คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2759/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นายจ้างผู้ร่วมรับผิดกับลูกจ้างในกรณีละเมิดจะต้องเสียดอกเบี้ยค่าสินไหมทดแทนนับแต่วันละเมิดเช่นเดียวกับลูกจ้างผู้กระทำละเมิด
ผู้รับประกันวินาศภัยซึ่งเข้ารับช่วงสิทธิโดยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยซึ่งถูกกระทำละเมิดไปแล้วย่อมมีสิทธิขอให้คิดดอกเบี้ยในเงินจำนวนดังกล่าวจากผู้ละเมิดนับแต่วันที่ได้จ่ายเงินจำนวนนั้นไป จะขอให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันละเมิดไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกหมายเลขก.ท.02313 โจทก์ที่ 2 เป็นบริษัทจำกัด ประกอบกิจการรับประกันภัยจำเลยประกอบธุรกิจรับจ้างซ่อมเครื่องยนต์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม2510 โจทก์ที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยซ่อมรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 นายสนิทภุมรินทร์ ลูกจ้างจำเลยได้ทำการซ่อมให้โดยความประมาททำให้เกิดไฟไหม้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 เสียหาย โจทก์ที่ 2 ผู้รับประกันภัยได้จัดการซ่อมให้โจทก์ที่ 1 แล้วสิ้นเงิน 6,103 บาท โจทก์ที่ 2จึงรับช่วงสิทธิฟ้องคดีนี้ ระหว่างรถเข้าอู่ซ่อม 30 วันโจทก์ที่ 1ขาดผลประโยชน์วันละ 480 บาท รถเสื่อมราคาไป 20,000 บาท รวมค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องชดใช้ให้โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 40,503 บาทและดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันละเมิดจนถึงวันฟ้องคิดเป็นเงิน 3,038 บาท ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 43,531 บาท และดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงิน 40,503 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การปฏิเสธความรับผิด

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน8,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 6,103 บาท และชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2510 จนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น เว้นแต่ค่าซ่อมรถ เพราะโจทก์ที่ 2 คำนวณค่าซ่อมเกินไป 500 บาท ความจริงเป็นเงิน 5,603 บาท พิพากษาแก้ เป็นว่าให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 5,603 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2510 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ที่ 1 ผู้ได้รับความเสียหายจากการทำละเมิดฟ้องจำเลยในฐานะนายจ้างให้ร่วมรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 และในกรณีหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 จำเลยจึงต้องร่วมรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ที่ 1 เช่นเดียวกับลูกจ้าง ที่ศาลอุทธรณ์คิดดอกเบี้ยในค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ที่ 1 นับแต่วันทำละเมิดจึงถูกต้องแล้ว ส่วนโจทก์ที่ 2 เป็นผู้รับประกันวินาศภัย ปรากฏว่าได้จ่ายเงินค่าซ่อมรถไปตามใบรับเงิน เอกสารหมาย จ.10 เป็นเงิน2,173 บาท เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2510 และตามใบรับเงินเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 รวมเป็นเงิน 3,430 บาท เมื่อวันที่ 6 กันยายน2510 ย่อมถือได้ว่าโจทก์ที่ 2 ได้เข้ารับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ 1ในวันเวลาดังกล่าวแล้ว โจทก์ที่ 2 ชอบที่จะคิดดอกเบี้ยในจำนวนค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว นับแต่วันเวลาดังกล่าวแล้วข้างต้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้คิดดอกเบี้ยในค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 2นับแต่วันละเมิดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

จึงพิพากษาแก้ เฉพาะดอกเบี้ยในค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยต้องชำระให้โจทก์ที่ 2 เป็นให้จำเลยชำระในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงิน 2,173 บาท นับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2510 และเงิน 3,430 บาทนับแต่วันที่ 6 กันยายน 2510 จนกว่าจะชำระเงินเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ทั้งสองสองร้อยบาท

Share