คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 277/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ผู้ขายฝากไปขอไถ่ถอนต่อกันเอง และไปร้องขอไถ่ถอนต่ออำเภอก่อนครบ 10 ปี แต่ผู้ซื้อฝากไม่ยอมและหลบตัวไปเสียกลับมาต่อเมื่อเกิน 10 ปีแล้ว ดังนี้ถือว่าผู้ขายฝากได้ใช้สิทธิไถ่ถอนในกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว จึงมาฟ้องศาล ขอไถ่ถอนทรัพย์ที่ขายฝากได้
การใช้สิทธิไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากตามมาตรา 494 มิได้บังคับว่าต้องใช้สิทธิทางศาล อาจขอไถ่ถอนกันเองก็ได้ และกำหนดเวลา 10 ปีไม่ใช่อายุความฟ้องร้อง เป็นเงื่อนไขแห่งเวลาสำหรับไถ่ถอนเมื่อผู้ซื้อฝากผิดเงื่อนไขสัญญาขายฝากจึงเกิดอายุความฟ้องร้องในเรื่องผิดสัญญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอไถ่ที่ดินที่สามีโจทก์ได้ขายฝากไว้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2481 โดยกล่าวว่า โจทก์ได้มาขอไถ่ต่อจำเลย ๆ ขอผัดค้นสัญญาแล้วแกล้งหลบตัวเสีย เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2491 โจทก์ได้ไปร้องต่ออำเภอ ๆ มีหมายเรียกจำเลยหลบตัวเสียเพิ่งกลับมาเมื่อแรมเดือน 6 พ.ศ. 2491 จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์ยอมให้นาเป็นกรรมสิทธิ์แก่จำเลยและนับแต่วันขายฝากเกิน 10 ปีแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิไถ่ คู่ความรับกันว่าที่พิพาทไม่มีหนังสือสำคัญราคาขณะนี้ 6,000 บาท การขายฝากทำกันที่อำเภอ

ศาลชั้นต้นงดสืบพยานและเห็นว่า การใช้สิทธิไถ่การขายฝากใน 10 ปีนั้น ต้องใช้สิทธิฟ้องคดีทางศาล การไปร้องต่ออำเภอนั้นเมื่อจำเลยไม่ยอมจะฟ้องเกิน 10 ปี มิได้พิพากษายกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความพิพากษายืน

ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่า ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 494 นั้นมิได้บังคับว่าต้องใช้สิทธิฟ้องร้องทางศาล อาจจะไถ่ถอนต่อกันเองแล้วไปขอแก้ทะเบียนภายหลังก็ได้ การขอไถ่ต่อกันเอง แม้ผู้รับซื้อฝากไม่ยอมให้ไถ่ ก็เรียกได้ว่าผู้ขายฝากได้ใช้สิทธิไถ่ถอนแล้ว และกำหนด 10 ปี ตามมาตรา 494 มิใช่อายุความฟ้องร้อง เป็นกำหนดเวลาที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นเงื่อนไขแห่งการไถ่ถอน เมื่อขอไถ่ใน 10 ปี ผู้รับซื้อฝากไม่ยอมต้องถือว่าผู้รับซื้อฝากปฏิบัติผิดเงื่อนไขสัญญาขายฝาก อายุความฟ้องร้องยังศาลจึงเกิดขึ้น และมีกำหนดอายุความในเรื่องผิดสัญญา การฟ้องคดีนี้เป็นเรื่องฟ้องต่อศาลขอให้บังคับจำเลยให้ปฏิบัติต่อการที่โจทก์ได้ใช้สิทธิไถ่ถอนไว้แล้วนับจากผิดสัญญา และถ้าเป็นจริงดังโจทก์กล่าวในฟ้องก็เรียกได้ว่า โจทก์ได้ใช้สิทธิไถ่ถอนการขายฝากภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว ชอบที่จะบังคับให้จำเลยรับการไถ่ถอนการขายฝากแต่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานเสียทั้ง 2 ฝ่าย จึงยังไม่ปรากฏความจริงในข้อนี้

พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามนัยกฎหมายดังกล่าว

Share