แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่1ซึ่งเป็นข้าราชการสังกัดกองทัพอากาศและได้รับทุนให้เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศโดยทำสัญญาไว้ว่าจะกลับมารับราชการโดยไม่ลาออกหรือโอนไปรับราชการที่อื่นตามระยะเวลาที่กำหนดนั้นหากปรากฏว่าจำเลยที่1หนีราชการไปก่อนครบกำหนดระยะเวลาและกองทัพอากาศได้ปลดจำเลยที่1ออกจากราชการเนื่องจากเหตุดังกล่าวดังนี้ถือว่าจำเลยที่1ผิดสัญญาเพราะคำว่าหนีราชการเป็นถ้อยคำที่แสดงบ่งชัดให้เห็นอยู่ในตัวแล้วว่ามีเจตนาที่จะไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ราชการจึงจะอ้างว่ากองทัพอากาศปลดจำเลยที่1ออกเองจำเลยไม่ผิดสัญญาหาได้ไม่ เงินเดือนที่จำเลยที่1ได้รับในระหว่างไปศึกษาต่างประเทศนั้นอยู่ในความหมายของคำว่าเงินรายเดือนที่ทางราชการได้จ่ายให้เนื่องในการเดินทางและศึกษาตามข้อสัญญาที่จำเลยที่1ทำให้ไว้แก่โจทก์และยอมชดใช้ในกรณีผิดสัญญาจึงนำเงินเดือนมารวมคำนวณคิดเป็นค่าปรับได้ การที่จำเลยที่1ได้รับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ2ครั้งในระหว่างที่ปฏิบัติราชการชดใช้ทุนการศึกษาของโรงเรียนจ่าอากาศยังไม่ครบกำหนดระยะเวลาโดยมีข้อสัญญาว่าจะยอมปฏิบัติราชการชดใช้ทุนที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศต่อจากสัญญาฉบับอื่นนั้นจำเลยที่1จะต้องปฏิบัติราชการชดใช้ทุนการศึกษาของโรงเรียนจ่าอากาศก่อนจากนั้นจึงนับระยะเวลาการปฏิบัติราชการเพื่อชดใช้ทุนในการไปศึกษาต่อต่างประเทศครั้งที่1และครั้งที่2ต่อจากระยะเวลาที่ครบกำหนดการปฏิบัติราชการชดใช้ทุนการศึกษาของโรงเรียนจ่าอากาศตามลำดับ โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่2ที่3รับผิดร่วมกับจำเลยที่1ในหนี้คนละจำนวนจำเลยที่2ที่3จึงควรรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมตามส่วนที่ตนต้องรับผิดตามฟ้อง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการในสังกัดกองทัพอากาศและจำเลยที่ 1 ได้รับทุนให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ 2 ครั้ง โดยได้ทำสัญญาของผู้รับทุนโดยได้รับเงินเดือนเต็มให้ไว้แก่โจทก์ว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะกลับเข้าอยู่รับราชการในกองทัพอากาศเป็นเวลา 2 เท่า ของเวลาที่เดินทางไปศึกษาทั้งหมดแต่ต้องไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือไม่เกิน 10 ปี หากผิดสัญญาจะยอมชดใช้เงินเป็น 3 เท่าของเงินเดือนและค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นที่ทางราชการได้จ่ายให้เนื่องจากการเดินทางและศึกษา ซึ่งมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศแล้วกลับมารับราชการใช้ทุนการศึกษาดังกล่าวยังไม่ครบกำหนดระยะเวลาก็หนีราชการไป เป็นการผิดสัญญา ขอบังคับให้จำเลยที่ 1ที่ 2 ร่วมกันชดใช้เงิน 63,472.59 จำเลยที่ 1 ที่ 3 ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 165,490.38 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ลาออกหรือโอนไปทำงานที่อื่นเหตุที่จำเลยที่ 1 รับราชการไม่ครบตามสัญญาเกิดจากความผิดของโจทก์เองที่ไล่จำเลยที่ 1 ออกจากราชการเสียก่อน และโจทก์เรียกร้องค่าปรับสูงเกินความเสียหายที่แท้จริง
ระหว่างสืบพยานโจทก์ คู่ความขอให้ศาลวินิจฉัยในประเด็นที่ตกลงรับกัน และแถลงไม่สืบพยานต่อไป
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่า มีการทำสัญญาผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามไว้ตามฟ้อง ในข้อฎีกาของจำเลยทั้งสามในประเด็นที่ว่า การที่จำเลยที่ 1 ถูกกองทัพอากาศให้ออกจากราชการเนื่องจากหนีราชการ เป็นการผิดสัญญาไม่ทำงานชดใช้ทุนให้กองทัพอากาศตามสัญญาเดินทางไปดูงานหรือศึกษาในต่างประเทศหรือไม่ ตามสัญญษซึ่งจำเลยที่ 1 ทำไว้แก่กระทรวงกลาโหมเอกสารหมาย จ.1 และ จ.3 ข้อ 4 ความว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ได้ศึกษาครบตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนดไว้ และเมื่อกระทรวงกลาโหมเรียกจำเลยที่ 1 กลับเข้ารับราชการแล้วจำเลยที่ 1สัญญาว่าจะอยู่รับราชการในกระทรวงกลาโหมเป็นเวลา 2 เท่าของเวลาที่ได้เดินทางไปศึกษาทั้งหมด แต่ไม่น้อยกว่า 3 ปี เป็นอย่างน้อยหรือครบ 10 ปี เป็นอย่างมาก นับแต่กลับมารับราชการในกระทรวงกลาโหมหรือในกรณีที่ยังรับราชการชดใช้ตามสัญญาฉบับอื่นที่ทำไว้กับทางราชการอยู่ก่อนแล้วยังไม่ครบกำหนด ให้นับต่อจากวันครบกำหนดตามสัญญาฉบับนั้น ๆ เป็นต้นไป ภายในเวลาที่กล่าวโดยจำเลยที่ 1 จะไม่ลาออกหรือโอนไปทำงานที่อื่นนั้น มีความหมายอยู่ว่าจำเลยที่ 1 จะต้องอยู่รับราชการและปฏิบัติหน้าที่ชดใช้ทุนให้แก่กองทัพอากาศตามระยะเวลาและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ดังกล่าวเมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 หนีราชการ ซึ่งคำว่า หนีราชการ เป็นถ้อยคำที่แสดงบ่งชัดให้เห็นอยู่ในตัวว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้แก่กองทัพอากาศ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา และการที่กองทัพอากาศให้จำเลยที่ 1 ออกจากราชการก็เป็นผลเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 หนีราชการ จำเลยที่ 1จึงจะอ้างว่ากองทัพอากาศปลดจำเลยที่ 1 ออกเอง อันไม่เป็นการผิดสัญญาหาได้ไม่
สำหรับประเด็นข้อที่ 2 ที่ว่า การที่โจทก์นำเงินเดือนที่จำเลยที่ 1 ได้รับในระหว่างรับทุนไปศึกษาต่างประเทศมารวมคิดเป็นค่าปรับตามสัญญาเป็นการไม่ชอบนั้น ตามสัญญาข้อ 6 เอกสารหมาย จ.1 และ จ.3ระบุไว้มีใจความว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดสัญญาข้อ 4 จำเลยที่ 1ยอมใช้เป็นเงิน 3 เท่าของเงินรายเดือนและค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นที่ทางราชการได้จ่ายให้เนื่องในการเดินทางและศึกษาของจำเลยที่ 1ให้โจทก์ครบถ้วนทันทีเมื่อใดรับการทวงถาม เห็นว่า การที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ไปศึกษาต่างประเทศโดยได้รับเงินเดือนนั้นก็โดยมีเจนาที่จะให้จำเลยที่ 1 นำความรู้กลับมาปฏิบัติราชการให้โจทก์ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไปศึกษาต่างประเทศโดยมิได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้แก่โจทก์ตามหน้าที่ที่ต้องกระทำ โจทก์ก็ยังจ่ายเงินเดือนประจำเดือนให้จำเลยที่ 1 เช่นนี้ ถือได้ว่าเงินเดือนที่โจทก์จ่ายให้จำเลยที่ 1 ในระหว่างไปศึกษาต่างประเทศเป็นเงินรายเดือนที่จ่ายให้เนื่องในการเดินทางและศึกษาตามความหมายในสัญญาข้อ 6ดังกล่าว จึงต้องนำเงินเดือนที่จำเลยที่ 1 รับไปในระยะเวลาที่ไปศึกษาต่างประเทศทั้ง 2 ครั้ง มารวมในการคำนวณค่าปรับด้วย…
ส่วนประเด็นข้อ 3 ที่ว่า จะเริ่มนับระยะเวลาในการที่จะนำมาคำนวณคิดค่าปรับได้ตั้งแต่เมื่อใดได้ความว่า…ระเบียบกองทัพอากาศว่าด้วยนักเรียนจ่าอากาศ พ.ศ. 2500 มีว่า เมื่อจำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนดังกล่าวแล้วจะต้องรับราชการชดใช้ให้โจทก์เป็นเวลา 6 ปี และจำเลยที่ 1 ได้เซ็นให้ความยินยอมในเรื่องนี้ให้กับโจทก์ไว้แล้วเมื่อเข้าเป็นนักเรียนจ่าอากาศจึงฟังว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาให้เกิดความผูกพันต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขนี้ และได้ความต่อไปอีกว่าในตอนที่จำเลยที่ 1 ไปศึกษาที่ต่างประเทศครั้งแรก ยังปฏิบัติราชการชดใช้ทุนการศึกษาโรงเรียนจ่าอากาศไม่ครบ 6 ปี ทั้งปรากฏตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 และ จ.3ข้อ 4 ว่า จำเลยที่ 1 ยอมปฏิบัติราชการชดใช้ทุนที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศต่อจากสัญญาฉบับอื่น คือสัญญาปฏิบัติราชการชดใช้ทุนตอนเรียนในโรงเรียนจ่าอากาศนั่นเอง ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1กลับมาจากการไปศึกษาต่างประเทศครั้งแรก ก็ต้องปฏิบัติราชการชดใช้ทุนเดิมที่ยังไม่ครบ 6 ปีก่อน จากนั้นจึงนับระยะเวลาการปฏิบัติราชการเพื่อชดใช้ทุนในการไปศึกษาต่างประเทศครั้งที่ 1และครั้งที่ 2 ต่อจากระยะ 6 ปีตามลำดับ การนับระยะเวลาในการคำนวณค่าปรับจึงถูกต้องแล้ว จำเลยทั้งสามต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ดังฟ้อง…
สำหรับที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมนั้นปรากฏว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ที่ 3รับผิดในหนี้คนละจำนวน จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงควรรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมตามส่วนที่ตนต้องรับผิดตามฟ้อง
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา3,000 บาทแทนโจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมรับผิดจำนวน1,000 บาท และ 2,000 บาทตามลำดับ ส่วนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นนั้น ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมรับผิดตามจำนวนทุนทรัพย์ที่แต่ละคนจะต้องชำระให้โจทก์และร่วมรับผิดในค่าทนายความในศาลชั้นต้น 1,000 บาท และ 2,000 บาท ตามลำดับ”.