงสีน้ำตาล น้ำหนักสุทธิรวม 25.125 กิโลกรัมโดยจำเลยทั้งสี่ร่วมกันผลิตและมีไว้เพื่อขายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ดังกล่าว อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และเมื่อวันที่4 มีนาคม 2537 เวลากลางวัน จำเลยที่ 3 มีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวน 3 เม็ด น้ำหนักสุทธิรวม0.19 กรัม ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสี่ได้พร้อมยาเสพติดดังกล่าวข้างต้น ส่วนผสมและอุปกรณ์การผลิตวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 และยึดได้รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ป-4024 ราชบุรี 1 คัน ซึ่งจำเลยทั้งสี่ใช้เป็นยานพาหนะในการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นของกลาง ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพทุกข้อหา จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพว่ามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง แต่ปฏิเสธข้อหาผลิตวัตถุออกฤทธิ์จำเลยที่ 2 และที่ 4 ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 335/2537 ของศาลจังหวัดราชบุรีจำเลยที่ 3 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 93/2537 และหมายเลขดำที่ 635/2537 ของศาลจังหวัดราชบุรี ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 4, 6, 13 ทวิ, 62, 89, 106, 116 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 มาตรา 9, 13, 15 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 51 (พ.ศ. 2531)เรื่อง ระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2531 ข้อ 3(7) และ (38)ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 86 (พ.ศ. 2536)เรื่อง การเปลี่ยนแปลงประเภทวัตถุออกฤทธิ์ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ข้อ 3ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 17, 67, 69, 102พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 มาตรา 4ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2522)เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ลงวันที่ 17 กันยายน 2522 ข้อ 1(1)ข้อ 2(59) และ (100) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91ขอให้ริบของกลางทั้งหมดให้แก่กระทรวงสาธารณสุข ยกเว้นรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ป-4024 ราชบุรี ขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 335/2537 ของศาลจังหวัดราชบุรี และขอให้นับโทษจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 93/2537และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 635/2537 ของศาลจังหวัดราชบุรี
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 4 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 89 และ 62 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 106 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 15 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตร67 มาตรา 17 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 69 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83ความผิดฐานร่วมกันมีอีเฟดรีนจำคุกคนละ 5 ปี ความผิดฐานร่วมกันมีมอร์ฟีน จำคุกคนละ 2 ปี ความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีนจำคุกคนละ 10 ปี ความผิดฐานร่วมกันผลิตวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2จำคุกคนละ 20 ปี เฉพาะจำเลยที่ 3 ยังมีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองอีกฐานหนึ่งจำคุก 1 ปี คำรับสารภาพทุกข้อหาของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวนและคำรับสารภาพเฉพาะข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองของจำเลยที่ 3 ในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้จำเลยที่ 1 ทุกข้อหา ข้อหาละหนึ่งในสามและลดโทษให้จำเลยที่ 3 เฉพาะข้อหาที่รับสารภาพหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 สำหรับจำเลยที่ 1 ความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีน(ที่ถูกอีเฟดรีน) คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน ความผิดฐานร่วมกันมีมอร์ฟีนคงจำคุก 1 ปี 4 เดือน ความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีนคงจำคุก 6 ปี 8 เดือน ความผิดฐานร่วมกันผลิตวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 คงจำคุก 13 ปี 4 เดือน สำหรับจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง คงจำคุก 8 เดือน ส่วนจำเลยที่ 4นั้น แม้จะยื่นคำให้การรับสารภาพ แต่จำเลยที่ 4 นำสืบปฏิเสธต่อสู้คดี คำรับของจำเลยที่ 4 จึงไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาไม่ลดโทษให้ การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 รวม 4 กระทง สำหรับจำเลยที่ 1 ให้จำคุก 23 ปี 20 เดือน จำเลยที่ 2 และที่ 4จำคุกคนละ 37 ปี และให้เรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 3 รวม 5 กระทงเป็นจำคุก 37 ปี 8 เดือน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ริบของกลางทั้งหมดให้แก่กระทรวงสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 116 ยกเว้นรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ป-4024 ราชบุรี ส่วนคำขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ต่อจากคดีอื่นตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์นั้นให้ยกเสีย เนื่องจากไม่ปรากฏว่าคดีดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาแล้ว
โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นับโทษจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขที่ 635/2537 หมายเลขแดงที่ 1314/2537 และคดีหมายเลขดำที่ 93/2537 หมายเลขแดงที่ 1319/2537 ของศาลจังหวัดราชบุรี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2537 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 3 กับพวกอีก 3 คน และยึดของกลางที่ส่งไปตรวจพิสูจน์รวม 13 รายการตามเอกสารหมาย จ.11 โดยเฉพาะรายการที่ 1 และที่ 2 เป็นผงสีน้ำตาลลักษณะหยาบบรรจุในถังพลาสติกจำนวน 2 ถัง และบรรจุในซองบุหรี่สามิต14 จำนวน 1 ซอง ตามลำดับ น้ำหนักสุทธิรวม 25.125 กิโลกรัมตรวจพบอีเฟดรีนไฮโดรคลอไรด์ซึ่งเป็นเกลือของอีเฟดรีนบริสุทธิ์14 เปอร์เซ็นต์ คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์น้ำหนัก 3.518 กิโลกรัมและตรวจพบอัลคาลอยด์ของฝิ่นผสมอยู่โดยตรวจพบมอร์ฟีน0.08 เปอร์เซ็นต์ คำนวณเป็นปริมาณมอร์ฟีนบริสุทธิ์น้ำหนัก 20.1 กรัมรายการที่ 3 เป็นวัตถุกลมแบนคล้ายเม็ดยาสีส้มจำนวน 3 เม็ดน้ำหนักสุทธิ 0.19 กรัม ตรวจพบเมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ซึ่งเป็นเกลือของเมทแอมเฟตามีน รายการที่ 5 เป็นผงสีขาวจำนวน 10 หลอด น้ำหนักสุทธิ 14.38 กรัม ตรวจพบว่าเป็นเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์ซึ่งเป็นเกลือของเฮโรอีน
ตามฎีกาของจำเลยที่ 3 นั้น จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3มีแต่เพียงเมทแอมเฟตามีนจำนวน 3 เม็ด ไว้ในครอบครองซึ่งตามทางนำสืบของโจทก์นางสาวนริณี ศิริวิริยะสมบูรณ์นักวิทยาศาสตร์ระดับ 5 เจ้าพนักงานสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดทำการตรวจพิสูจน์เม็ดยาสีส้มจำนวน 3 เม็ดตามรายการที่ 3 ข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ในเบื้องต้นแล้วปรากฏว่าเม็ดยาดังกล่าวเป็นเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อแรกว่าจำเลยที่ 3 มีผงยาสีน้ำตาลที่ตรวจพบอีเฟดรีนและมอร์ฟีนที่บรรจุไว้ในซองบุหรี่สามิต 14 ตามรายการที่ 2 ของเอกสารหมาย จ.11 ที่เจ้าพนักงานตำรวจอ้างว่ายึดได้จากตัวจำเลยที่ 3 ไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตหรือไม่นั้นตามคำเบิกความของพยานโจทก์เห็นได้ว่าตั้งแต่รถยนต์เป้าหมายออกจากปากซอยเกิดเหตุไปจนนายดาบตำรวจวีระศักดิ์เรียกให้รถยนต์เป้าหมายหยุดเพื่อตรวจค้นไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดขึ้นรถยนต์เป้าหมายระหว่างทาง จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยที่ 3 ออกจากปากซอยที่เกิดเหตุมาพร้อมกับรถยนต์เป้าหมายนอกจากนี้พันตำรวจตรีจรูญ กลิ่นอุทัย พนักงานสอบสวนพยานโจทก์เบิกความว่าชั้นสอบสวนพยานได้บันทึกคำให้การของจำเลยที่ 3 ไว้ อ่านให้จำเลยที่ 3 ฟังแล้ว และให้ลงลายมือชื่อไว้ตามเอกสารหมาย จ.14ซึ่งตามเอกสารหมาย จ.14 มีข้อความระบุว่า เมื่อวันที่ 4 มีนาคม2537 เวลา 15.30 นาฬิกา ขณะที่จำเลยที่ 3 โดยสารรถยนต์กระบะของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับ มีจำเลยที่ 1 นั่งโดยสารมาด้วยหลังจากจำเลยที่ 3 กลับมาจากบริเวณบ่อเลี้ยงกุ้งที่เกิดเหตุมาถึงบริเวณถนนชลประทาน ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอโพธารามจังหวัดราชบุรี ก็มีเจ้าพนักงานตำรวจหลายนายเรียกให้หยุดรถและทำการตรวจค้นตัวจำเลยที่ 3 ปรากฏว่าพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 3 เม็ด บรรจุในถุงพลาสติกใสซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋าคาดเอวของจำเลยที่ 3 และพบผงอีเฟดรีน สีน้ำตาลบรรจุในซองบุหรี่สามิต 14จำนวน 1 ซอง เก็บไว้ในกระเป๋าเสื้อข้างขวาของเสื้อที่จำเลยที่ 3 สวม เจ้าพนักงานตำรวจจึงยึดไว้เป็นของกลาง โดยเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2537 เวลา 12 นาฬิกา จำเลยที่ 3 อยู่ที่บ้านพักมีจำเลยที่ 2 มาพบและบอกว่าจำเลยที่ 1 ให้มารับไปพบเพื่อตกลงเรื่องหนี้สิน จำเลยที่ 3 จึงโดยสารรถยนต์ของจำเลยที่ 2ไปหาจำเลยที่ 1 ที่บริเวณบ่อเลี้ยงกุ้ง ตำบลบ้านไร่ชาวเหนืออำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี พบจำเลยที่ 1 กำลังตากผงยาสีน้ำตาลอยู่ จำเลยที่ 3 สอบถามว่าผงนั้นคืออะไร จำเลยที่ 1บอกว่าเหมือนกับที่จำเลยที่ 3 เคยรับประทาน จำเลยที่ 3จึงหยิบผงยาดังกล่าวใส่ซองบุหรี่สามิต 14 ที่วางอยู่ในบริเวณนั้นแล้วใส่กระเป๋าเสื้อนำติดตัวไปเพื่อเสพซึ่งตามเอกสารหมาย จ.14 นี้มีข้อความว่า อ่านให้ฟังแล้วรับว่าถูกต้อง และจำเลยที่ 3ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญทุกแผ่น ประกอบกับจำเลยที่ 3 เบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่า เอกสารหมาย จ.14 เป็นคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อไว้ทุกแผ่น ขณะลงลายมือชื่อมีข้อความพิมพ์อยู่แล้ว ดังนี้ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าพนักงานสอบสวนข่มขู่หรือบังคับให้จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อจึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.14ด้วยความสมัครใจเมื่อเห็นว่าข้อความในเอกสารหมาย จ.14 ถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว ที่จำเลยที่ 3 เบิกความโต้แย้งว่าเจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้ตรวจค้นพบผงยาอยู่ในซองบุหรี่ในตัวจำเลยที่ 3 แต่อย่างใดนั้น ข้ออ้างของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้นข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ครอบครองผงยาที่ใส่ซองบุหรี่สามิต 14 นำมาจากที่เกิดเหตุโดยไม่ได้รับอนุญาต และยาจำนวนนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เจ้าพนักงานผู้ตรวจพิสูจน์นำไปตรวจพิสูจน์รวมกับจำนวนตามที่รายการที่ 1 ที่ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.11ตามข้อเท็จจริงที่ฟังได้ในเบื้องต้น ดังนั้นผงยาที่จำเลยที่ 3ครอบครองไว้ครึ่งซองบุหรี่สามิต 14 นั้น เมื่อแยกธาตุแล้วไม่สามารถทราบได้โดยแน่ชัดว่ามีสารบริสุทธิ์ของอีเฟดรีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 และมอร์ฟีนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 อยู่เป็นจำนวนเท่าใด จึงต้องฟังว่าอีเฟดรีนและมอร์ฟีนที่จำเลยที่ 3 ครอบครองนั้นไม่สามารถคำนวณปริมาณที่แน่นอนได้อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์ที่ได้ความว่าเจ้าพนักงานตำรวจค้นพบยา 3 เม็ด ซึ่งเป็นเมทแอมเฟตามีนและผงยาในซองบุหรี่สามิต 14 ซึ่งมีอีเฟดรีนและมอร์ฟีนจากจำเลยที่ 3 ซึ่งผงยาดังกล่าวจำเลยที่ 3 พบจำเลยที่ 1 กำลังตากผงยาม้าสีน้ำตาลอยู่ และถามจำเลยที่ 1 ได้ความว่าเป็นผงยาเหมือนกับที่จำเลยที่ 3 เคยรับประทาน จำเลยที่ 3 จึงหยิบผงยาดังกล่าวใส่ซองบุหรี่สามิต 14 นั้น แสดงว่าจำเลยที่ 3 เข้าใจว่าผงยาดังกล่าวเป็นวัตถุออกฤทธิ์ ข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ทราบว่าผงยาดังกล่าวมีมอร์ฟีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ผสมอยู่ด้วย ดังนี้ จะถือว่าจำเลยที่ 3รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานมีมอร์ฟีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมายไม่ได้แม้เจ้าพนักงานตำรวจจะจับจำเลยที่ 3 ได้พร้อมผงยาซึ่งมีมอร์ฟีนดังกล่าวอยู่ด้วย แต่จำเลยที่ 3 ขาดเจตนามีมอร์ฟีนดังกล่าวไว้ในครอบครอง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสามการกระทำของจำเลยที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานมีมอร์ฟีนอันเป็นยาเสพติดในประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมาย คงฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 3 มีอีเฟดรีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมายเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 เอกสารหมาย จ.14 ว่าจำเลยที่ 3 เพิ่งนำผงยาสีน้ำตาลซึ่งมีอีเฟดรีนรวมอยู่ด้วยบรรจุอยู่ในซองบุหรี่สามิต 14 มาจากบริเวณบ่อเลี้ยงกุ้งที่เกิดเหตุอันเป็นผงยาคนละจำนวนกับเมทแอมเฟตามีน 3 เม็ดที่จำเลยที่ 3 มีไว้ในครอบครองอยู่แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 3ที่มีอีเฟดรีนไว้ในครอบครองเป็นการกระทำที่มีเจตนาต่างกันกับที่จำเลยที่ 3 มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองความผิดดังกล่าวจึงเป็นความผิด 2 กรรมต่างกัน
ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4ผลิตวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 โดยมิได้รับอนุญาต มีอีเฟดรีนและมอร์ฟีนตามของกลางรายการที่ 1 ในเอกสารหมาย จ.11 มีเฮโรอีนตามของกลางรายการที่ 4 ในเอกสารหมาย จ.11 ไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตหรือไม่ เห็นว่ายังมีเหตุให้สงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ผลิตวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 โดยมิได้รับอนุญาต มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2มียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 3 ดังนั้น จำเลยที่ 3 คงมีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนและอีเฟดรีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตอันเป็นความผิด 2 กรรมต่างกันเท่านั้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 62 วรรคหนึ่งประกอบด้วยมาตรา 106 วรรคหนึ่ง เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานมีอีเฟดรีนไว้ในครอบครองจำคุก 1 ปี ส่วนฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ รวมเป็นโทษจำคุก1 ปี 8 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก นอกจากนี้ที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share