คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2747/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ว่าตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 3.7.5 ระบุว่า การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองความเสียหายอันเกิดจากการขาดการใช้รถยนต์ซึ่งหมายความว่า จำเลยที่ 1 ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในความเสียหายส่วนที่เกิดแก่โจทก์ผู้เอาประกันภัยที่ไม่อาจใช้ประโยชน์จากรถยนต์ที่ประกันภัย เนื่องจากอุบัติเหตุจนรถยนต์เสียหายใช้การไม่ได้ กล่าวคือ ค่าขาดประโยชน์ส่วนนี้เริ่มนับแต่รถยนต์ที่ประกันภัยเกิดอุบัติเหตุเสียหายใช้การไม่ได้จนกระทั่งซ่อมเสร็จใช้การได้ตามปกติ โจทก์จะเรียกร้องค่าขาดประโยชน์ส่วนนี้จากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ เพราะเข้ายกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 3.7.5 ดังกล่าวก็ตาม แต่ความเสียหายที่เป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ของโจทก์ตามฟ้อง เป็นค่าขาดประโยชน์ที่เกิดขึ้นหลังจากซ่อมรถยนต์ของโจทก์เสร็จแล้วและเกิดจากเหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมชำระค่าซ่อมครบถ้วนแก่ผู้ซ่อม ทำให้ผู้ซ่อมใช้สิทธิยึดหน่วงรถยนต์ของโจทก์ไว้ ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ของโจทก์ดังกล่าว เป็นคนละส่วนกับค่าขาดประโยชน์ที่จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกันเพราะเกิดจากคนละเหตุ โจทก์จึงเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ส่วนนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียนน-9090 เชียงราย จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย โจทก์เอาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้แก่จำเลยที่ 1 ในวงเงินประกัน 80,000 บาท ต่อมาในระหว่างอายุประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ได้เกิดอุบัติเหตุชนกับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น-6107 ชุมพร โดยไม่ใช่ความผิดของโจทก์ และเจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น-6107 ชุมพร ได้ชำระเงิน50,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนตกลงนำรถยนต์ของโจทก์ไปซ่อมที่อู่ณรงค์การช่างเมื่อซ่อมรถยนต์ของโจทก์เสร็จแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ยอมชำระค่าซ่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่อาจนำรถยนต์ของโจทก์ออกจากอู่ได้โจทก์ต้องไปเช่ารถยนต์ของบุคคลอื่นมาใช้ระหว่างนั้นด้วยอัตราค่าเช่าวันละ 800 บาท เป็นเวลา 11 เดือน 2 วัน เป็นเงิน265,600 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสองต้องรับผิดพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2534 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 28 วัน เป็นเงิน 1,528.10 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น267,128.10 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน267,128.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน265,600 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ความเสียหายอันเกิดจากการขาดประโยชน์การใช้รถยนต์ของโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเพราะกรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้คุ้มครองไว้ จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ตามขอบอำนาจที่จำเลยที่ 1 มอบหมาย มิได้ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 66,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ไว้ ต่อมารถยนต์ของโจทก์ถูกรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น-6107 ชุมพร ชนโดยละเมิดได้รับความเสียหายโจทก์นำรถยนต์ไปให้อู่ณรงค์ชัยการช่างซ่อมโดยความยินยอมของจำเลยที่ 1 ตกลงค่าซ่อม 95,000 บาทอู่ณรงค์ชัยการช่างซ่อมรถยนต์ของโจทก์เสร็จเมื่อวันที่ 5สิงหาคม 2533 จำเลยที่ 1 ชำระค่าซ่อมแก่อู่ณรงค์ชัยการช่างเพียง 64,000 บาท ส่วนที่ขาดอีก 31,000 บาท จะให้โจทก์เป็นผู้ชำระซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของโจทก์ เป็นเหตุให้อู่ณรงค์ชัยการช่างยึดหน่วงรถยนต์ของโจทก์ไว้ จนกระทั่งจำเลยที่ 1 ยอมชำระค่าซ่อมส่วนที่ค้างแก่อู่ณรงค์ชัยการช่าง โจทก์จึงได้รับรถยนต์คืนมาเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2534 โจทก์มาฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์การใช้รถยนต์ส่วนที่เกิดขึ้นหลังจากซ่อมรถยนต์เสร็จนับแต่วันที่20 สิงหาคม 2533 ถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 2534 อันเป็นวันที่โจทก์ได้รับรถยนต์คืนจากอู่ณรงค์ชัยการช่าง
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์จะเรียกร้องค่าขาดประโยชน์การใช้รถยนต์จากจำเลยที่ 1 ตามฟ้องได้หรือไม่เห็นว่า ตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.4ข้อ 3.7.5 ระบุว่า “การยกเว้นความเสียหายต่อรถยนต์ การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองความเสียหายอันเกิดจากการขาดการใช้รถยนต์”หมายความว่า จำเลยที่ 1 ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในความเสียหายส่วนที่เกิดแก่โจทก์ผู้เอาประกันภัยที่ไม่อาจใช้ประโยชน์จากรถยนต์ที่ประกันภัย เนื่องจากอุบัติเหตุจนรถยนต์เสียหายใช้การไม่ได้ กล่าวคือค่าขาดประโยชน์ส่วนนี้เริ่มนับแต่รถยนต์ที่ประกันภัยเกิดอุบัติเหตุเสียหายใช้การไม่ได้จนกระทั่งซ่อมเสร็จใช้การได้ตามปกติ โจทก์จะเรียกร้องค่าขาดประโยชน์ส่วนนี้จากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ เพราะเข้ายกเว้นความรับผิดตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยข้อ 3.7.5 ดังกล่าว แต่ความเสียหายที่เป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ของโจทก์ตามฟ้อง เป็นค่าขาดประโยชน์เกิดขึ้นหลังจากซ่อมรถยนต์ของโจทก์เสร็จแล้วและเกิดจากเหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมชำระค่าซ่อมครบถ้วนแก่ผู้ซ่อมทำให้ผู้ซ่อมใช้สิทธิยึดหน่วงรถยนต์ของโจทก์ไว้ ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ของโจทก์ดังกล่าว จึงเป็นคนละส่วนกับค่าขาดประโยชน์ที่จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญากรมธรรม์ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นซึ่งไม่เกี่ยวข้องกันเพราะเกิดจากคนละเหตุโจทก์จึงเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ตาฟ้องได้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์จะอ้างเอาข้อยกเว้นความรับผิดตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยข้อ 3.7.5 เพื่อให้ตนพ้นความรับผิดอันตนเป็นผู้ก่อขึ้นแก่โจทก์ไม่ได้
พิพากษายืน

Share