คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2752/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2545 แต่วันครบกำหนดฎีกาตรงกับวันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม 2545 จำเลยจึงมีสิทธิยื่นฎีกาในวันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม 2545 และแม้จำเลยยื่นคำแถลงขอถ่ายคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2545 และได้รับเอกสารที่ขอถ่ายในวันที่ 27 มิถุนายน 2545 ก็ตาม แต่เมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่จำเลยได้รับเอกสารที่ขอถ่ายจนถึงวันที่จำเลยมีสิทธิยื่นฎีกาแล้วปรากฏว่ายังมีเวลาเหลืออยู่อีก 18 วัน ซึ่งอยู่ในวิสัยที่จะทำคำฟ้องฎีกายื่นต่อศาลได้ทัน ที่จำเลยอ้างเหตุในการขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาว่า ทนายจำเลยได้ศึกษาข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์แล้วปรากฏว่ามีหลายประเด็นที่แตกต่างไปจากข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้นซึ่งทนายจำเลยต้องทำรายงานเสนอคณะกรรมการบริษัทจำเลยพิจารณาอนุมัติยื่นฎีกา ระยะเวลาที่เหลืออยู่ไม่เพียงพอที่คณะกรรมการบริษัทจำเลยจะพิจารณาอนุมัติยื่นฎีกาและทนายจำเลยไม่สามารถจัดทำฎีกายื่นต่อศาลได้ทันนั้น ก็ไม่ปรากฏว่านับแต่วันที่จำเลยได้รับเอกสารที่ขอถ่ายจนถึงวันที่ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาคือวันที่ 8 กรกฎาคม 2545 ทนายจำเลยได้ดำเนินการไปถึงไหน เรื่องอยู่ในขั้นตอนใด และมีข้อขัดข้องอย่างไรที่ทำให้ทนายจำเลยไม่สามารถยื่นฎีกาภายในเวลาที่ยังเหลืออยู่อีก 6 วันได้ทัน ถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยผิดสัญญาซื้อขายห้องชุด ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลย 7,676,927.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11 ต่อปี ของต้นเงิน 5,388,368 บาท แก่โจทก์ จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยมีสิทธิริบเงินตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2545
จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาอ้างว่า จำเลยขอถ่ายคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2545 แต่เพิ่งได้รับเอกสารที่ขอถ่ายเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2545 ทนายจำเลยได้ศึกษาข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ปรากฏว่ามีหลายประเด็นที่แตกต่างไปจากข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้นซึ่งทนายจำเลยต้องทำรายงานเสนอคณะกรรมการบริษัท จำเลยพิจารณาอนุมัติยื่นฎีกา ระยะเวลาที่เหลืออยู่ไม่เพียงพอที่คณะกรรมการบริษัทจำเลยจะพิจารณาอนุมัติยื่นฎีกา และทนายจำเลยไม่สามารถจัดทำฎีกายื่นต่อศาลได้ทัน ขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาออกไปอีก 30 วัน นับแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2545 ศาลชั้นต้นเห็นว่าที่จำเลยอ้างว่าเพิ่งได้รับสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ขอถ่ายเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2545 แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ช้าเป็นเพราะเหตุใด จึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ประกอบกับได้ความจากเจ้าหน้าที่ศาลประจำศูนย์ชั้น 6 ที่ศาลชั้นต้นเรียกมาสอบถามว่าเจ้าหน้าที่ได้ถ่ายสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยเสร็จตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2545 แต่จำเลยมารับในภายหลัง การรับสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ช้าจึงไม่ใช่กรณีที่เป็นพฤติการณ์พิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ให้ยกคำร้อง
จำเลยยื่นคำร้องว่า จำเลยยื่นคำแถลงขอถ่ายคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2545 และได้ติดตามขอรับสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตลอดมาจนกระทั่งวันที่ 27 มิถุนายน 2545 จึงได้รับ จำเลยมิได้ละเลยเพิกเฉยแต่อย่างใด ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาของจำเลย และอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาตามขอ หรือมีคำสั่งให้ไต่สวนข้อเท็จจริงดังกล่าวเพื่อมีคำสั่งต่อไป ศาลชั้นต้นให้เจ้าหน้าที่ศาลประจำศูนย์ชั้น 6 รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำร้องของจำเลยดังกล่าว เจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่า โจกท์และจำเลยได้ยื่นคำร้องขอถ่ายคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ศูนย์ปฏิบัติงานชั้น 6 ทางศูนย์ฯ ได้ดำเนินการให้แล้วเสร็จพร้อมกันเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2545 ในทางปฏิบัติทางศูนย์ฯ จะบอกให้คู่ความมาขอรับเอกสารที่ขอถ่ายใน 7 วัน หลังจากยื่นคำแถลงขอถ่ายเอกสารแล้ว จำเลยมิได้มาติดต่อขอรับเอกสารที่ขอถ่ายจนกระทั่งวันที่ 28 มิถุนายน 2545 จำเลยจึงมาติดต่อขอรับเอกสารที่ขอถ่าย ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นทั้งสองคำสั่งดังกล่าว
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า มีพฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้แก่จำเลยตามคำร้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2545 แต่วันครบกำหนดฎีกาตรงกับวันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม 2545 จำเลยจึงมีสิทธิยื่นฎีกาในวันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม 2545 ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นดังที่จำเลยอ้างในคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาว่าจำเลยยื่นคำแถลงขอถ่ายคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2545 และได้รับเอกสารที่ขอถ่ายในวันที่ 27 มิถุนายน 2545 ก็ตาม แต่เมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่จำเลยได้รับเอกสารที่ขอถ่ายจนถึงวันที่จำเลยมีสิทธิยื่นฎีกาแล้วปรากฏว่ายังมีเวลาเหลืออยู่อีก 18 วัน หากจำเลยและทนายจำเลยมีความตั้งใจจริงก็อยู่ในวิสัยที่จะทำคำฟ้องฎีกายื่นต่อศาลได้ทันเนื่องจากทนายจำเลยได้ว่าคดีนี้มาตั้งแต่ต้นและคดีก็มิได้มีความยุ่งยากซับซ้อนเป็นพิเศษ แต่อย่างไรก็ตาม หากมีพฤติการณ์พิเศษซึ่งเป็นเหตุการณ์นอกเหนือการบังคับของจำเลยมาขัดขวางทำให้จำเลยไม่สามารถยื่นฎีกาภายในเวลาที่เหลืออยู่ดังกล่าวได้ทัน จำเลยก็สามารถขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ที่จำเลยอ้างเหตุในการขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาว่า ทนายจำเลยได้ศึกษาข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์แล้วปรากฏว่ามีหลายประเด็นที่แตกต่างไปจากข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้นซึ่งทนายจำเลยต้องทำรายงานเสนอคณะกรรมการบริษัทจำเลยพิจารณาอนุมัติยื่นฎีกา ระยะเวลาที่เหลืออยู่ไม่เพียงพอที่คณะกรรมการบริษัทจำเลยจะพิจารณาอนุมัติยื่นฎีกาและทนายจำเลยไม่สามารถจัดทำฎีกายื่นต่อศาลได้ทันนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่านับแต่วันที่จำเลยได้รับเอกสารที่ขอถ่ายจึงถึงวันที่ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาคือวันที่ 8 กรกฎาคม 2545 ทนายจำเลยได้ดำเนินการไปถึงไหน เรื่องอยู่ในขั้นตอนใด และมีข้อขัดข้องอย่างไรที่ทำให้ทนายจำเลยไม่สามารถยื่นฎีกาภายในเวลาที่ยังเหลืออยู่อีก 6 วันได้ทัน ทั้งที่รูปคดีมิได้มีความยุ่งยากหรือซับซ้อนเป็นพิเศษแต่อย่างใด เหตุที่อ้างมาในคำร้องถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้ได้ และศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจทำคำสั่งไปได้โดยไม่ต้องทำการไต่สวนคำร้องเสียก่อน เพราะการไต่สวนไม่เป็นประโยชน์แก่คดีแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของจำเลยนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share