คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2783/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ไม่ชำระค่างวดรายเดือนตามสัญญาจะซื้อจะขายอาคารพาณิชย์แก่จำเลยติดต่อกันมาเป็นเวลา8เดือนซึ่งจำเลยไม่ถือเป็นข้อผิดสัญญาสัญญาจะซื้อจะขายยังมีผลผูกพันกันอยู่โจทก์มิได้ผิดสัญญาเมื่อหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระเงินค่างวดที่ค้างมีข้อความว่ามิฉะนั้นทางบริษัทจะถือว่าท่านสละสิทธิในการจองซื้อจึงเป็นข้อความที่จำเลยแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์โดยมีเงื่อนไขว่าถ้าโจทก์ไม่ชำระค่างวดที่ค้างภายในกำหนดหรือไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้จำเลยทราบเมื่อเป็นเช่นนี้การที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยและให้จำเลยคืนเงินมัดจำย่อมมีสิทธิทำได้และกรณีเป็นเรื่องต่างฝ่ายต่างยอมเลิกสัญญาต่อกันโดยไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญาโจทก์และจำเลยต่างต้องคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา391จำเลยต้องคืนเงินมัดจำแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2533 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นตึกแถว 4 ชั้น จำนวน 2คูหา ราคา 7,000,000 บาท ชำระในวันทำสัญญา 400,000 บาท ที่เหลือชำระเป็นงวดทุกวันที่ 25 ของแต่ละเดือน นับแต่เดือนกันยายน2533 เป็นต้นไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2534 งวดละ 233,334 บาทส่วนที่เหลือ 3,800,000 บาท ชำระภายใน 15 วัน นับจากวันที่จำเลยก่อสร้างตึกแถวเสร็จและแจ้งให้โจทก์ทราบ นับแต่ทำสัญญาจะซื้อจะขายจำเลยมิได้ลงมือก่อสร้างอาคารตึกแถวดังกล่าว ทำให้มีการระงับการชำระเงินงวดที่ตกลงกันไว้ เป็นกรณีที่โจทก์จำเลยไม่ถือกำหนดเวลาการชำระเงินเป็นงวดเป็นข้อสาระสำคัญของสัญญา ต่อมาจำเลยอ้างว่าได้ลงมือก่อสร้างอาคารดังกล่าวขอให้โจทก์ไปติดต่อชำระค่างวด มิฉะนั้นถือว่าสละสิทธิในการจองซื้อ โจทก์มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือถึงจำเลยแสดงเจตนาสละสิทธิการจองสัญญาจะซื้อจะขายเป็นอันเลิกกัน โจทก์จำเลยจึงกลับคืนสู่ฐานะเดิมขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 422,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 400,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่จำต้องคืนเงินมัดจำจำนวน400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยที่โจทก์ชำระตามสัญญาจะซื้อจะขายเพราะโจทก์เป็นผู้ผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 400,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2533จนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์ทำสัญญาว่าจะซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยในราคา7,000,000 บาท โดยวางมัดจำในวันทำสัญญา 400,000 บาทที่เหลือผ่อนชำระเดือนละ 233,334 บาท รวม 12 งวด และที่เหลืออีก 3,800,000 บาท จะชำระภายใน 15 วัน นับจากจำเลยก่อสร้างตึกแถวตามสัญญาเสร็จและแจ้งให้โจทก์ทราบ ปรากฏตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.4 ระหว่างสัญญาโจทก์ไม่ได้ผ่อนชำระค่างวดรายเดือนให้แก่จำเลยตั้งแต่ต้นมาเป็นเวลา 8 เดือนติดต่อกันจำเลยจึงมีหนังสือถึงโจทก์ให้ชำระค่างวดที่ค้างภายใน 7 วันนับจากวันที่ได้รับหนังสือ มิฉะนั้นจะถือว่าโจทก์สละสิทธิในการจองซื้อ ตามหนังสือเอกสารหมาย จ.5 เมื่อโจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลย และให้จำเลยคืนเงินมัดจำตามหนังสือเอกสารหมาย จ.6 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาหรือไม่ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าก่อนจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระเงินค่างวดที่ค้างตามหนังสือเอกสารหมาย จ.5 โจทก์ไม่ได้ประพฤติผิดสัญญา จำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้าน เมื่อตามหนังสือเอกสารหมาย จ.5 ระบุว่า”ตามที่ท่านได้จองซื้ออาคารพาณิชย์ดังกล่าวจากบริษัทกีรทรัพย์ แมนชั่นวิลล์ นั้นท่านมิได้มาชำระค่างวดติดต่อกันเป็นเวลา 8 งวด (เดือน) นับตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2533ถึง 25 เมษายน 2534 ทางบริษัทจึงใคร่เรียนให้ทราบว่า บัดนี้ทางบริษัทได้ลงมือทำการก่อสร้างอาคารดังกล่าวแล้ว จึงขอให้ท่านมาติดต่อชำระค่างวดที่สำนักงานบริษัทภายใน 7 วัน นับจากวันที่ได้รับจดหมาย มิฉะนั้นทางบริษัทจะถือว่าท่านสละสิทธิในการจองซื้อดังกล่าว หากท่านขัดข้องประการใด กรุณาแจ้งให้ทางบริษัททราบด้วย” ข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การที่โจทก์ไม่ชำระค่างวดรายเดือนตามสัญญาติดต่อกันมาเป็นเวลา 8 เดือน จำเลยไม่ถือเป็นข้อผิดสัญญาแต่อย่างใด ฉะนั้นที่จำเลยแก้ฎีกาว่า โจทก์ผิดสัญญานั้น จึงรับฟังไม่ขึ้น สัญญาจะซื้อจะขายยังมีผลผูกพันกันอยู่โจทก์มิได้ผิดสัญญา และเมื่อพิจารณาข้อความในหนังสือเอกสารหมาย จ.5ที่ว่า “มิฉะนั้นทางบริษัทจะถือว่าท่านสละสิทธิในการจองซื้อ” แล้วเห็นว่า เป็นข้อความที่จำเลยแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์โดยมีเงื่อนไขว่าถ้าโจทก์ไม่ชำระค่างวดที่ค้างภายในกำหนด หรือไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้จำเลยทราบเมื่อเป็นเช่นนี้การที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลย ตามเอกสารหมาย จ.6 ย่อมมีสิทธิทำได้กรณีจึงเป็นเรื่องต่างฝ่ายต่างยอมเลิกสัญญาต่อกันโดยไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญา โจทก์และจำเลยต่างต้องคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share