คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2784/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร บางกรณีอาจเป็นได้ทั้งการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 121 หรือมาตรา 123 และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49 ด้วย โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายที่โจทก์ทำอยู่ถูกยุบอันเป็นความเท็จ เพราะตำแหน่งงานดังกล่าวยังไม่ได้ถูกยุบ แต่จำเลยใช้กลอุบายเลิกจ้างโจทก์โดยโอนกิจการที่โจทก์ทำอยู่ไปให้บริษัท ฮ. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของจำเลยดำเนินกิจการแทน แต่ก็ยังคงใช้พนักงานเดิมและสถานที่เดิมของจำเลยและต่อมาจำเลยกับบริษัท ฮ. ก็รับลูกจ้างใหม่เข้าทำงานในตำแหน่งของโจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานโดยให้โจทก์ได้รับสิทธิและผลประโยชน์ตามเดิมนั้น เห็นได้ว่า เป็นการฟ้องเรื่องเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49 ส่วนที่โจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาหนังสือพิมพ์ บ. และเป็นผู้เข้าร่วมกับสมาชิกคนอื่นในการต่อสู้ขัดขวางการกระทำที่ไม่เป็นธรรมของฝ่ายบริหารจำเลยนั้น ก็เพื่อสนับสนุนคำฟ้องของโจทก์ในเรื่องเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โจทก์มิได้มุ่งประสงค์จะกล่าวหาว่าการเลิกจ้างของจำเลยเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯมาตรา 121 หรือมาตรา 123 แต่อย่างใด ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้ยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ก่อนตามมาตรา 124 โจทก์ก็มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2537 จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเป็นเงินเดือนละ 37,280 บาท ค่าน้ำมันรถเดือนละ 5,000 บาทและค่าคอมมิชชั่นหรือค่าจ้างพิเศษจากยอดขายอีกประมาณเดือนละ 20,000 บาท รวมเป็นค่าจ้างทั้งสิ้นเดือนละไม่ต่ำกว่า 62,280 บาท ระหว่างทำงานโจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ อันเป็นสหภาพแรงงานในสถานประกอบการของจำเลย วันที่ 18 กันยายน 2541 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ อ้างว่าตำแหน่งงานที่โจทก์ทำงานอยู่กับนิตยสารไทยแลนด์แทตเลอร์ถูกยุบ จำเลยได้พยายามหาตำแหน่งว่างในระดับตำแหน่งของโจทก์ในฝ่ายอื่นให้และได้รับคำชี้แจงจากโจทก์ว่าประสงค์จะลาออกซึ่งเป็นความเท็จความจริงตำแหน่งงานของโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายขายยังไม่ได้ถูกยุบเลิกแต่จำเลยใช้กลอุบายเลิกจ้างโจทก์โดยวิธีโอนกิจการแผนกนิตยสารไทยแลนด์แทตเลอร์ไปให้บริษัทฮาเซทฟิลิปปาคิโพสต์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของจำเลยดำเนินการแทนโดยยังคงใช้พนักงานเดิมของจำเลย สำนักงานก็ยังใช้สถานที่เดิม หลังจากเลิกจ้างโจทก์แล้วจำเลยร่วมมือกับบริษัทฮาเซทฟิลิปปาคิโพสต์จำกัด รับลูกจ้างใหม่เข้าทำงานในตำแหน่งของโจทก์ จำเลยไม่เคยหาตำแหน่งงานว่างให้โจทก์และโจทก์ไม่เคยแจ้งขอลาออกจากงาน จำเลยกลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมเนื่องจากขณะรับโจทก์เข้าทำงานจำเลยห้ามมิให้โจทก์เข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานใด ๆ ในบริษัทจำเลย แต่ต่อมาโจทก์เข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เพราะเห็นว่าฝ่ายบริหารของจำเลยกระทำการและใช้อำนาจบริหารโดยไม่เป็นธรรมกลั่นแกล้งเลิกจ้างและพยายามกำจัดลูกจ้างที่เป็นกรรมการลูกจ้างกรรมการและสมาชิกสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์และสหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ให้พ้นจากการเป็นลูกจ้างของจำเลย นอกจากนี้นายไนเจิล โอกิ้นส์ กรรมการผู้จัดการของจำเลยนำทีมงานพรรคพวกของตนเข้าครองตำแหน่งบริหารสำคัญไว้ทั้งหมดและย้ายพนักงานอาวุโสที่ครองตำแหน่งอยู่ก่อนให้พ้นจากตำแหน่งไป ย้ายลูกจ้างชั้นผู้น้อยที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ไปอยู่ในแผนกที่ตั้งขึ้นใหม่แล้วยุบแผนกใหม่นั้น ผู้บริหารของจำเลยบริหารงานผิดพลาดก่อความเสียหายแก่จำเลย ลูกจ้างของจำเลยจึงร่วมกันลงชื่อขับไล่นายไนเจิลโอกินส์ เป็นผลให้นายไนเจิล โอกินส์ ต้องออกไปจากบริษัทจำเลย เมื่อวันที่ 25 มีนาคม2541 จำเลยและสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้มีผลใช้บังคับ 2 ปี นับแต่วันที่ 25 มีนาคม 2541 ข้อตกลงดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างใช้บังคับ ซึ่งโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อตกลงและข้อเรียกร้อง สหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ซึ่งโจทก์เป็นสมาชิกยื่นข้อเรียกร้องฉบับลงวันที่31 กรกฎาคม 2541 และอยู่ระหว่างการเจรจาและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานซึ่งตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 บัญญัติห้ามจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยไม่มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานโดยให้ได้รับสิทธิและผลประโยชน์ตามเดิม ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างตั้งแต่วันเลิกจ้างถึงวันฟ้องเป็นเงิน 780,576 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและจ่ายค่าจ้างอัตราเดือนละ 62,280บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 อันเป็นวันที่โจทก์ครบเกษียณอายุ กับให้จำเลยจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัทโพสต์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) นับแต่วันที่ 30 กันยายน 2541 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 52,308 บาท และในอัตราเดือนละ 4,359บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือจนถึงวันที่ 31ธันวาคม 2565 อันเป็นวันที่โจทก์ครบเกษียณอายุพร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี

จำเลยให้การว่า โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยกลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์และขณะถูกเลิกจ้างอยู่ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับและอยู่ระหว่างที่สหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลย จึงเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยกระทำการอันไม่เป็นธรรมโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 121 ซึ่งตามมาตรา 124 บัญญัติให้โจทก์ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เพื่อพิจารณาและมีคำสั่งชี้ขาดเกี่ยวกับข้อพิพาทภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีการฝ่าฝืนแต่โจทก์ไม่ได้ดำเนินการตามมาตรา 124 ก่อน จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8วรรคท้าย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 37,280 บาทจำเลยไม่เคยกลั่นแกล้งเลิกจ้างลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เมื่อปี 2531 จำเลยได้ทำสัญญาจ้างนายไนเจิล โอกินส์ เข้าบริหารบริษัทจำเลยมีกำหนด 10 ปี นายไนเจิลโอกินส์ ได้ปรับปรุงโยกย้ายพนักงานตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา เนื่องจากเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอไม่มีความรับผิดชอบและเกียจคร้าน ลูกจ้างซึ่งเคยอยู่สุขสบายได้รับผลกระทบและเดือดร้อนเสียผลประโยชน์จึงร่วมกันคัดค้านการกระทำของนายไนเจิล โอกินส์ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของพวกตน มิใช่เพื่อประโยชน์ของจำเลย การบริหารงานของนายไนเจิล โอกินส์ ทำให้จำเลยมีผลประกอบการเพิ่มขึ้นทุกปี นายไนเจิล โอกินส์ ทำงานจนครบกำหนดตามสัญญาจ้างจึงออกไป มิใช่เพราะถูกสหภาพแรงงานขับไล่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากนิตยสารไทยแลนด์แทตเลอร์ซึ่งโจทก์เป็นผู้จัดการฝ่ายขายขาดทุนต่อเนื่องหลายปี ผู้บริหารของจำเลยมีนโยบายขายธุรกิจดังกล่าวแก่บริษัทอื่น จึงได้ยุบตำแหน่งงานของโจทก์ เมื่อยุบตำแหน่งงานของโจทก์แล้วจำเลยเรียกโจทก์ไปสอบถามเพื่อให้โจทก์ทำงานในแผนกโฆษณา เวลาเดียวกันจำเลยได้ทราบการกระทำความผิดของโจทก์เกี่ยวกับการฉ้อโกงค่าคอมมิชชั่นขณะเป็นผู้จัดการฝ่ายขายของนิตยสารไทยแลนด์แทตเลอร์และอยู่ระหว่างการสอบสวนของจำเลย โจทก์จึงแจ้งว่าไม่ประสงค์จะทำงานอีกต่อไป ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 12 เดือน ซึ่งจำเลยได้จ่ายแก่โจทก์แล้ว กรณีไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือการกระทำอันไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือจ่ายค่าจ้างและเงินสมทบตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 แต่โจทก์มิได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีการฝ่าฝืนตามมาตรา 124 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8 วรรคท้าย พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรนั้นบางกรณีอาจเป็นทั้งการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 หรือมาตรา 123 และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 49 ด้วยก็ได้ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องความว่าจำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าตำแหน่งงานที่โจทก์ทำอยู่ถูกยุบ จำเลยได้พยายามหาตำแหน่งในหน่วยงานอื่นให้แก่โจทก์แล้วแต่ได้รับคำชี้แจงจากโจทก์ว่าโจทก์ประสงค์จะลาออก ข้ออ้างของจำเลยเป็นความเท็จเนื่องจากตำแหน่งงานของโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายขายนิตยสารไทยแลนด์แทตเลอร์ยังไม่ได้ถูกยุบแต่จำเลยใช้กลอุบายเลิกจ้างโจทก์โดยโอนกิจการนิตยสารไทยแลนด์แทตเลอร์ไปให้บริษัทฮาเซทฟิลิปปาคิโพสต์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของจำเลยดำเนินกิจการแทน โดยยังคงใช้พนักงานเดิมและสถานที่เดิมของจำเลยและต่อมาจำเลยกับบริษัทฮาเซทฟิลิปปาคิโพสต์ จำกัด รับลูกจ้างใหม่เข้าทำงานในตำแหน่งของโจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นการกลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมโดยให้โจทก์ได้รับสิทธิและผลประโยชน์ตามเดิมทุกประการ คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการฟ้องเรื่องเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49ส่วนคำบรรยายฟ้องของโจทก์ที่อ้างว่าโจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์และเป็นผู้เข้าร่วมกับสมาชิกคนอื่นในการต่อสู้ขัดขวางขจัดความไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจากการกระทำของฝ่ายบริหารจำเลยนั้นก็เพื่อสนับสนุนคำฟ้องของโจทก์ในเรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้นมีลักษณะเป็นการกลั่นแกล้ง มิได้มีเหตุผลอันสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์แต่อย่างใด โจทก์มิได้มุ่งประสงค์ที่จะกล่าวหาว่าการเลิกจ้างของจำเลยเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 หรือมาตรา 123 แต่อย่างใด ฉะนั้นแม้โจทก์จะมิได้ยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ก่อนตามมาตรา 124 โจทก์ก็มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษายกคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยคดีและมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share