แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
หนังสือนำส่งเงินพิมพ์ 2 ครั้ง ครั้งแรกระบุจำนวนเงิน 350,009 บาท ครั้งที่ 2 จำนวนเงิน 370,009 บาทผู้พิมพ์ฉีกทำลายต้นฉบับและสำเนาสลับกัน แล้วนำเสนอจำเลยซึ่งเป็นสมุห์บัญชีประจำกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดลงชื่อโดยมิได้ตรวจสอบว่าต้นฉบับกับสำเนาตรงกันหรือไม่เป็นเหตุให้มีเงินเกินอยู่ที่จำเลย 20,000 บาท ตรวจไม่พบว่าเป็นเงินประเภทใดและเกิดการผิดพลาดด้วยเหตุใดรุ่งขึ้นได้รายงานให้รองผู้กำกับการตำรวจภูธรทราบ แต่ไม่ได้นำเงินเก็บไว้ในเซฟ ผิดระเบียบของทางราชการจำเลยไม่แจ้งให้พนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่มาตรวจนับตัวเงินให้ทราบว่ามีเงินเกินบัญชีอยู่ที่จำเลย แต่แจ้งให้ทราบในวันที่มาตรวจสอบบัญชี เมื่อจำเลยเก็บเงินไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานโดยไม่ปรากฏว่าได้เอาเงินนั้นไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยมิชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นแต่อย่างใด จึงไม่พอฟังว่าจำเลยเบียดบังเงินนั้นเป็นของตนโดยทุจริต ไม่มีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 จำคุก 10 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานรับราชการในตำแหน่งสมุห์บัญชีประจำกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2519 นายนิวัธน์ วัธนากับพวก ซึ่งเป็นพนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 7 ได้ทำการตรวจสอบนับตัวเงินที่กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรี ปรากฏว่ามีเงินสดคงเหลือจำนวน350,601 บาท 65 สตางค์ ตรงตามบัญชีเงินสด ได้ทำหลักฐานใบตรวจนับตัวเงิน ไว้ตามเอกสารหมาย ป.จ.1 หลังจากนั้นได้ทำการตรวจสอบบัญชีผลการสอบได้พบว่าในบัญชีเงินสดของวันที่ 11 มีนาคม 2519 ได้ลงจ่ายค่าภาษีรถยนต์นำส่งจังหวัดจำนวน 370,009 บาท แต่ตามหนังสือที่ทำการปกครองจังหวัดราชบุรีที่ ร.บ. 19/6907 ลงวันที่ 9 เมษายน 2519 ตอบรับว่าได้รับเงินจำนวน 350,009 บาท ปรากฏตามเอกสารหมาย ป.จ. 4 และในใบเสร็จรับเงินของจังหวัดตามเอกสารหมาย ป.จ. 6 ก็ระบุว่ารับเงินไว้ 350,009บาท อันเป็นการลงบัญชีจ่ายเงินสดอออกจากบัญชีเกินจากหลักฐานการนำส่งไป 20,000 บาท กรรมการตรวจเงินแผ่นดินจึงได้ทำบันทึกสอบถามจ่าสิบตำรวจเสริม เจริญรักษา ซึ่งมีหน้าที่ลงบัญชีเงินสด และบัญชีย่อย จ่าสิบตำรวจเสริม เจริญรักษา ได้ให้คำชี้แจงไว้ปรากฏตามเอกสารหมาย ป.จ. 7 และได้ตรวจดูสำเนาหนังสือนำส่งเงินที่ ร.บ. 17/2379 ลงวันที่ 10 มีนาคม 2519 ตามเอกสารหมาย ป.จ. 3 พบว่าได้นำเงินค่าภาษีรถยนต์จำนวน 370,009 บาท โดยจำเลยซึ่งเป็นสมุห์บัญชีปฏิบัติราชการแทนผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรีเป็นผู้ลงนามและได้ไปตรวจดูต้นฉบับหนังสือนำส่งเงินที่ร.บ. 17/2379 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2519 ที่ปกครองจังหวัดราชบุรี พบว่านำส่งเงินเพียง 350,009 บาทโดยจำเลยลงนามแทนผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรีเช่นกัน ปรากฏตามเอกสารหมาย ป.จ. 4 วันที่ 10 สิงหาคม2519 กรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ทำบันทึกสอบถามจำเลย จำเลยชี้แจงว่าเมื่อเจ้าพนักงานที่พิมพ์หนังสือนำส่งผู้ว่าราชการจังหวัด จำเลยเจ้าใจว่าคงพิมพ์เป็น 2 ครั้ง โดยครั้งแรกพิมพ์เป็นนำส่งเงินเพียง 350,009 บาท แล้วจึงพิมพ์ใหม่เป็นครั้งที่ 2 นำส่งเงิน 370,009 บาท แต่เมื่อเจ้าพนักงานผู้ที่พิมพ์ได้ฉีกทำลายหนังสือฉบับแรกทิ้งนั้นคงได้ฉีกทำลายผิดพลาดแล้วนำเสนอให้จำเลยลงชื่อ จำเลยได้ลงชื่อในหนังสือนั้นโดยมิได้สอบว่าสำเนาตรงกับต้นฉบับหรือไม่ หนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนำส่งเงินฉบับที่ ร.บ. 17/2379 ต้นฉบับกับสำเนาจึงไม่ตรงกัน เมื่อต้นฉบับหนังสือกล่าวลงจำนวนเงินไว้ 350,009 บาทจำเลยจึงได้รวมถึงจำนวนนี้มอบให้ร้อยตำรวจโทสมาน กาญจนะวสิต นำส่งธนาคารกรุงไทยจำกัดเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเช็คธนาคารแห่งประเทศไทย แล้วนำส่งผูว่าราชการจังหวัดตามหนังสือนำส่งฉบับดังกล่าว โดยจำเลยมิได้ตรวจสอบ สมุดเงินสดที่ได้ลงจ่ายไว้แล้วและจำไม่ได้ด้วยว่าในสมุดเงินสดได้ลงจ่ายไว้แล้วนั้นเป็นเงิน 370,009 บาท ตอนหัวค่ำของวันนั้นจึงพบว่ามีเงินเกินอยู่ที่จำเลย 20,000 บาท ตรวจบัญชีและสมุดเงินสดที่ลงจ่ายไว้จำนวนเงินก็ตรงกับสำเนาหนังสือที่นำส่งผู้ว่าราชการจังหวัดคือ 370,009 บาท จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าจำเลยได้ส่งเงินไป 370,009 บาท ตามที่ตกลงจ่ายไว้และตามสำเนาหนังสือที่เก็บไว้ที่จำเลย จำเลยจึงได้ทำการตรวจสอบหลักฐานและบัญชีต่าง ๆ จนดึกก็พบว่าเงิน 20,000 บาทที่เกินนั้นเป็นเงินประเภทใดและเกิดการผิดพลาดขึ้นด้วยเหตุใด รุ่งขึ้นจำเลยจึงได้รายงานให้พันตำรวจโทพินิจ ศรีพูนภักตร์ทราบโดยสุจริตว่าไม่ทราบว่าเงินอะไร ส่วนเงิน 20,000 บาทนั้น จำเลยเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานของจำเลยไม่ได้นำไปใช้ส่วนตัวแต่อย่างใด คำชี้แจงของจำเลยดังกล่าวปรากฏอยู่ในจดหมายบันทึกของกรรมการตรวจเงินแผ่นดินตามเอกสารหมาย ป.จ. 8
คดีคงมีปัญหาตามข้อฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้เบียดบังเอาเงิน20,000 บาทดังกล่าวข้างต้นเป็นของตนโดยทุจริตหรือไม่
ศาลฎีกาตรวจดูสำเนาเอกสารหมาย ป.จ. 3 กับต้นฉบับหนังสือตามเอกสารหมาย ป.จ. 4 แล้ว เห็นว่าเป็นหนังสือที่พิมพ์ คนละชุดกันแสดงว่ามีการพิมพ์ 2 ครั้งจริง ได้ความจากคำเบิกความของพยานโจทก์เองคือพันตำรวจเอกพินิจ ศรีพูนภักตร์ ซึงขณะเกิดเหตุเป็นรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรี เบิกความยืนยันว่าจำเลยได้รายงานให้พยานทราบเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2519 ว่ามีเงินเกินบัญชีอยู่ 20,000 บาท ตามรายงานเอกสารหมาย ป.จ. 9 พยานจึงได้สั่งให้จำเลยตรวจบัญชีให้แน่นอนว่าเป็นเงินประเภทใด และให้นำเงินเก็บไว้ในเซฟ และพันตำรวจตรีสมาน กาญจนะวสิต ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นผู้ช่วยสมุห์บัญชีกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรีและเป็นผู้นำส่งเงินเบิกความว่าพยานเข้าใจว่าเหตุที่ต้นฉบับหนังสือและสำเนาหนังสือนำส่งเงินจำนวนไม่ตรงกันเพราะว่ามีการพิมพ์ 2 ครั้ง เนื่องจากผิดพลาดแต่เวลาทำลายเอกสาร ทำลายสลับกันเอาต้นฉบับของชุดหนึ่งและสำเนาของอีกชุดหนึ่งมาให้จำเลยลงชื่อ และเบิกความยืนยันว่าในวันที่นายพยอมพนักงานตรวจเงินแผ่นดินมาตรวจรายละเอียดตอนเช้า จำเลยป่วยเข้าโรงพยาบาลจำเลยให้พยานรักษาการแทนและบอกพยานว่ามีเงินเกินอยู่ 20,000 บาท เก็บอยู่ในลิ้นชักโต๊ะทำงานของจำเลยยังตรวจไม่พบว่าเป็นเงินประเภทไหน ถ้าเจ้าหน้าที่ตรวจเงินแผ่นดินตรวจพบก็ให้เอาเงินเข้าบัญชีให้ด้วย ได้ความดังนี้เมื่อพิจารณาประกอบกับคำชี้แจงของจำเลยที่ให้ไว้แก่กรรมตรวจเงินแผ่นดินตามเอกสารหมาย ป.จ. 8 ดังกล่าวข้างต้นแล้ว เชื่อได้ว่าได้มีการฉีกทำลายต้นฉบับและสำเนาหนังสือสลับกันแล้วเจ้าหน้าที่ได้นำเสนอจำเลยและจำเลยได้ลงชื่อไปโดยมิได้ตรวจสอบว่าต้นฉบับกับสำเนาตรงกันหรือไม่ จึงเป็นเหตุให้มีเงินเกินอยู่จำเลยที่ 20,000 บาท และจำเลยได้รายงานให้พันตำรวจโทพินิจ ศรีพูนภักตร์ รองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรี (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) ทราบแล้ว แต่จำเลยไม่ได้นำเงิน 20,000 บาทนั้นเก็บไว้ในเซฟตามระเบียบของทางราชการ คงเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานของจำเลยตลอดมาและไม่ได้แจ้งให้พนักงานตรวจเงินแผ่นดินทราบในวันที่มาตรวจนับเงินในเซฟ แต่แจ้งให้ทราบในวันที่พนักงานตรวจเงินแผ่นดินมาตรวจสอบบัญชี ข้อเท็จจริงเชื่อได้ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยลงชื่อในหนังสือนำส่งเงินโดยมิได้ตรวจสอบว่าต้นฉบับกับสำเนาตรงกันหรือไม่ เป็นเพียงจำเลยบกพร่องในหน้าที่ และการที่จำเลยไม่เก็บเงิน 20,000 บาทนั้นไว้ในเซฟก็เป็นเพียงจำเลยกระทำผิดระเบียบของทางราชการเท่านั้น ส่วนที่จำเลยละเลยไม่แจ้งให้พนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่มาตรวจนับเงินให้ทราบว่ามีเงินเกินบัญชีอยู่ที่จำเลย 20,000 บาท ก็ปรากฏว่าจำเลยได้เก็บเงิน 20,000 บาทนั้นไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานของจำเลยตลอดมาโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เอาเงิน 20,000 บาทนั้นไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยมิชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นแต่อย่างใด จึงไม่พอฟังว่าจำเลยได้เบียดบังเอาเงิน 20,000 บาทนั้นเป็นของตนโดยทุจริตดังโจทก์ฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์