คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2749/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 23 และที่ 25 ถึงที่ 29 เป็นกรรมการดำเนินการของโจทก์ ซึ่งตามรายงานการประชุม ไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ได้ลงมติให้จ่ายเงินกู้แก่สมาชิกเป็นเช็คขีดคร่อมเป็นรายตัวเพียงแต่ที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อเสนอของกรรมการคนหนึ่งที่ให้มีการจ่ายเงินกู้เป็นเช็คด้วยเหตุผลเพื่อความปลอดภัยและความสะดวกเท่านั้นและในการประชุมครั้งถัดมา ที่ประชุมได้รับทราบเรื่องที่สืบเนื่องมาจากการประชุมเรื่องการจ่ายเงินกู้สามัญเป็นเช็คว่า ได้มีการดำเนินการจ่ายเช็คเงินกู้สามัญเป็นรายการสำหรับหน่วยอำเภอ ม. และอำเภอ ค. โดยขีดคร่อมผู้ถือออกเท่านั้นและเมื่อการจ่ายเงินให้แก่ผู้กู้เป็นหน้าที่ของผู้จัดการจะจ่ายให้เป็นเงินสดหรือเช็คก็ได้ ฉะนั้นไม่ว่าการจ่ายเงินกู้แก่สมาชิกจะจ่ายโดยเช็คขีดคร่อมเป็นรายตัวหรือไม่ และจะเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตได้หรือไม่จึงไม่ใช่ความประมาทเลินเล่อหรือละเลยอันจำเลยที่ 1 ถึงที่ 23และที่ 25 ถึงที่ 29 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ ทั้งการที่จำเลยดังกล่าวได้ตั้งผู้ตรวจสอบกิจการขึ้นตามข้อบังคับ และผู้ตรวจสอบไม่สามารถตรวจพบการทุจริต เพราะผู้ทุจริตได้ปลอมเอกสารการเงินขึ้นอีกชุดหนึ่ง ก็หาใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 23และที่ 25 ถึงที่ 29 ไม่ เพราะจำเลยดังกล่าวไม่มีหน้าที่ เข้าไปตรวจสอบเอกสารการเงินด้วยตนเอง เป็นแต่ต้องควบคุมดูแลและวางมาตรการให้การดำเนินการของโจทก์เป็นไปด้วยความถูกต้อง ตามระเบียบข้อบังคับที่วางไว้เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์จำกัดตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 ในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1เป็นประธานกรรมการดำเนินการของโจทก์มีหน้าที่ควบคุมการดำเนินงานทั่วไปของโจทก์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและดำเนินการอื่น ๆตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมายเป็นผู้บังคับบัญชาและเป็นนายจ้างของผู้จัดการและเจ้าหน้าที่อื่นของโจทก์ มีหน้าที่ควบคุมดูแลให้ผู้จัดการและเจ้าหน้าที่ของโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเรียบร้อยเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับโจทก์และธรรมเนียมการปฏิบัติงานของสหกรณ์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 29 เป็นรองประธานกรรมการดำเนินการและคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ จำเลยที่ 30 ถึงที่ 35เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของเจ้าหน้าที่ลูกจ้างของโจทก์โดยจำเลยที่ 30 เป็นผู้ค้ำประกันนายสมชาย เนาวโรจน์จำเลยที่ 31 เป็นผู้ค้ำประกันนางคำปอง หอมหวล จำเลยที่ 32เป็นผู้ค้ำประกันนายพิศาล วงษ์ดี จำเลยที่ 33 เป็นผู้ค้ำประกันนางสาวงามตา ศรีวะรมย์ และนายอุดมศักดิ์ จิรัฐติกาลจำเลยที่ 34 เป็นผู้ค้ำประกันนายวิบูลย์ วงศ์อนันต์ จำเลยที่ 35เป็นผู้ค้ำประกันนางสุภาพร ชื่นสงวน เมื่อระหว่าง พ.ศ. 2529ถึง 2532 นายสมชาย เนาวโรจน์ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการสหกรณ์โจทก์ มีหน้าที่ควบคุมและรับผิดชอบกิจการประจำของสหกรณ์โจทก์นางคำปอง หอมหวล และนางศุภลักษณ์ วงศ์อนันต์ เป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมและรับผิดชอบการเงินและการบัญชี นายโสภณ คำทวีเป็นเจ้าหน้าที่รับผิดชอบหลักฐานการกู้ยืมเงินของสมาชิกโจทก์ในหน่วยอำเภอป่าติ้ว นายพิศาล วงษ์ดี เป็นเจ้าหน้าที่รับผิดชอบหลักฐานการกู้ยืมเงินของสมาชิกโจทก์ในหน่วยอำเภอคำเขื่อนแก้วนางสาวงามตา ศรีวะรมย์ เป็นเจ้าหน้าที่รับผิดชอบหลักฐานการกู้ยืมเงินของสมาชิกโจทก์ในหน่วยอำเภอทรายมูล นายวิบูลย์วงศ์อนันต์ เป็นเจ้าหน้าที่บัญชีร่วมกับนางคำปอง และรับผิดชอบหลักฐานการกู้ยืมเงินของสมาชิกโจทก์ในหน่วยอำเภอเลิงนกทานางไพบูลย์ จตุพรสัมฤทธิ์ เป็นเจ้าหน้าที่รับผิดชอบหลักฐานการกู้ยืมเงินของสมาชิกโจทก์ในหน่วยอำเภอมหาชนะชัยและอำเภอคำเขื่อนแก้ว นายอุดมศักดิ์ จิรัฐติกาล เป็นเจ้าหน้าที่รับผิดชอบหลักฐานการกู้ยืมเงินของสมาชิกโจทก์ในหน่วยอำเภอกุดชุมนางสุภาพร ชื่นสงวน เป็นเจ้าหน้าที่รับผิดชอบหลักฐานการกู้ยืมเงินของสมาชิกโจทก์ในหน่วยอำเภอเมืองยโสธร นายสมชายกับพวกดังกล่าวได้อาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่ร่วมกันปลอมหลักฐานการกู้เงินอันประกอบด้วยคำขอกู้เงินสามัญ หนังสือกู้เงินสามัญหนังสือค้ำประกันการกู้เงินของสมาชิกโจทก์ขึ้นทั้งฉบับทำคำรับรองอันเป็นเท็จว่าตนได้ตรวจสอบลายมือชื่อของผู้ขอกู้เงินและลายมือชื่อผู้ค้ำประกันในหลักฐานการกู้เงินที่ได้ปลอมขึ้นว่าเป็นลายมือชื่อของบุคคลดังกล่าวจริง แล้วทำคำรับรองอันเป็นเท็จว่าหลักฐานการกู้เงินปลอมนั้นได้ผ่านการพิจารณาอนุมัติจากคณะกรรมการดำเนินการให้กู้เงิน ได้ร่วมกันทำหลักฐานการรับเงินอันเป็นเท็จ เบิกจ่ายและรับเงินจำนวนนั้นไว้เป็นประโยชน์ของตนโดยทุจริต โดยนายสมชายกับพวกดังกล่าวปลอมหลักฐานการกู้เงินรวม 687 สัญญา ได้รับเงินไปทั้งสิ้น52,412,100 บาท และเพื่อปกปิดการกระทำผิดดังกล่าว ได้ร่วมกันส่งใช้เงินตามหลักฐานการกู้เงินปลอมในนามของผู้ขอกู้เงินถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2532 เป็นเงิน 13,520,400 บาท คงค้างชำระอีก38,891,700 บาท โจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองยโสธรให้ดำเนินคดีอาญาแก่นายสมชายกับพวกดังกล่าวแล้ว หากโจทก์นำเงินที่นายสมชายกับพวกดังกล่าวเบียดบังทุจริตไปให้สมาชิกของโจทก์กู้ยืม โจทก์จะได้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์ได้ฟ้องนายสมชายกับพวกดังกล่าวให้รับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์ต่อศาลแรงงานกลางแล้ว คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณา
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 29 เป็นคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการทั้งปวงของโจทก์ให้เป็นไปตามข้อบังคับและตามมติของที่ประชุมใหญ่โดยไม่ให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์มีอำนาจออกระเบียบข้อบังคับกำหนดมติเพื่อควบคุมและให้เจ้าหน้าที่ของโจทก์ปฏิบัติ เป็นผู้อนุมัติให้เบิกจ่ายเงินเพื่อใช้ในกิจการของโจทก์ อนุมัติให้สมาชิกกู้เงิน ควบคุมดูแลให้ผู้เป็นสมาชิกลงลายมือชื่อในทะเบียนสมาชิก ควบคุมและจัดให้มีทะเบียนหุ้นทะเบียนเงินกู้และเอกสารเกี่ยวกับการกู้เงิน ทะเบียนผู้ค้ำประกันและเอกสารเกี่ยวกับผู้ค้ำประกัน ทะเบียนควบคุมการสั่งจ่ายเช็คควบคุมและจัดให้มีบัญชีเงินสดรับจ่ายบัญชีเงินคงเหลือประจำวันบัญชีเงินฝากประเภทประจำ บัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์บัญชีลูกหนี้ บัญชีเงินทุนค่าหุ้น บัญชีเงินที่สมาชิกชำระก่อนกำหนด(เงิน ก.น.) ควบคุมดูแลและจัดเก็บใบสำคัญการรับจ่ายเงินสมุดทะเบียน สมุดบัญชี และสมุดบันทึกรายงานการประชุมใหญ่ให้คงอยู่ในสำนักงานโจทก์ จัดให้มีการตรวจสอบกิจการของโจทก์เป็นประจำเดือน ประจำปี จัดให้มีการตรวจทานหนี้เป็นประจำปีพิจารณารายงานหรือความเห็นของผู้ตรวจสอบกิจการหรือผู้จัดการสหกรณ์ที่ปรากฏในรายงานการประชุมประจำเดือนแล้วรับรองความถูกต้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 29 กลับจงใจละเลยเพิกเฉยไม่ดูแลควบคุมให้เจ้าหน้าที่ของโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับและมติดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือ ไม่ควบคุมหรือจัดให้มีทะเบียนสมาชิก หรือให้สมาชิกลงลายมือชื่อในทะเบียน จนไม่อาจตรวจสอบในสัญญากู้ได้ว่า ผู้กู้เป็นสมาชิกหรือเป็นลายมือชื่อของผู้กู้ผู้ค้ำประกันหรือไม่ เป็นเหตุให้มีการปลอมลายมือชื่อผู้กู้ผู้ค้ำประกันในหลักฐานการกู้เงินได้ ละเลยไม่จัดให้มีทะเบียนหุ้นจนไม่อาจตรวจสอบได้ว่าผู้กู้มีสิทธิกู้ได้เพียงใด จนเป็นเหตุให้มีการกู้เงินได้เกินสิทธิ ละเลยไม่จัดให้มีทะเบียนเงินกู้จนไม่อาจตรวจสอบได้ว่าจำนวนผู้กู้ จำนวนเงินกู้ถูกต้องตรงกับจำนวนเงินที่สหกรณ์ได้จ่ายเงินออกไป อันเป็นเหตุให้มีการสอดแทรกหลักฐานการกู้เงินปลอมเพิ่มจำนวนผู้กู้และจำนวนเงินเกินกว่าที่ได้รับอนุมัติให้กู้ ละเลยไม่จัดให้มีทะเบียนควบคุมการจ่ายเช็คจนทำให้ไม่อาจตรวจสอบได้ว่าการจ่ายเงินตามสัญญากู้เงินด้วยเช็คนั้นจ่ายให้กับผู้กู้รายใด ทั้งจ่ายเช็คนั้นไม่เป็นไปตามมติของคณะกรรมการดำเนินการที่มีมติว่าให้จ่ายเช็คให้แก่ผู้กู้เป็นรายตัว ขีดคร่อมและขีดฆ่าผู้ถือออก จนเป็นเหตุให้มีการทำหลักฐานการรับเงินอันเป็นเท็จขึ้นได้ ละเลยไม่จัดให้มีบัญชีเงินสดรับจ่าย บัญชีเงินคงเหลือประจำวันเป็นเหตุให้ไม่อาจตรวจสอบได้ว่าในแต่ละวันสหกรณ์โจทก์ได้จ่ายเงินให้แก่ผู้กู้กี่ราย รับชำระหนี้เงินกู้กี่ราย เงินคงเหลือรับจ่ายในแต่ละวันเท่าใด เป็นเหตุให้ผู้จัดการสหกรณ์โจทก์ครอบครองเงินสดในแต่ละวันเกินกว่าอำนาจที่มีอยู่ตามระเบียบข้อบังคับ อันเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตขึ้น ละเลยไม่จัดให้มีบัญชีเงินฝากประเภทประจำประเภทออมทรัพย์จนไม่อาจตรวจสอบได้ว่าโจทก์มีเงินฝากจำนวนเท่าใดมีการถอนเงินฝากไปทั้งสิ้นเท่าใด จนเป็นเหตุให้ผู้จัดการสหกรณ์โจทก์ทุจริตถอนเงินฝากโดยไม่มีอำนาจละเลยไม่จัดให้มีบัญชีลูกหนี้ บัญชีรับชำระหนี้ก่อนกำหนดบัญชีรับชำระหนี้ก่อนกำหนด จนไม่อาจตรวจสอบได้ว่าสหกรณ์โจทก์จะมีรายรับจากเงินที่สมาชิกชำระคืนตามปกติและชำระคืนก่อนกำหนดในแต่ละเดือนเป็นจำนวนเท่าใด อันเป็นเหตุให้มีการชำระหนี้โดยไม่ออกใบรับหรือขูดลบขีดฆ่าจำนวนเงินในใบรับให้ต่ำกว่าความเป็นจริงเป็นช่องทางให้ผู้ทุจริตปลอมสัญญากู้ขึ้นได้ ละเลยไม่ควบคุมดูแลใบสำคัญรับจ่ายเงินจนไม่อาจตรวจสอบได้ว่าการรับจ่ายเงินรายใดถูกต้องหรือไม่ เป็นเหตุให้ผู้ทุจริตสร้างหลักฐานการรับเงินอันเป็นเท็จและรับเงินไป ละเลยไม่ควบคุมดูแลให้มีสมุดบันทึกรายงานการประชุมคงอยู่ในสำนักงานโจทก์จนไม่อาจตรวจสอบได้ว่าจำนวนเงินที่อนุมัติให้กู้ได้แต่ละเดือนตรงกับจำนวนเงินที่โจทก์จ่ายออกไปหรือไม่ เป็นเหตุให้ผู้ทุจริตเพิ่มจำนวนเงินกู้นอกเหนือจากที่ได้อนุมัติไปแล้ว การกระทำดังกล่าวเป็นการจงใจและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้นายสมชายกับพวกดังกล่าวร่วมกันปลอมหลักฐานการกู้เงินไปและได้ส่งใช้เงินคืนบางส่วน คงค้างชำระ 12,304,700 บาท ระหว่างเดือนมีนาคม 2531 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2532 ปลอมหลักฐานการกู้เงิน 317 สัญญาเป็นเงิน 28,254,700 บาท ได้ส่งใช้เงินคืนบางส่วนคงค้างชำระ 24,778,500 บาท
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ซึ่งเป็นคณะกรรมการดำเนินการจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ที่ 12 และที่ 14 ถึงที่ 23 ซึ่งเป็นคณะกรรมการดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2530 ถึงเดือนกุมภาพันธ์2531 ต้องร่วมรับผิดใช้เงิน 12,304,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2532 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 384,521 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ย 12,689,221 บาทจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ที่ 14 ที่ 16 และที่ 22 ถึงที่ 29ซึ่งเป็นคณะกรรมการดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2531ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2532 ต้องร่วมรับผิดใช้เงิน 24,778,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม2532 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 774,328 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ย 25,552,828 บาท
จำเลยที่ 30 ถึงที่ 35 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของเจ้าหน้าที่สหกรณ์โจทก์โดยยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นโดยสิ้นเชิง และไม่จำกัดความรับผิดต้องรับผิดต่อโจทก์ดังนี้จำเลยที่ 30 ต้องรับผิดในความเสียหายที่นายสมชายทุจริตไปเป็นเงิน 38,891,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2532 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 2,430,731 บาทรวมต้นเงินและดอกเบี้ย 41,322,431 บาท จำเลยที่ 31ต้องรับผิดในความเสียหายที่นางคำปองทุจริตไปเป็นเงิน 38,891,700บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2532ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 2,430,731 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ย41,322,431 บาท จำเลยที่ 32 ต้องรับผิดในความเสียหายที่นายพิศาลทุจริตไปเป็นเงิน 8,012,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2532 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 500,762 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ย 8,512,962 บาทจำเลยที่ 33 ต้องรับผิดในความเสียหายที่นางสาวงามตาและนายอุดมศักดิ์ทุจริตไปเป็นเงิน 5,215,000 บาท และ 2,902,200บาท ตามลำดับ รวมเป็นเงิน 8,117,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2532 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 507,324 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ย 8,624,524 บาทจำเลยที่ 34 ต้องรับผิดในความเสียหายที่นายวิบูลย์ทุจริตไปเป็นเงิน 9,005,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2532 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 562,843 บาทรวมต้นเงินและดอกเบี้ย 9,568,343 บาท จำเลยที่ 35 ต้องรับผิดในความเสียหายที่นางสุภาพรทุจริตไปเป็นเงิน 6,410,600 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 มีนาคม 2532ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 400,662 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ย 6,811,626 บาท (ที่ถูกคือ 6,811,262) ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ร่วมกันชำระเงิน 1,845,421 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 1,789,500 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ที่ 12 และที่ 14 ถึงที่ 23 ร่วมกันชำระเงิน 12,689,221 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 12,304,700 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ที่ 14 ที่ 16 และที่ 22ถึงที่ 29 ร่วมกันชำระเงิน 25,552,828 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 24,778,500 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 30 ชำระเงิน41,322,431 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน3,891,700 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จจำเลยที่ 31 ชำระเงิน 41,322,431 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 38,891,700 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 32 ชำระเงิน 8,512,962 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 8,012,200 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 33 ชำระเงิน8,624,524 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน8,117,200 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จจำเลยที่ 34 ชำระเงิน 9,568,343 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 9,005,500 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และจำเลยที่ 35 ชำระเงิน 6,811,626 บาท(ที่ถูกคือ 6,811,262 บาท) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 6,410,600 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ที่ 8 ถึงที่ 17 ที่ 19 ที่ 21 ที่ 23และที่ 25 ถึงที่ 29 ให้การว่า จำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายระเบียบข้อบังคับ และประเพณีนิยมของสหกรณ์โจทก์อย่างเคร่งครัดและถูกต้องเสมอมามิได้ประมาท จงใจ ละเลย เพิกเฉยหรือไม่เอาใจใส่ควบคุมกิจการสหกรณ์โจทก์มีการประชุมตักเตือนเจ้าหน้าที่สหกรณ์โจทก์ในการประชุมประจำเดือนอย่างเข้มงวดและรอบคอบ ความเสียหายที่เกิดแก่สหกรณ์โจทก์นั้นเกิดจากการยักยอกของผู้จัดการและเจ้าหน้าที่สหกรณ์โจทก์โดยปลอมเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการกู้เงินปลอมลายมือชื่อจำเลยในสมุดบันทึกรายงานการประชุมประจำเดือนสร้างเอกสารทางการเงินปลอม รายงานเท็จเกี่ยวกับฐานะทางการเงินประจำเดือน จนทำให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตรวจสอบกิจการสหกรณ์โจทก์ตามกฎหมายต้องหลงเชื่อและรับรองว่าถูกต้องเสมอมา ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 22 ให้การว่า จำเลยที่ 22 ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการอนุมัติเบิกจ่ายเงินของสหกรณ์ จำเลยที่ 22 กระทำการตามมติของที่ประชุม ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตามข้อกำหนดของสหกรณ์โจทก์ จำเลยที่ 22 ได้ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่และควบคุมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สหกรณ์โจทก์เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสหกรณ์โจทก์จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 30 ให้การว่า นายสมชายจะร่วมกับเจ้าหน้าที่สหกรณ์โจทก์ทุจริตเอาเงินของโจทก์ไปจริงหรือไม่ ไม่รับรองเมื่อประมาณ พ.ศ. 2519 จำเลยที่ 30 เคยค้ำประกันการทำงานของนายสมชายในตำแหน่งผู้จัดการให้แก่โจทก์จริง หลังจากค้ำประกันได้ 3 ปี จำเลยที่ 30 บอกเลิกสัญญาค้ำประกัน ซึ่งโจทก์ก็รับทราบแล้วโจทก์กับจำเลยที่ 30 จึงไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกันลายมือชื่อผู้ค้ำประกันในสัญญาค้ำประกันเอกสารท้ายฟ้องไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 30 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 31 ให้การว่า นางคำปอง หอมหวล ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของนายสมชาย เนาวโรจน์ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและได้กระทำไปตามระเบียบข้อบังคับตลอดจนคำสั่งของสหกรณ์โจทก์โดยชอบด้วยกฎหมาย นางคำปองจึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายต่อโจทก์ จำเลยที่ 31 ไม่ได้ค้ำประกันการทำงานของนางคำปองต่อสหกรณ์โจทก์ลายมือชื่อผู้ค้ำประกันในสัญญาค้ำประกันเอกสารท้ายฟ้องไม่ใช่ของจำเลยที่ 31 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 32 ถึงที่ 35 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 7 ที่ 18 และที่ 20 ขาดนัดยื่นคำให้การและจำเลยที่ 7 และที่ 18 ขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 24 ไม่ได้ยื่นคำให้การ และโจทก์ไม่ได้ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 24 ขาดนัดยื่นคำให้การศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 24จากสารบบความ
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 32ถึงที่ 35 ศาลชั้นต้นอนุญาตและสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 32 ถึงที่ 35
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 23 และที่ 25ถึงที่ 31 รับผิดตามฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 30 ถึงแก่ความตาย โจทก์ขอให้เรียกนางสุดารัตน์ แซ่เซีย และนายทรงศักดิ์ เฉลิมสวัสดิวงศ์ภรรยาและบุตรเข้ามาเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาประการแรกว่า จำเลยที่ 1ถึงที่ 23 และที่ 25 ถึงที่ 29 จะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 23 และที่ 25 ถึงที่ 29ซึ่งเป็นกรรมการดำเนินการของโจทก์ปล่อยให้มีการจ่ายเงินกู้แก่สมาชิกโดยไม่ได้จ่ายเป็นเช็คขีดคร่อมเป็นรายตัว ถือได้ว่าละเลยไม่กวดขันให้เจ้าหน้าที่จ่ายเงินกู้แก่สมาชิกให้เป็นไปตามรายงานการประชุมของคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ครั้งที่ 8/2529, 12/2529 และ 13/2529 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ได้ตรวจดูรายงานการประชุมทั้งสามครั้งดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.16แล้ว ไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ได้ลงมติให้จ่ายเงินกู้แก่สมาชิกเป็นเช็คขีดคร่อมเป็นรายตัวดังโจทก์อ้างเพียงแต่ที่ประชุมในการประชุมครั้งที่ 12/2529 เห็นด้วยกับข้อเสนอขอกรรมการคนหนึ่งที่ให้มีการจ่ายเงินกู้เป็นเช็คด้วยเหตุผลเพื่อความปลอดภัยและความสะดวกเท่านั้น และในการประชุมครั้งที่ 13 ที่ประชุมได้รับทราบเรื่องที่สืบเนื่องมาจากการประชุมครั้งที่ 12/2529 เรื่องการจ่ายเงินกู้สามัญเป็นเช็คว่าได้มีการดำเนินการจ่ายเช็คเงินกู้สามัญเป็นรายการสำหรับหน่วยอำเภอเมือง อำเภอคำเขื่อนแก้ว โดยขีดคร่อมผู้ถือออกฉะนั้นจึงไม่มีข้อเท็จจริงดังที่โจทก์อ้าง อย่างไรก็ตามจากคำเบิกความของนายวิชาญ พละโสภา พยานโจทก์ได้ความว่าการจ่ายเงินให้แก่ผู้กู้เป็นหน้าที่ของผู้จัดการจะจ่ายให้เป็นเงินสดหรือเช็คก็ได้ ฉะนั้นไม่ว่าการจ่ายเงินกู้แก่สมาชิกจะจ่ายโดยเช็คขีดคร่อมเป็นรายตัวหรือไม่ และจะเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตได้หรือไม่ จึงไม่ใช่ความประมาทเลินเล่อหรือละเลยอันจำเลยที่ 1 ถึงที่ 23 และที่ 25 ถึงที่ 29จะต้องรับผิดต่อโจทก์แต่อย่างใด ทั้งการที่จำเลยดังกล่าวได้ตั้งผู้ตรวจสอบกิจการขึ้นตามข้อบังคับ และผู้ตรวจสอบไม่สามารถตรวจพบการทุจริตเพราะผู้ทุจริตได้ปลอมเอกสารการเงินขึ้นอีกชุดหนึ่งก็หาใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 23 และที่ 25 ถึงที่ 29 ไม่เพราะจำเลยดังกล่าวไม่มีหน้าที่เข้าไปตรวจสอบเอกสารการเงินด้วยตนเอง เป็นแต่ต้องควบคุมดูแลและวางมาตรการให้การดำเนินการของโจทก์เป็นไปด้วยความถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับที่วางไว้เท่านั้น เมื่อเกิดการทุจริตขึ้นดังเช่นกรณีนี้ซึ่งแม้ผู้ตรวจสอบเองก็ยังไม่สามารถตรวจพบ จึงจะให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 23และที่ 25 ถึงที่ 29 รับผิดต่อโจทก์หาได้ไม่
พิพากษายืน

Share