คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2395/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิจะมิได้บัญญัติข้อความเจาะจงลงไปว่าสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ก็ตาม แต่มาตรา 27 ทวินี้เป็นบทบัญญัติต่อท้ายและเป็นความผิดต่อเนื่องจากมาตรา 27ดังนั้น ในเรื่องโทษปรับนี้จึงย่อมมีความหมายเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆนั่นเอง การที่ศาลอุทธรณ์ปรับจำเลยเรียงตัวคนละสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว จึงเป็นการปรับจำเลยสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ เกินกว่าสี่เท่า ขัดต่อบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 4, 7, 11, 69, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา พระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบของกลาง และจ่ายสินบนนำจับแก่ผู้แจ้งความนำจับกับจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11, 69 วรรคสอง, 73 วรรคสองพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำไม้ยางโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 2 ปี และปรับคนละ 18,000 บาทฐานมีไม้ยางอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจำคุกคนละ 2 ปี และปรับคนละ 18,000 บาท ฐานความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร ปรับคนละ 15,600 บาท รวมจำคุกคนละ 4 ปีและปรับคนละ 51,600 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 2 ปี และปรับคนละ 25,800 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ริบของกลาง ให้จ่ายสินบนนำจับแก่ผู้แจ้งความนำจับกับจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันทำไม้ยางโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันมีไม้ยางอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำคุกคนละ 1 ปีฐานความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร ปรับคนละ 15,600 บาทรวมจำคุกคนละ 2 ปี และปรับคนละ 15,600 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุกคนละ 1 ปีและปรับคนละ 7,800 บาท ไม่รอการลงโทษ และไม่จ่ายเงินสินบนนำจับตามพระราชบัญญัติป่าไม้ คงจ่ายสินบนตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดร้อยละ 30 และจ่ายเงินรางวัลร้อยละ 25 ของราคาเลื่อยโซ่พร้อมบาร์และโซ่ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้รอการลงโทษ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดีมีลักษณะเป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรง ไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยทั้งสอง
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ ปรับคนละ7,800 บาท นั้น เห็นว่า แม้ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 27 ทวิ จะมิได้บัญญัติข้อความเจาะจงลงไปว่าสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเช่นเดียวกับมาตรา 27 ก็ตาม แต่มาตรา 27 ทวิเป็นบทบัญญัติต่อท้ายและเป็นความผิดต่อเนื่องจากมาตรา 27ในเรื่องโทษนี้ก็ย่อมมีความหมายเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ นั่นเอง ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ปรับจำเลยเรียงตัวคนละสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว ก็จะเป็นการปรับจำเลยสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ เกินกว่าสี่เท่าไป ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากรฯให้ปรับจำเลยทั้งสองรวม 15,600 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับรวม 7,800 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share