แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เงินบำนาญเป็นเงินที่ทางราชการจ่ายให้แก่ข้าราชการผู้ที่พ้นจากราชการแล้วตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการเมื่อข้าราชการผู้นั้นมีคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายยังมีชีวิตอยู่จึงเป็นการได้เงินมาในระหว่างสมรส ย่อมถือว่าเงินบำนาญนั้นเป็นสินสมรส เมื่อนำเงินนั้นมาซื้อที่ดินและต่อมาได้ปลูกสร้างบ้านซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดินในระหว่างสมรส ที่ดินและบ้านจึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474(1) จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพร้อมบ้านสินสมรสให้จำเลยที่ 2โดยโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสไม่ได้ให้ความยินยอม ราคาที่ขายเป็นราคาถูกมาก และตามพฤติการณ์จำเลยที่ 2 ต้องทราบว่าจำเลยที่ 1กับโจทก์เป็นสามีภริยากัน จำเลยที่ 2 จึงรับโอนที่ดินพร้อมบ้านโดยไม่สุจริต โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันมีที่ดินเป็นสินสมรส 1 แปลงตามโฉนดเลขที่ 7934 พร้อมบ้านซึ่งปลูกในที่ดินนั้น จำเลยที่ 1 ขายที่ดินและบ้านดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2โดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ โดยจำเลยทั้งสองทราบดีว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นสินสมรส นิติกรรมการขายกระทำโดยไม่สุจริต ขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ระหว่างจำเลยที่ 1ผู้ขายกับจำเลยที่ 2 ผู้ซื้อดังกล่าวโดยให้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกลับคืนสู่สภาพเดิมก่อนการโอน
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า ที่ดินตามฟ้องไม่ใช่สินสมรสเพราะจำเลยที่ 1 ใช้เงินบำนาญซื้อมาและจำเลยที่ 1ได้กู้เงินจำเลยที่ 2 มาใช้ในการสร้างบ้าน จำเลยที่ 1 มีสิทธิขายที่ดินตามฟ้อง จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพร้อมบ้านโดยสุจริตขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในที่ดินโฉนดเลขที่ 7934 เล่ม 80 หน้า 34เลขที่ดิน 121 หน้าสำรวจ 952 ตำบลศิลาดาน อำเภอมโนรมย์จังหวัดชัยนาท ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่13 มกราคม 2530 ให้อยู่ในสภาพเดิมก่อนการโอน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลอุทธรณ์อนุญาต
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบและไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ในเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2511 จำเลยที่ 1 กับโจทก์ได้จดทะเบียนสมรสเป็นสามีภริยากัน ต่อมาในปี 2518 จำเลยที่ 1 ได้ลาออกจากราชการครูไปบวชเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2526 จำเลยที่ 1 ได้ซื้อที่ดินเนื้อที่ 1 ไร่ จากนางอู่ เกษสาคร ซึ่งได้แบ่งขายจากโฉนดที่ดินเดิม ตามภาพถ่ายหนังสือสัญญาแบ่งขายที่ดินเอกสารหมาย ล.1และต่อมาที่ดินแปลงดังกล่าวได้ออกโฉนดที่ดินใหม่เป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 7934 ตามภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.2 ในปี 2528 จำเลยที่ 1ได้ปลูกสร้างบ้านเลขที่ 57/1 ลงในที่ดินนั้น โดยเอาเงินบำนาญที่สะสมไว้ไปซื้อที่ดินและก่อสร้างบ้าน จำเลยที่ 1 สึกในปี 2529ต่อมาวันที่ 13 มกราคม 2530 ก่อนจำเลยที่ 1 ฟ้องหย่าโจทก์จำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา20,000 บาท ตามภาพถ่ายหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.3หรือ ล.3 โดยโจทก์ไม่ทราบ ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองข้อแรกมีว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 7934 พร้อมบ้านบนที่ดินเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเดิมจำเลยที่ 1 รับราชการเป็นครูต่อมาได้ลาออกจากราชการ ซึ่งจำเลยที่ 2เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ได้รับบำนาญจากทางราชการและได้เอาเงินบำนาญมาซื้อที่ดินจากนางอู่ และต่อมาได้ปลูกสร้างบ้านในที่ดินนั้นจำเลยทั้งสองฎีกาว่า เงินบำนาญเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1เมื่อจำเลยที่ 1 เอาเงินบำนาญมาซื้อที่ดินและก่อสร้างบ้านในที่ดินบ้านพร้อมที่ดินจึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 มิใช่สินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า เงินบำนาญเป็นเงินที่ทางราชการจ่ายให้แก่ข้าราชการผู้ที่พ้นจากราชการแล้วตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เมื่อข้าราชการผู้นั้นมีคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายยังมีชีวิตอยู่ จึงเป็นการได้เงินมาในระหว่างสมรสย่อมถือว่าเงินบำนาญนั้นเป็นสินสมรส ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 2528/2522ระหว่าง กระทรวงการคลัง โจทก์ นายหล บุนนาค จำเลย นางสวิงบุนนาค ผู้ร้อง ดังนั้นเงินบำนาญที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากทางราชการจึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 นำเงินนั้นมาซื้อที่ดินและต่อมาได้ปลูกสร้างบ้านซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดินในระหว่างสมรส เช่นนี้ ที่ดินและบ้านจึงเป็นสินสมรสตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่มาตรา 1474(1) ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น หาใช่สินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่
ปัญหาต่อมาตามฎีกาจำเลยทั้งสองมีว่า จำเลยที่ 2 ได้ซื้อที่ดินพร้อมบ้านจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตหรือไม่ โจทก์เบิกความว่าเมื่อจำเลยที่ 1 สึกแล้ว จำเลยที่ 2 มารับจำเลยที่ 1 ไปที่บ้านของตนและต่อมาจำเลยที่ 2 มาบอกให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยที่ 1แต่โจทก์ไม่ยอม เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้มาบอกกล่าวด้วยตนเองอีกทั้งโจทก์ไม่มีเรื่องโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2กลับเบิกความว่าไม่รู้จักโจทก์ เห็นว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1จดทะเบียนสมรสกันตั้งแต่ปี 2511 ในขณะที่จำเลยที่ 1 รับราชการเป็นครู ส่วนจำเลยที่ 2 ก็รับราชการเป็นครูจังหวัดเดียวกัน และเรียกจำเลยที่ 1 ว่าลุง เพราะมารดาจำเลยที่ 1 เป็นพี่สาวของยายจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงมีศักดิ์เป็นหลานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า หลังจากจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพร้อมบ้านจากจำเลยที่ 1 ไม่นาน จำเลยที่ 1 ได้ฟ้องขอหย่ากับโจทก์และในขณะที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพร้อมบ้านให้จำเลยที่ 2จำเลยที่ 1 มีอายุถึง 67 ปีแล้ว จำเลยที่ 1 ซึ่งเคยป่วยมาก่อนและอยู่ในวัยชราภาพอาจไม่มีผู้ดูแล จำเลยที่ 1 จึงมาอยู่ใกล้ชิดกับจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 1 ฟ้องขอหย่ากับโจทก์ จำเลยที่ 2น่าจะมีส่วนรู้เห็นด้วย กรณีจึงเป็นไปไม่ได้ที่จำเลยที่ 2จะไม่รู้จักโจทก์และไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 กับโจทก์จดทะเบียนสมรสเป็นสามีภริยากัน นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพร้อมบ้านให้จำเลยที่ 2 ในราคาเพียง 20,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ถูกมาก เพราะจำเลยที่ 2 เบิกความว่า เฉพาะค่าปลูกสร้างบ้านต้องใช้เงิน 30,000-40,000 บาท ดังนั้นที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพร้อมบ้านให้จำเลยที่ 2คงประสงค์ให้มีการโอนกรรมสิทธิ์หลุดพ้นจากจำเลยที่ 1 โดยมิได้คำนึงถึงราคาที่แท้จริง เมื่อจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพร้อมบ้านซึ่งเป็นสินสมรสให้จำเลยที่ 2 โดยโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสไม่ได้ให้ความยินยอมและตามพฤติการณ์ชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพร้อมบ้านโดยไม่สุจริต โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่มาตรา 1480 วรรคสองเดิม ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน