คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2768/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้บรรยายคำฟ้องไว้ด้วยว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงถูกผู้เสียหายบริเวณศีรษะ ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสและทุพพลภาพป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนา จนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลท้ายฟ้อง พอถือได้ว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงการกระทำประทุษร้ายและสภาพความบาดเจ็บของผู้เสียหายไว้แล้ว แม้ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาว่าจำเลยใช้อาวุธปืนตีทำร้ายผู้เสียหายแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังกล่าวในฟ้องว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงศีรษะผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่าแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ข้อสาระสำคัญ เพราะเป็นเพียงข้อแตกต่างในวิธีประทุษร้ายของจำเลย เมื่อจำเลยมิได้หลงต่อสู้ จึงลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัสได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2534 เวลากลางคืน จำเลยมีอาวุธปืนลูกซองสั้นไม่มีทะเบียน 1 กระบอกและกระสุนปืนลูกซองเบอร์ 12 จำนวน 2 นัด โดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยได้พาอาวุธปืนดังกล่าวไปในหมู่บ้าน โดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ แล้วใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงผู้เสียหาย1 นัดถูกบริเวณศีรษะโดยเจตนาฆ่า แต่การกระทำไม่บรรลุผล แต่ทำให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสต้องทุพพลภาพ ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันเหตุเกิดที่ตำบลนาท่ามเหนือ อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ,72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91, 288, 371 ริบของกลาง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสองประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ให้เรียงกระทงลงโทษ ฐานมีจำคุก1 ปี ฐานพาจำคุก 6 เดือน รับสารภาพลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม คงจำคุก 8 เดือน และ 4 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน ริบของกลางคำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8) จำคุก 2 ปี อีกกระทงหนึ่งนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่า….ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคแรก บัญญัติว่า”ห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง” ส่วนวรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้นเว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้”เมื่อพิจารณาถึงคำฟ้อง โจทก์ได้บรรยายคำฟ้องไว้ด้วยว่าจำเลยใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนยิงประทุษร้ายผู้เสียหาย กระสุนปืนถูกผู้เสียหายบริเวณศีรษะจำนวน 2 แผล ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสและทุพพลภาพป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนา จนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้องซึ่งระบุรายละเอียดของบาดแผลไว้พอถือได้ว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงการกระทำประทุษร้ายและสภาพความบาดเจ็บของผู้เสียหายไว้แล้ว แสดงถึงเจตนาประสงค์ให้ศาลพิพากษาลงโทษแม้ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาว่าจำเลยใช้อาวุธปืนตีทำร้ายผู้เสียหายแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงศีรษะผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่า แต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ข้อสาระสำคัญเพราะเป็นเพียงข้อแตกต่างในวิธีการประทุษร้ายของจำเลย อาวุธที่จำเลยใช้ทำร้ายและตำแหน่งที่ผู้เสียหายรับบาดเจ็บก็ตรงตามฟ้อง และจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัสศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share