คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2779/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ฟ้องของกรมสรรพากรโจทก์ในคดีนี้มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีเดิมว่า จำเลยต้องรับผิดชำระภาษีการค้าพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มหรือไม่ ซึ่งในคดีเดิมที่จำเลยฟ้องโจทก์ศาลภาษีอากรกลางได้วินิจฉัยคดีถึงที่สุดมาแล้ว การที่โจทก์นำมูลหนี้เดียวกันมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ขอให้ชำระภาษีการค้าจำนวนเดียวกันพร้อมเงินเพิ่มอีกจึงเป็นฟ้องซ้ำ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานของโจทก์ได้ออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีอากรของจำเลยสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2527 และปี 2528แล้วประเมินภาษีการค้าในระยะเวลาสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2527 รวมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มด้วยเป็นเงิน 341,004 บาท กรณีที่จำเลยนำรายรับดอกเบี้ยมาเสียภาษีการค้าไว้ไม่ครบถ้วนและประเมินภาษีการค้าล่วงหน้าต่อมาจำเลยได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งปรากฏว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของจำเลย ครั้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2533 จำเลยได้ฟ้องโจทก์ต่อศาลภาษีอากรกลางขอให้เพิกถอนการประเมิน ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง หลังจากนั้นจำเลยได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24มีนาคม 2536 เฉพาะประเด็นภาษีการค้าจำนวน 341,004 บาทให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1038/2536 ลงวันที่ 7 เมษายน 2536 จึงถือว่าจำเลยเป็นหนี้ภาษีอากรค้างอยู่ตามแบบแจ้งการประเมิน จำเลยไม่ชำระค่าภาษีดังกล่าว จึงต้องเสียเงินเพิ่มอีกถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 388,978.72 บาท ต่อมาจำเลยชำระค่าภาษีตามคำสั่งอายัดของโจทก์เป็นเงิน 794.20 บาท คงเหลือเงินที่จำเลยต้องชำระทั้งสิ้น 388,184.52 บาท แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้เป็นหนี้ค่าภาษีอากรโจทก์ตามใบแจ้งการประเมินจำนวน 341,004 บาท และหนี้ดังกล่าวหากจะมีอยู่จริงก็เกิดขึ้นเกินกว่าสิบปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความทั้งโจทก์ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องเพราะเมื่อโจทก์แจ้งการประเมินภาษีการค้า ย่อมถือว่าเป็นการสั่งบังคับตามอำนาจกฎหมาย เพื่อให้จำเลยใช้หนี้ค่าภาษีอากรตามที่เรียกร้อง อันมีผลให้จำเลยอาจถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาดโดยไม่ต้องฟ้องคดีต่อศาล การที่จำเลยมิได้ชำระค่าภาษีตามใบแจ้งการประเมินหรือคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือตามคำพิพากษาศาลฎีกาก็หาได้เป็นการโต้แย้งสิทธิที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้อง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้พิพากษายกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน388,184.32 บาท แก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ว่าเดิมพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีอากรของจำเลยสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2527 และปี 2528แล้วประเมินภาษีการค้าในระยะเวลาสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2527 รวมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มเป็นเงิน 341,004 บาท จำเลยได้รับทราบการประเมินเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2531 จำเลยอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของจำเลย จำเลยได้ฟ้องโจทก์ต่อศาลภาษีอากรกลางขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ศาลภาษีอากรกลางมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องตามคดีหมายเลขแดงที่ 192/2534 หลังจากนั้นจำเลยได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางต่อศาลฎีกา ต่อมาวันที่ 24 มีนาคม 2536 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนของภาษีการค้า พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน341,004 บาท ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้นตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1038/2536 เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 188 ถึง 218 แต่จำเลยไม่ชำระค่าภาษีดังกล่าว จำเลยจึงต้องเสียภาษีและเงินเพิ่มถึงวันฟ้องเป็นเงินรวม388,978.72 บาท ต่อมาจำเลยชำระค่าภาษีตามคำสั่งอายัดของกรมสรรพากรเป็นเงิน 794.20 บาท คงเหลือเงินที่จำเลยต้องชำระทั้งสิ้น 388,184.52 บาทโจทก์จึงฟ้องเป็นคดีนี้ เห็นว่าฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ก็มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันว่า จำเลยต้องรับผิดชำระภาษีการค้า พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มหรือไม่ ซึ่งในคดีเดิมได้วินิจฉัยมาแล้ว การที่โจทก์นำมูลหนี้เดียวกันมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ อำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปได้เองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) โดยไม่ต้องมีคู่ความฝ่ายใดยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาอ้างแต่อย่างใด เมื่อได้วินิจฉัยดังกล่าวแล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยอีกต่อไปที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share