คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2754/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์ได้บรรยายแล้วว่า ส.ลูกจ้างโจทก์ปล่อยปละละเลยไม่กระทำการตามหน้าที่อย่างไร ผิดข้อบังคับอย่างไร และจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างไร ซึ่งเป็นเหตุให้สินค้าของโจทก์ขาดหรือสูญหายไป ซึ่งจำเลยผู้ค้ำประกันการทำงานของ ส.ต้องรับผิด ดังนี้ ฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
โจทก์ฟ้อง ส.กับพวกในคดีของศาลแรงงานกลาง โดยบรรยายฟ้องว่า ส.กับพวกเป็นลูกจ้างของโจทก์ตำแหน่งผู้จัดการ มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการกิจการและดำเนินงานของโจทก์ ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับและคำสั่งของโจทก์ ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กล่าวคือ มีหน้าที่เก็บรักษาตรวจสอบ จัดทำทะเบียนคุมสินค้าและวัสดุของโจทก์ตามระเบียบข้อบังคับ แต่หาได้ปฏิบัติเช่นนั้นไม่ เป็นเหตุให้สินค้าและวัสดุของโจทก์ขาดหรือสูญหายไป นับว่าเป็นมูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน หาใช่เป็นมูลละเมิดอย่างเดียวไม่ แต่มีมูลเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานรวมอยู่ด้วย เมื่อสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป คือ อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/30
เมื่อคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ประชุมมีมติให้ ส.ใช้บุคคลค้ำประกันเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะจัดหาที่ดินมาจำนองเป็นประกันแทน ต่อมา ส.ได้จัดหาที่ดินมาจำนองแล้วโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้นำที่ดินมาจำนอง ดังนั้น สัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์ย่อมสิ้นความผูกพันนับแต่จำเลยที่ 2 นำที่ดินมาจำนองจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์

Share