คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2754/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “หัตถกรรม” นั้น ประกอบคำว่า “โรงงาน” เพื่อให้ทราบว่าบุคคลจำพวกที่ 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 (9) นี้ หมายถึงผู้ที่ทำงานประจำสถานที่ที่เรียกว่าโรงงานหัตถกรรมเท่านั้น ไม่รวมถึงสถานที่อย่างอื่นด้วย คำว่า “หัตถกรรม” หรือแม้กระทั่งคำว่า “โรงงานหัตถกรรม” หาได้ประกอบคำว่า “คนงาน” “ผู้ช่วยงาน” หรือ “ลูกมือฝึกหัด” ด้วยไม่
การที่ลูกจ้างเรียกร้องเอาค่าล่วงเวลาจากนายจ้าง โดยอ้างว่าจ่ายให้ต่ำกว่าจำนวนที่จะต้องจ่ายเช่นนี้ มีกำหนดอายุความสองปี ตามมาตรา 165 (9) เพราะถือได้ว่าเป็นกรณีคนงานเรียกร้องเอาเงินจ้าง และค่าล่วงเวลานี้ แม้จะมีกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลาแต่จำนวนเงินที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างแต่ละคนไม่แน่นอน บางเดือนมากบางเดือนน้อยไม่เท่ากัน จึงมิใช่เงินประเภทที่บัญญัติในมาตรา 166

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ให้โจทก์ทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ (เสาร์-อาทิตย์) และวันหยุดตามประเพณีนิยม กับทำงานล่วงเวลาในวันหยุดและวันทำการปกติ โดยไม่จ่ายค่าแรงในการทำงานในวันหยุดและในการทำงานล่วงเวลา ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด กับค่าล่วงเวลาในวันหยุด พร้อมดอกเบี้ยฯลฯ
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เงินค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ตามฟ้อง จำเลยจ่ายให้โจทก์เป็นการตอบแทนการทำงานในลักษณะที่ไม่แน่นอน และจำนวนเงินที่ได้รับแต่ละครั้งอาจมากน้อยแตกต่างกัน จึงมีอายุความเพียง ๒ ปี คดีโจทก์ขาดอายุความ ฯลฯ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ค่าล่วงเวลาเช่นกรณีแห่งคดีนี้เป็นค่าจ้างหรือเงินจ้าง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕ (๙) ซึ่งมีอายุความ ๒ ปี จึงขาดอายุความแล้ว ฯลฯ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คำว่า “หัตถกรรม” นั้น ประกอบคำว่า “โรงงาน” เพื่อให้ทราบว่าบุคคลจำพวกที่ ๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕ (๙) นี้ หมายถึงผู้ที่ทำงานประจำสถานที่ที่เรียกว่าโรงงานหัตถกรรมเท่านั้น ไม่รวมถึงสถานที่อย่างอื่นด้วย คำว่า “หัตถกรรม” หรือแม้กระทั่งคำว่า “โรงงานหัตถกรรม” หาได้ประกอบคำว่า “คนงาน” “ผู้ช่วยคนงาน” หรือ “ลูกมือฝึกหัด” ด้วยไม่ จะเห็นได้ว่า ถ้าบุคคล ๔ จำพวกแรกต้องเป็นคนงานประจำโรงงานหัตถกรรมแล้ว เหตุไฉนบุคคลอีก ๒ จำพวก คือกรรมกรรายวันและช่างฝีมือ จึงไม่ต้องอยู่ในข้อจำกัดเช่นนั้นบ้าง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างเรียกร้องเอาค่าล่วงเวลาจากจำเลยผู้เป็นนายจ้าง โดยอ้างว่าจ่ายให้ต่ำกว่าจำนวนที่จะต้องจ่ายเช่นนี้ มีกำหนดอายุความสองปีตามมาตรา ๑๖๕ (๙) เพราะถือได้ว่าเป็นกรณีคนงานเรียกร้องเอาเงินจ้าง และค่าล่วงเวลานี้แม้จะมีกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา คือจ่ายในวันที่ ๑๖ ของทุกๆ เดือน แต่จำนวนเงินที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างแต่ละคนก็ไม่แน่นอน บางเดือนมากบางเดือนน้อยไม่เท่ากัน แล้วแต่ว่าเดือนใดจะมีการทำงานล่วงเวลามากหรือน้อยเพียงใด จึงมิใช่เงินประเภทที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๖
พิพากษายืน

Share