แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ได้บรรยายคำฟ้องไว้ด้วยว่าจำเลยใช้อาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนยิงประทุษร้ายผู้เสียหายกระสุนปืนถูกผู้เสียหายบริเวณศีรษะจำนวน 2 แผลผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสและทุพพลภาพป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนา จนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันพอถือได้ว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงการกระทำประทุษร้ายและสภาพความบาดเจ็บของผู้เสียหายไว้แล้ว แสดงถึงเจตนาประสงค์ให้ศาลพิพากษาลงโทษในข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ ได้รับอันตรายสาหัสด้วยแม้ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏ ในการพิจารณาว่าจำเลยใช้อาวุธปืนตีทำร้าย ผู้เสียหายแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงศีรษะผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่า แต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญเพราะเป็น เพียง ข้อแตกต่างในวิธีการประทุษร้ายของจำเลย และ จำเลย ก็มิได้หลงต่อสู้ ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลย ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนลูกซองสั้นไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับจำนวน 1 กระบอก และกระสุนปืนลูกซองเบอร์ 12 จำนวน 2 นัด อันเป็นอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและจำเลยได้พาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปบนถนนภายในหมู่บ้านหมู่ที่ 6 ตำบล นาท่ามเหนือ อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง โดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ แล้วจำเลยได้ใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงนายทรงศักดิ์ สุขสุวรรณ ผู้เสียหาย 1 นัดถูกบริเวณศีรษะโดยมีเจตนาฆ่า แต่การกระทำไม่บรรลุผลเนื่องจากแพทย์รักษาได้ทัน จึงเพียงแต่ทำให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสต้องทุพพลภาพ ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91, 288, 371 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง,72 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 เป็นการกระทำ 2 กรรม ให้ลงโทษเรียงกระทงฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานมีอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 72 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง,72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดจำคุก 6 เดือนคำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนกับข้อนำสืบของจำเลยในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน และ 4 เดือนตามลำดับ รวมจำคุก 12 เดือน ริบของกลาง คำขออื่นให้ยกโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8) อีกกระทงหนึ่งให้จำคุกมีกำหนด 3 ปี คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วจำคุก 2 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืนที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้แล้วเป็นจำคุก 2 ปี 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2534 เวลา 20 นาฬิกาผู้เสียหายกับพวกไปเที่ยวงานบ้านจำเลย ผู้เสียหายเกิดวิวาทและชกต่อยกับจำเลย จำเลยใช้อาวุธปืนตีศีรษะผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส ตามบันทึกรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้อง คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยในข้อกฎหมายว่าที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงเป็นการพยายามฆ่าผู้เสียหาย แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยใช้อาวุธปืนตีทำร้ายผู้เสียหาย ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคแรกบัญญัติว่า “ห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง” ส่วนวรรคสองบัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้” เมื่อพิจารณาถึงคำฟ้อง โจทก์ได้บรรยายคำฟ้องไว้ด้วยว่าจำเลยใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนยิงประทุษร้ายผู้เสียหาย กระสุนปืนถูกผู้เสียหายบริเวณศีรษะจำนวน 2 แผลผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสและทุพพลภาพป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนา จนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้อง ซึ่งระบุรายละเอียดของบาดแผลไว้ พอถือได้ว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงการกระทำประทุษร้ายและสภาพความบาดเจ็บของผู้เสียหายไว้แล้วแสดงถึงเจตนาประสงค์ให้ศาลพิพากษาลงโทษ แม้ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาว่าจำเลยใช้อาวุธปืนตีทำร้ายผู้เสียหายแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงศีรษะผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่า แต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญเพราะเป็นเพียงข้อแตกต่างในวิธีการประทุษร้ายของจำเลยอาวุธที่จำเลยใช้ทำร้ายและตำแหน่งที่ผู้เสียหายรับบาดเจ็บก็ตรงตามฟ้อง และจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายรับอันตรายสาหัส ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน