แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้เสียหายแจ้งให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม ส.เมื่อจำเลยจับตัว ส.ได้แล้วจำเลยมีหน้าที่ต้องรีบนำตัวส.ส่งพนักงานสอบสวนทันทีโดยไม่ชักช้า การที่จำเลยยอมให้ ส.แวะพบญาติแล้วเป็นเหตุให้ ส. หลบหนีไปในระหว่างควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน ถือว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายและกรมตำรวจ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจับกุมและควบคุมตัวนางสมจิตรไว้แล้วมิได้นำตัวนางสมจิตรส่งพนักงานสอบสวนในทันที กลับปล่อยให้นางสมจิตรหลบหนีไปได้ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่นางสุดาวดีหรือสุภาวดี กรมตำรวจ และกระทรวงมหาดไทย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 1 ปี แต่ให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2531 นางสุดาวดีหรือสุภาวดี แสงชมภูผู้เสียหาย ได้ไปพบจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำป้องยามน้ำเชี่ยว ตำบลน้ำเชี่ยว อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด ขอให้จำเลยทำการสืบสวนหาตัวและจับกุมตัวนางสมจิตร หมัดหนักหรือหมัดหนับซึ่งเป็นคนร้ายลักทรัพย์ของผู้เสียหายที่กรุงเทพมหานคร แล้วหลบหนีมาอยู่ในท้องที่ดังกล่าว โดยผู้เสียหายได้มอบภาพถ่ายของนางสมจิตรและภาพถ่ายรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีที่ผู้เสียหายได้แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับนางสมจิตรไว้ด้วย ต่อมาเมื่อวันที่ 3พฤศจิกายน 2531 จำเลยกับสิบตำรวจเอกจำลอง บำรุงเพชรจับกุมตัวนางสมจิตรได้ที่วัดน้ำเชี่ยว แล้วจำเลยกับสิบตำรวจเอกจำลองควบคุมตัวนางสมจิตรเพื่อส่งให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอแหลมงอบ ระหว่างทางจำเลยและสิบตำรวจเอกจำลองยอมให้นางสมจิตรแวะพบญาติแล้วหลบหนีไป ปัญหาวินิจฉัยมีว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยกับพวกจับกุมตัวนางสมจิตรได้แล้ว จำเลยกับพวกมีหน้าที่จะต้องรีบนำตัวนางสมจิตรไปส่งต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอแหลมงอบทันทีโดยไม่ชักช้า การที่จำเลยกับพวกยอมให้นางสมจิตรไปพบญาติที่บ้านญาติของนางสมจิตรจนเป็นเหตุให้นางสมจิตรหลบหนีไปได้ ทั้งจำเลยไม่ได้แจ้งเหตุที่เกิดขึ้นให้ร้อยเวรสอบสวนทราบในวันนั้น โดยอ้างว่าผู้บังคับบัญชาไปราชการที่อื่นเป็นการส่อพิรุธเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจโทวินัย นุชชา พยานโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอแหลมงอบว่า ในวันเกิดเหตุพยานได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นนายร้อยเวรสอบสวนอยู่ที่สถานีตำรวจดังกล่าวตั้งแต่เวลา 8 นาฬิกา จนถึงเวลา 8 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้นพยานรู้จักจำเลยนี้ ในวันเกิดเหตุจำเลยไม่ได้ควบคุมตัวบุคคลใดมาที่สถานีตำรวจทั้งไม่ได้แจ้งต่อพยานว่ามีผู้ต้องหาหลบหนีด้วยข้ออ้างของจำเลยที่ว่านางสมจิตรขอเข้าห้องน้ำแล้วถือโอกาสหลบหนีไปนั้นจึงไม่น่าเชื่อถือ ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และกรมตำรวจนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน