แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทำสัญญาขายฝากที่ดินทั้งแปลงแก่จำเลย แล้วไม่ใช้สิทธิไถ่ภายในกำหนด แม้เนื้อที่ที่ดินที่แท้จริงจะมากกว่าเนื้อที่ตามโฉนดที่ดิน จำเลยก็ย่อมได้ที่ดินพิพาทส่วนที่เกินกว่าเนื้อที่ตามโฉนดที่ดินโดยมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และไม่เป็นเหตุให้โจทก์เสียเปรียบ ที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นลาภมิควรได้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกคืน.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 10187 ตำบลปทุมอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ 43 ไร่ 2 งาน18 8/10 ตารางวา ไว้แก่จำเลยที่ 1 ในราคา 462,000 บาท โดยมีเจตนาผูกนิติสัมพันธ์ต่อกันตามเนื้อที่และราคาดังกล่าว โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิไถ่ที่ดินที่ขายฝากภายในกำหนด ต่อมาโจทก์ทราบว่าที่ดินที่ขายฝากมีเนื้อที่ประมาณ 49 ไร่ การที่จำเลยที่ 1 ได้ที่ดินเกินไปประมาณ 6 ไร่ เพราะโจทก์สำคัญผิดในเนื้อที่ของที่ดินซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมจึงเป็นการได้ไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นเหตุให้โจทก์เสียเปรียบ จำเลยที่ 2 เป็นกรมในรัฐบาลเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้รับโอนที่ดินจากโจทก์เกินกว่าที่ตกลงจดทะเบียนขายฝาก ซึ่งจะต้องดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการเพื่อคืนที่ดินส่วนที่เกินแก่โจทก์ แต่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานีกลับร่วมมือกับจำเลยที่ 1เอาที่ดินส่วนที่เกินไว้เป็นของจำเลยที่ 1 เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 10187 ตำบลปทุม อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ส่วนที่เกินจากเนื้อที่ 43 ไร่ 2 งาน 18 8/10 ตารางวา คืนแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ขายฝากที่ดินทั้งแปลงแก่จำเลยที่ 1 หากเนื้อที่เกินกว่าเนื้อที่ตามโฉนดที่ดินก็ไม่ใช่ลาภมิควรได้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกคืน จำเลยที่ 1 ไม่เคยร่วมมือกับจำเลยที่ 2 กระทำการดังโจทก์ฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เดิมโจทก์ออกโฉนดที่ดินตาม น.ส.3 รวม5 ฉบับ เนื้อที่ประมาณ 93 ไร่ โดยโจทก์เป็นผู้นำรังวัดด้วยตนเองจึงรู้แนวเขตและเนื้อที่ของที่ดินเป็นอย่างดี โจทก์ได้รับโฉนดที่ดินไปแล้ว ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอรังวัดแบ่งแยกในนามเดิมโดยให้ที่ดินแปลงหนึ่งมี เนื้อที่ 50 ไร่ หลังจากนั้นโจทก์จดทะเบียนขายฝากที่ดินแปลงคงเหลือทั้งแปลงแก่จำเลยที่ 1 เจ้าพนักงานดำเนินการให้ตามความประสงค์ของโจทก์โดยปฏิบัติตามระเบียบ แบบแผนทุกประการ ไม่ได้ร่วมมือกับจำเลยที่ 1 ดังโจทก์ฟ้อง ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มีเจตนาขายฝากที่ดินทั้งแปลงแก่จำเลยที่ 1 และฟ้องโจทก์เคลือบคลุม พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงจดทะเบียนขายฝากที่ดินกันทั้งแปลง และการกระทำของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานีไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า …ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทำสัญญาขายฝากที่ดินทั้งแปลงแก่จำเลยที่ 1 ดังนั้นเมื่อโจทก์ไม่ใช่สิทธิไถ่ภายในกำหนด ที่ดินทั้งแปลงจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1โดยเด็ดขาดแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีมูลอันจะอ้างตามกฎหมายได้ และไม่เป็นเหตุให้โจทก์เสียเปรียบแต่อย่างใด หากโจทก์ใช้สิทธิไถ่ภายในกำหนด ที่ดินทั้งแปลงรวมทั้งที่ดินพิพาทก็จะกลับคืนมาเป็นของโจทก์ตามเดิม ที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าที่ดินพิพาทไม่เป็นลาภมิควรได้แก่จำเลยที่ 1 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.