คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2759/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หนังสือรับรองการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่1ปรากฏข้อจำกัดอำนาจของหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่2ว่าในการทำนิติกรรมผูกพันกับบุคคลภายนอกจะต้องให้ผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นคือจำเลยที่3ที่4ยินยอมด้วยเป็นลายลักษณ์อักษรเสียก่อนเช่นนี้เป็นการแสดงออกให้เห็นว่าจำเลยที่3ที่4ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้สอดเข้าไปเกี่ยวข้องในการจัดการงานของห้างแล้วมีผลทำให้จำเลยทั้งสองต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างจำเลยที่1โดยไม่จำกัดจำนวนตามป.พ.พ.มาตรา1088 คำสั่งของศาลชั้นต้นให้งดสืบพยานเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาเมื่อนับจากวันที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าวจนถึงวันนัดฟังคำพิพากษาเป็นเวลาถึง20กว่าวันจำเลยไม่โต้แย้งคัดค้านคำสั่งดังกล่าวไว้จึงหมดสิทธิที่จะอุทธรณ์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด จำเลยที่ 3 และที่ 4เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด แต่ได้จดทะเบียนและแสดงออกต่อบุคคลภายนอกว่าจะรับผิดเสมือนหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดจำเลยทั้งสี่ร่วมกันซื้อเคมีภัณฑ์จากโจทก์ โดยจำเลยได้ออกเช็คเป็นการชำระหนี้ แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้จำนวน 113,625 บาท พร้อมกับดอกเบี้ยร้อยละ 18 ตามข้อตกลงนับจากวันผิดนัดจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด และไม่เคยแสดงต่อบุคคลภายนอกว่าจะรับผิดเสมือนเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด ดังนั้นหากจะรับผิดก็เพียงเท่าจำนวนหุ้นที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ลงไว้เท่านั้นขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน113,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ ให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ1,100 บาท
จำเลยที่ 3 ที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 800 บาท
จำเลยที่ 3 ที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…จำเลยฎีกาว่าจำเลยทั้งสองเป็นหุ้้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด การที่โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยต้องรับผิดโดยไม่จำกัดจำนวนนั้น เป็นการไม่ชอบสำหรับปัญหาดังกล่าวปรากฏตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 1ซึ่งสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครได้ออกให้แก่จำเลยตามเอกสารหมาย จ.3 ปรากฏข้อจำกัดอำนาจของหุ้นส่วนผู้จัดการคือจำเลยที่ 2 ว่า ในการนำนิติกรรมผูกพันกับบุคคลภายนอก จะต้องให้ผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นคือจำเลยที่ 3 ที่ 4ยินยอมด้วยเป็นลายลักษณ์อักษรเสียก่อน จากข้อจำกัดอำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการในลักษณะเช่นนี้จึงเป็นการแสดงออกให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้สอดเข้าไปเกี่ยวข้องในการจัดการงานของห้างหุ้นส่วน อันมีผลทำให้จำเลยทั้งสองต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวน ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1088 และเมื่อความรับผิดของจำเลยต้องเป็นไปตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ชัดแจ้งเช่นนี้แล้วก็ไม่จำต้องคำนึงว่าการแสดงเจตนายอมรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยไม่จำกัดจำนวนของจำเลยทั้งสองตามเอกสารหมาย จ.4 จะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่หรือการที่หุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดโดยไม่จำกัดจำนวนดังกล่าวจะมีผลทำให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดแปรสภาพเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญอันเป็นเรื่องผิดวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ย่อมไม่มีผลบังคับตามที่จำเลยฎีกาขึ้นมานั้น จึงไม่เป็นปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไป
สำหรับปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานจำเลยที่ 3 ที่ 4 แล้วนัดฟังคำพิพากษานั้น เป็นคำสั่งที่ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง จึงมิใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา แม้จำเลยมิได้โต้แย้งคำสั่งไว้ก็มีสิทธิอุทธรณ์ได้นั้น เห็นว่า ตราบใดที่ศาลยังมิได้อ่านคำพิพากษา คดีได้ชื่อว่ายังอยู่ระหว่างพิจารณาและปรากฏว่านับจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยจนถึงวันนัดฟังคำพิพากษา มีระยะเวลาห่างกันถึง 20 กว่ากันหากจำเลยไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว ก็ชอบที่จะโต้แย้งคัดค้านไว้ เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมายจึงหมดสิทธิที่จะอุทธรณ์…
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา1,000 บาทแทนโจทก์”.

Share