คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2777/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยหรือไม่ต้องพิจารณาเหตุแห่งการเลิกจ้างในขณะเลิกจ้างว่าลูกจ้างได้กระทำความผิดในกรณีใดกรณีหนึ่งตามข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ หรือไม่ หากขณะเลิกจ้าง ลูกจ้างไม่ได้กระทำผิดดังกล่าว นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างเรียกร้องให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยนายจ้างจะอ้างเหตุต่าง ๆ ขึ้นภายหลังเพื่อเป็นการปฏิเสธการจ่ายค่าชดเชยหาได้ไม่
แม้ข้อบังคับของจำเลยผู้เป็นนายจ้างจะกำหนดว่า ลูกจ้างที่มีข้อผูกพันจะต้องชดใช้ให้แก่จำเลย ให้จำเลยมีสิทธิหักเงินบำเหน็จของลูกจ้างได้ก็ตามการที่จำเลยกล่าวหาว่าโจทก์ทำละเมิดได้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณาดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ และพนักงานอัยการกำลังพิจารณาอยู่ ได้ความเพียงเท่านี้ ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์มีข้อผูกพันที่จะต้องชดใช้เงินแก่จำเลย จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะหักเงินบำเหน็จของโจทก์ชำระหนี้แก่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าชดเชย เงินบำเหน็จและสินจ้างแทนการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์จงใจทำให้จำเลยเสียหายหรือประมาทเลินเล่อในการทำงานทำให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย จำเลยมีสิทธิหักเงินบำเหน็จที่โจทก์จะได้รับเพื่อชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยทำต่อโจทก์ และมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยบอกกล่าวล่วงหน้าเพียง 7 วัน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชย เงินบำเหน็จ และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการเลิกจ้าง พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างประจำซึ่งเลิกจ้างโดยไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ถ้านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างประจำโดยที่ลูกจ้างมีความไม่เหมาะสมหรือแม้แต่มีมลทินมัวหมอง แต่ไม่เข้ากรณีหนึ่งกรณีใดตามข้อ 47(1) ถึง (6) นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง และค่าชดเชยนั้นนายจ้างจะจ่ายให้เมื่อใดปรากฏตามบทนิยามของคำว่า “ค่าชดเชย หมายความว่าเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง ฉะนั้น ลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากนายจ้างหรือไม่ก็ต้องพิจารณาเหตุแห่งการเลิกจ้างในขณะเลิกจ้างว่าลูกจ้างได้กระทำความผิดในกรณีใดกรณีหนึ่งตามข้อ 47 ดังกล่าวหรือไม่ หากขณะเลิกจ้างลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดดังกล่าว นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ถ้านายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างเรียกร้องให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยนายจ้างจะอ้างเหตุต่าง ๆ ขึ้นภายหลังเพื่อเป็นการปฏิเสธการจ่ายค่าชดเชยหาได้ไม่ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยลงมติให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากบริหารกิจการ อ.ก.มีประสิทธิภาพต่ำไม่ได้ผลสมความมุ่งหมายของทางราชการมิใช่ให้โจทก์ออกจากงานเพราะโจทก์ได้กระทำความผิดตามข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 เท่ากับจำเลยให้โจทก์ออกจากงานโดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด ส่วนเหตุต่าง ๆ ที่จำเลยยกขึ้นภายหลังนั้นไม่ใช่เหตุที่จำเลยยกขึ้นอ้างเพื่อเลิกจ้างโจทก์ ศาลแรงงานกลางไม่รับวินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยมีสิทธิหักเงินบำเหน็จของโจทก์ชดใช้หนี้แก่จำเลยได้ตามข้อบังคับของจำเลย พิเคราะห์แล้ว ข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 ข้อ 12 ระบุว่า พนักงานที่มีข้อผูกพันจะต้องชดใช้เงินให้แก่องค์การแก้วไม่ว่ากรณีใด ๆ ให้องค์การแก้วหักเงินบำเหน็จของผู้นั้นจนครบตามข้อผูกพันเสียก่อน แล้วจึงจ่ายส่วนที่เหลือแก่พนักงานหรือทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกต่อไป เห็นว่า การที่จำเลยกล่าวหาโจทก์ว่าทำละเมิด ได้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณาดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ และพนักงานอัยการกำลังพิจารณาอยู่ได้ความเพียงเท่านี้ ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์มีข้อผูกพันและจำนวนเงินตามข้อผูกพันเท่าใดที่โจทก์จะต้องชดใช้ให้แก่องค์การแก้วจำเลยตามข้อบังคับข้อ 12 ของจำเลยดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะหักเงินบำเหน็จของโจทก์ชำระหนี้แก่จำเลย ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share