คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2761/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำนิติกรรมแทนโจทก์ที่ 2 การที่โจทก์ที่ 1 รับจำนองที่ดินจากจำเลยเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ที่จำเลยกู้ยืมไปจากโจทก์ที่ 2 เป็นการกระทำแทนโจทก์ที่ 2 แม้ตามหนังสือสัญญาจำนองระบุชื่อโจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับจำนองเท่านั้น โดยไม่ได้ระบุว่ากระทำการแทนโจทก์ที่ 2 ก็เป็นกรณีที่โจทก์ที่ 2 ตัวการซึ่งยังไม่เปิดเผยชื่อแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาจำนองซึ่งโจทก์ที่ 1 ได้ทำไว้แทนตน ซึ่งโจทก์ที่ 2 มีสิทธิกระทำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 และเป็นกรณีที่ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 798 วรรคหนึ่ง ที่การตั้งตัวแทนเพื่อทำสัญญาจำนองเป็นหนังสือ ดังนั้นแม้การตั้งตัวแทนของโจทก์ที่ 2 เพื่อทำสัญญาจำนองกับจำเลยจะมิได้ทำเป็นหนังสือ แต่เมื่อสิทธิของโจทก์ที่ 2 ตามสัญญาจำนองเป็นสิทธิที่มีอยู่ในฐานะตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 272,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสองจนครบ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 170,000 บาท นับแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจกท์ที่ 2 หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 4871 เลขที่ดิน 306 และโฉนดเลขที่ 4872 เลขที่ดิน 307 ตำบลมิตรภาพ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์ที่ 2 จนครบ ส่วนโจทก์ที่ 1 ให้ยกฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการกู้ยืมเงินและรับจำนอง ขณะที่จำเลยทำสัญญากู้ยืนเงินกับโจทก์ที่ 2 มีโจทก์ที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการมีอำนาจทำนิติกรรมแทนโจทก์ที่ 2 ได้ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2540 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ที่ 2 จำนวน 170,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุกเดือน กำหนดชำระหนี้เสร็จภายใน 1 ปี และได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 4871 เลขที่ดิน 306 และโฉนดเลขที่ 4872 เลขที่ดิน 307 ตำบลมิตรภาพ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เป็นประกันการกู้ยืมเงินดังกล่าวโดยในสัญญาจำนองระบุชื่อโจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับจำนองเท่านั้น ตามหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.1 เนื่องจากเอกสารเกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 ไม่ครบถ้วน หลังจากทำสัญญากู้ยืนเงินแล้วจำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ที่ 2 จนถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2544 คงค้างชำระดอกเบี้ยจำนวน 30,000 บาท และจำเลยมิได้ชำระต้นเงินให้แก่โจทก์ที่ 2 ตามกำหนด เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2544 โจทก์ที่ 2 มอบหมายให้นายชุบ ชัยฤทธิไชย ทนายความมีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวดังกล่าวแล้ว แต่มิได้ชำระหนี้แก่โจทก์ที่ 2
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงข้อเดียวว่า โจทก์ที่ 2 มีอำนาจฟ้องบังคับจำนองหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า สัญญาจำนองเป็นสัญญาที่ต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อทำสัญญาดังกล่าวจึงต้องทำเป็นหนังสือ การที่โจทก์ที่ 2 เชิดโจทก์ที่ 1 เป็นตัวแทนรับจำนองกับจำเลยโดยไม่ได้แต่งตั้งตัวแทนเป็นหนังสือโจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยนั้น เห็นว่า โจทก์ที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำนิติกรรมแทนโจทก์ที่ 2 การที่โจทก์ที่ 1 รับจำนองที่ดินจากจำเลยเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ที่จำเลยกู้ยืมไปจากโจทก์ที่ 2 เป็นการกระทำแทนโจทก์ที่ 2 แม้ตามหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.1 ระบุชื่อโจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับจำนองเท่านั้นโดยไม่ได้ระบุว่ากระทำการแทนโจทก์ที่ 2 ก็เป็นกรณีที่โจทก์ที่ 2 ตัวการซึ่งยังไม่เปิดเผยชื่อแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาจำนองซึ่งโจทก์ที่ 1 ได้ทำไว้แทนตน ซึ่งโจทก์ที่ 2 มีสิทธิกระทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 806 และเป็นกรณีที่ไม่อยู่ในบังคับของ มาตรา 798 วรรคหนึ่ง ที่การตั้งตัวแทนเพื่อทำสัญญาจำนองต้องทำเป็นหนังสือ ดังนั้น แม้การตั้งตัวแทนของโจทก์ที่ 2 เพื่อทำสัญญาจำนองกับจำเลยจะมิได้ทำเป็นหนังสือดังที่จำเลยฎีกา แต่เมื่อสิทธิของโจทก์ที่ 2 ตามสัญญาจำนองเป็นสิทธิที่มีอยู่ในฐานะตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 806 ดังกล่าวแล้ว โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 2 มีอำนาจฟ้องบังคับจำนองนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share