คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1455/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 2 พูดว่า ยิงเลย ยิงเลย เป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดด้วยการยุยงส่งเสริม จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด แต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกระทำความผิดด้วยกัน ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาจึงแตกต่างกับคำฟ้องในสาระสำคัญอย่างมากตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง จะลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดไม่ได้ แต่การที่จำเลยที่ 2 พูดข้อความดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 83, 91, 288, 371, 391 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 80, 391, 83 และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ความผิดฐานพยายามฆ่ากับฐานทำร้ายร่างกาย (ที่ถูกฐานทำร้ายผู้อื่น) โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย และความผิดฐานพาอาวุธปืนตามประมวลกฎหมายอาญากับพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่น และพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ที่ถูก ฐานพาอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ) ซึ่งเป็นบทหนัก เรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 91 ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองฐานพยายามฆ่า คนละ 10 ปี และจำคุกจำเลยที่ 1 ฐานพาอาวุธปืน 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 11 ปี และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 ปี ริบของกลาง ส่วนข้อหาและคำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 391, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี ฐานพาอาวุธปืน ปรับ 1,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 10 ปี และปรับ 1,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ให้ลงโทษปรับเป็นเงิน 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 หรือไม่ จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงแต่กระทำไปเป็นการป้องกันมิให้ผู้เสียหายที่ 1 ทำร้ายจำเลยที่ 2 โดยสำคัญผิดว่า ผู้เสียหายที่ 1 มีมีดเป็นอาวุธ ได้ความจากผู้เสียหายที่ 1 ว่า ขณะที่จำเลยที่ 2 กับผู้เสียหายที่ 2 โต้เถียงกัน จำเลยที่ 1 ลงจากรถเข้ามาชกผู้เสียหายที่ 2 บริเวณใบหน้าจนผู้เสียหายที่ 2 ล้มลงกับพื้นถนน จำเลยที่ 2 วิ่งเข้าไปหาผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 1 จึงลงจากรถเข้าไปขวางจำเลยที่ 2 ก็ถูกจำเลยที่ 2 ชกบริเวณหน้าผากและกกหู ผู้เสียหายที่ 1 จึงชกต่อยกับจำเลยที่ 2 ผู้เสียหายที่ 1 ไม่มีอาวุธแต่อย่างใด เห็นได้ว่าฝ่ายจำเลยเป็นผู้ก่อเหตุขึ้นก่อน และไม่เข้าเหตุป้องกันตามกฎหมาย ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเลื่อนลอยเพื่อให้ตนเองพ้นผิด ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง จำเลยที่ 1 อ้างในฎีกาต่อไปอีกว่า การที่จำเลยที่ 1 ยิงปืนเป็นการขู่ให้จำเลยที่ 2 และผู้เสียหายที่ 1 เลิกต่อสู้กัน มิได้มีเจตนาฆ่า โดยนัดแรกยิงขึ้นฟ้า ส่วนนัดที่สองยิงลงพื้นดิน เห็นว่า จำเลยที่ 1 ต่อสู้ประการแรกว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นการกระทำโดยเจตนา ต่อมากลับอ้างว่าเป็นการยิงขู่ ไม่มีเจตนากระทำความผิด จึงไม่อยู่ในร่องรอยเดียวกัน และได้ความจากผู้เสียหายที่ 1 ว่า ขณะจำเลยที่ 1 ยิงผู้เสียหายที่ 1 อยู่ห่างประมาณ 1 เมตร กระสุนนัดแรกถูกขากางเกงด้านขวาบริเวณต้นขาด้านใน ส่วนนัดที่สองถูกบริเวณท้อง จากผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารท้ายฟ้องได้ความว่าวิถีกระสุนเข้าท้องน้อยซ้ายทะลุผ่านกระเพาะปัสสาวะทะลุออกไปทางก้นขวาแสดงว่ายิงในระยะใกล้ กระสุนปืนจึงทะลุผ่านร่างกายไป ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นการยิงขู่จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1 ไม่มีผลให้คำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัย พยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้เป็นมั่นคงว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 ดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาโจทก์มีว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าขณะที่จำเลยที่ 2 กอดปล้ำต่อสู้กับผู้เสียหายที่ 1 จำเลยที่ 2 พูดว่า ยิงเลย ยิงเลย ต่อมาจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 จนได้รับบาดเจ็บสาหัส เห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นพ่อลูกกัน ร่วมเดินทางมาด้วยกัน หลังจากเกิดเหตุก็หลบหนีไปด้วยกัน ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า ได้ความจากผู้เสียหายที่ 1 ว่า ขณะที่พยานต่อสู้กับจำเลยที่ 2 ได้ยินจำเลยที่ 2 พูดว่า ยิงเลย ยิงเลย เมื่อหันไปทางจำเลยที่ 1 เห็นจำเลยที่ 1 ใช้มือทั้งสองข้างถืออาวุธปืนพกสั้นจ้องมาทางพยาน สักครู่ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด พยานตกใจแต่ก็ยังกอดรัดกับจำเลยที่ 2 ต่อมาพยานถูกกระแทกจนหลุดจากการกอดปล้ำ ขณะนั้นจำเลยที่ 1 ยังยืนถือปืน และยิงปืนมายังพยานอีก 1 นัด กระสุนปืนถูกที่ท้องและได้ความจากผู้เสียหายที่ 2 ว่า ขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 ชกต่อยกับจำเลยที่ 2 พยานเดินมาเปิดประตูรถด้านคนขับเพื่อหยิบโทรศัพท์เคลื่อนที่โทรแจ้งพนักงานตำรวจ ได้ยินเสียงจำเลยที่ 2 พูดว่า ยิงเลย ยิงเลย รวม 3 ครั้ง เมื่อเงยหน้าดูเห็นจำเลยที่ 1 ถือปืนจ้องไปที่ผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยที่ 1 ยิงผู้เสียหายที่ 1 รวม 3 นัด เห็นว่า ผู้เสียหายทั้งสองเบิกความยืนยันว่าได้ยินจำเลยที่ 2 พูดว่า ยิงเลย ยิงเลย แล้วจำเลยที่ 1 ก็ใช้ปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสอง สอดคล้องกันไม่มีพิรุธ เชื่อว่าเบิกความไปตามความเป็นจริง ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 พูดถ้อยคำดังกล่าว ปัญหาว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยทั้งสองจะเป็นพ่อลูกกัน ร่วมเดินทางด้วยกันแต่ก็ไม่มีเจตนาคบคิดกันที่จะใช้อาวุธปืนที่จำเลยที่ 1 นำติดตัวมาไปยิงทำร้ายผู้ใดมาก่อน ขณะที่เกิดเหตุขึ้นเป็นเรื่องที่มิได้คาดคิด การที่จำเลยที่ 2 พูดว่า ยิงเลย ยิงเลย เป็นการที่จำเลยที่ 2 ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดด้วยการยุยงส่งเสริม จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 แต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกระทำความผิดด้วยกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาจึงแตกต่างกับคำฟ้องในสาระสำคัญอย่างมากตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง จะลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดไม่ได้ แต่การที่จำเลยที่ 2 พูดข้อความดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ด้วย ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษฐานเป็นสนับสนุนได้ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 ประกอบมาตรา 86 จำคุก 6 ปี 8 เดือน จำเลยทั้งสองเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ทั้งมอบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนให้เป็นของกลาง ชั้นสอบสวนชดใช้ค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 250,000 บาท แก่ฝ่ายผู้เสียหาย เป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เฉพาะความผิดฐานเป็นตัวการและผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามแล้ว จำเลยที่ 1 จำคุก 6 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 2 จำคุก 4 ปี 5 เดือน 10 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share