คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2633/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานหาใช่เป็นคดีละเมิดอย่างเดียวไม่ เพราะโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างลูกจ้างมีข้อมูลพันตามสัญญาจ้างแรงงานต่อกัน นอกจากจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์แล้วยังฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย และหนังสือรับรองและค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ถือเป็นข้อผูกพันของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อโจทก์จึงหมายถึงจำเลยที่ 2 ค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้างแรงงาน สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงาน ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 306,313.54 บาท โดยจำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท และให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 306,313.54 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัด
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณา โจทก์ขอสละข้อหาบางส่วน โดยขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในวงเงินไม่เกิน 37,000 บาท
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 306,313.54 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ โดยเป็นพนักงานขับรถยนต์ขนส่งผู้โดยสารมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 หากมีความเสียหายเกิดขึ้นจำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชดใช้แทนในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2534 จำเลยที่ 1 ได้ขับรถโดยสารของโจทก์โดยความประมาทแหกโค้งไปชนรถโดยสารของบริษัทนครชัยขนส่ง จำกัด ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทนครชัยขนส่ง จำกัด เป็นเงิน 136,000 บาท และต้องชดใช้ค่าเสียหายสำหรับหลักกั้นโค้งให้กรมทางหลวงเป็นเงิน 250 บาท ส่วนความเสียหายของโจทก์มีค่าลากรถจากที่เกิดเหตุมาเก็บไว้ที่สถานีตำรวจภูรธรรอำเภอเมืองอุตรดิตถ์เป็นเงิน 6,000 บาท ค่าลากรถคันเกิดเหตุจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองอุตรดิตถ์มายังบริษัทโจทก์ที่กรุงเทพมหานครเป็นเงิน 14,000 บาท ค่าซ่อมรถยนต์ของโจทก์เป็นเงิน 224,297 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 380,547 บาท ต่อมาโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ออกจากงานเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2535 จำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนคงเหลือ 306,313.54 บาท หลังจากจำเลยที่ 1 ออกจากงานแล้วจำเลยที่ 2 ได้ผ่อนชำระเงินให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2536 เรื่อยมาถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2538 เป็นเงินรวม 13,000 บาท จำเลยที่ 1 ในฐานะลูกจ้างโจทก์ได้ทำละเมิดในทางการที่จ้างและก่อให้เกิดความเสียหายจริงตามฟ้อง เห็นว่า คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานหาใช่เป็นคดีละเมิดอย่างเดียวไม่ เพราะโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างลูกจ้างมีข้อผูกพันตามสัญญาจ้างแรงงานต่อกัน นอกจากจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์แล้วยังฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วยและตามหนังสือรับรองและค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 2 ก็ระบุว่า “หากปรากฏว่าระหว่างที่จำเลยที่ 1 ทำงานได้ทำความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดให้แก่โจทก์ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นโดยเจตนาหรือประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดในความเสียหายนั้นๆ และยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามจำนวนที่เสียหายไปนั้นทั้งสิ้น รวมทั้งความเสียหายทั้งปวง ซึ่งโจทก์ต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ด้วย ภายในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท… และให้ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นลูกหนี้ร่วม…” ข้อผูกพันของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อโจทก์จึงหมายถึงจำเลยที่ 2 ค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้างแรงงานด้วย สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงาน ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 หาใช่ 1 ปี ตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไม่ มูลละเมิดระหว่างจำเลยที่ 1 และโจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานเกิดเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2534 จำเลยที่ 2 ได้ผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์รวมเป็นเงิน 13,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2536 ถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2538 อันเป็นการผ่อนชำระหนี้ขณะยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 10 ปี จึงมีผลทำให้อายุความในส่วนนี้สะดุดหยุดลงและเริ่มต้นนับใหม่ถัดจากวันผ่อนชำระหนี้โจทก์ครั้งสุดท้ายคือเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2538 โจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดวันที่ 9 ธันวาคม 2546 ยังไม่พ้น 10 ปี คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ แต่เนื่องจากจำเลยที่ 2 ได้ชำระหนี้ให้โจทก์ไปแล้ว 13,000 บาท คงเหลือเงินที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ในวงเงิน 37,000 บาท ซึ่งยังน้อยกว่าจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในวงเงิน 37,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดต่อโจทก์ชำระเงินจำนวน 37,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share