คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2771/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกจ้างไม่มาทำงานตั้งแต่วันที่ 8 ถึงวันที่ 15 ในชั้นแรกหยุดงานไปโดยไม่ได้ลาในวันที่ 8 และวันที่ 10(วันที่ 9 เป็นวันหยุด) ต่อมาได้โทรศัพท์ขอลากิจในวันที่ 11 ถึงวันที่ 13 และโทรศัพท์ลาป่วยในวันที่ 14 และวันที่ 15 ต่อเนื่องมาอีก ครั้นมาทำงานก็มิได้ส่งใบลาตามระเบียบ ถือได้ว่าลูกจ้างได้ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรนายจ้างจึงเลิกจ้างได้โดยมิต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี
นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างประจำเมื่อวันที่ 17 จึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างในวันเลิกจ้าง ส่วนวันที่ 16 แม้เป็นวันหยุด ลูกจ้างก็ยังคงเป็นลูกจ้างอยู่จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันดังกล่าว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ เมื่อวันที่ 17พฤศจิกายน 2529 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แต่จำเลยไม่ยอมจ่าย นอกจากนี้จำเลยยังค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 17พฤศจิกายน 2529 โจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีนับย้อนขึ้นไปจากวันฟ้อง 2 ปี จำนวน 12 วัน ขอศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างที่ค้าง และค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ขาดงานอยู่เสมอ โจทก์ละทิ้งหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 8 ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2529 เกินกว่าสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย จำเลยได้จัดให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำทุกปี โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินส่วนนี้ จำเลยได้จ่ายค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 16พฤศจิกายน 2529 ให้โจทก์แล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างที่ค้างตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2529 ให้แก่โจทก์ โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนอีก 3 วันพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่ค้าง ค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าวันที่8 และวันที่ 10 พฤศจิกายน 2529 เป็นวันเสาร์และวันจันทร์ โจทก์ไม่ได้มาทำงานและไม่ได้ลา ส่วนวันที่ 9 พฤศจิกายน 2529 เป็นวันวันอาทิตย์ จำเลยหยุดทำงานวันที่ 11 ถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2529โจทก์ขอลากิจโดยแจ้งทางโทรศัพท์ให้จำเลยทราบ วันที่ 14 ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2529 โจทก์ขอลาป่วยโดยแจ้งให้จำเลยทราบทางโทรศัพท์เช่นเดียวกัน วันที่ 16 พฤศจิกายน 2529 เป็นวันอาทิตย์ต่อมาวันที่ 17 พฤศจิกายน 2529 โจทก์มาทำงานและไม่ได้ส่งใบลาตามระเบียบจำเลยจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 17 พฤศจิกายน2529 โดยอ้างว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาเกินกว่าสามวันทำงานโดยไม่มีเหตุอันสมควร เห็นว่า การที่โจทก์ไม่ได้มาทำงานในวันที่ 8 และวันที่ 10 พฤศจิกายน 2529 โดยไม่ได้ลาแต่อย่างใดนั้นถือได้ว่าโจทก์ขาดงาน ส่วนที่โจทก์ไม่ได้มาทำงานในวันที่ 11 ถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2529 ซึ่งโจทก์ขอลากิจโดยแจ้งให้จำเลยทราบทางโทรศัพท์นั้น ปรากฏว่าจำเลยได้มีคำสั่ง เรื่อง การลาหยุดงานของพนักงาน ระบุว่า ‘……….การลากิจในแต่ละครั้ง พนักงานลูกจ้าง จะต้องเขียนใบลากิจล่วงหน้า เพื่อขออนุญาตจากผู้บังคับบัญชาและเมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะหยุดงานได้ การลากิจโดยไม่ได้รับอนุญาตทางห้างฯจะถือว่าพนักงาน ลูกจ้าง ผู้นั้นขาดงาน………. ในกรณีที่พนักงาน ลูกจ้าง มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนจนไม่อาจยื่นใบลากิจได้ในวันนั้น ผู้ขอลากิจจะต้องแจ้งเหตุผล หรือแสดงหลักฐานเท่าที่จำเป็นให้กับทางห้างฯ ทราบ ไม่ว่าด้วยวิธีใดทันทีและต้องยื่นใบลาหยุดงานตามระเบียบนี้ในวันแรกที่กลับเข้าทำงาน’ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ขอลากิจโดยไม่ได้ยื่นใบลาล่วงหน้าเพื่อขออนุญาตจากผู้บังคับบัญชาเสียก่อน เป็นแต่เพียงแจ้งการลากิจให้จำเลยทราบทางโทรศัพท์เท่านั้น ทั้งเมื่อโจทก์มาทำงานก็ไม่ได้ยื่นใบลา การกระทำของโจทก์ จึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยเกี่ยวกับการลากิจ ส่วนที่โจทก์ลาป่วยในวันที่ 14 ถึง 15 พฤศจิกายน 2529 โดยแจ้งให้จำเลยทราบทางโทรศัพท์นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อโจทก์มาทำงานก็มิได้ยื่นใบลาและไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยให้ลาป่วยได้ ดังนั้นการที่โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบทางโทรศัพท์ว่าป่วยจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการลาป่วยแล้ว เมื่อพฤติการณ์ของโจทก์ปรากฏว่าโจทก์ไม่มาทำงานตั้งแต่วันที่ 8 ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2529 โดยในชั้นแรกโจทก์หยุดงานไปเฉยๆ ไม่ได้ลาในวันที่ 8 และวันที่10 พฤศจิกายน 2529 แล้วต่อมาโจทก์จึงได้โทรศัพท์ลากิจและลาป่วยต่อเนื่องกันมาอีก ครั้นเมื่อมาทำงานโจทก์ก็มิได้ส่งใบลาตามระเบียบ พฤติการณ์ดังกล่าวจึงเป็นการขาดงานและถือได้ว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงเข้าข้อยกเว้นที่จำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4) และกรณีมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าตั้งแต่วันที่ 8 ถึงวันที่ 15พฤศจิกายน 2529 โจทก์ขาดงาน และคำสั่งของจำเลยระบุใจความว่า ในกรณีลูกจ้างขาดงานนายจ้างจะไม่จ่ายค่าจ้าง ซึ่งสภาพการจ้างดังกล่าวมีผลบังคับได้ ฉะนั้น จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 8 ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2529 แต่กรณีปรากฏว่าจำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2529จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างในวันเลิกจ้าง ส่วนวันที่ 16พฤศจิกายน 2529 นั้น จำเลยยังเป็นลูกจ้างของโจทก์อยู่จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างอีก 1 วัน
ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 45 ระบุว่า’ถ้านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างประจำโดยลูกจ้างมิได้มีความผิดตามข้อ 47 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ตามข้อ 10 และข้อ 32 ด้วย’ เมื่อกรณีของโจทก์ปรากฏว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันสมควรอันเป็นความผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4)ดังนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามนัยแห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ดังกล่าวข้างต้นคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนนี้จึงเป็นคุณแก่โจทก์อยู่แล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่ค้างแก่โจทก์เพิ่มอีก 1 วัน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share