คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2744/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องได้ตกลงสั่งซื้อหุ้นกับบริษัทลูกหนี้โดยวิธีผู้ร้องออกตั๋วสัญญาใช้เงินนำไปวางเป็นประกัน ผู้ร้องมีสิทธิสั่งซื้อหุ้นได้เป็นเงินไม่เกิน 3 เท่าของจำนวนเงินที่วางประกัน เมื่อซื้อหุ้นได้แล้วบริษัทลูกหนี้จะออกเงินทดรองค่าซื้อหุ้นให้ผู้ร้องก่อนโดยทำเป็นหนังสือว่าผู้ร้องได้กู้เงินของบริษัทลูกหนี้ไป ต่อมาถ้ามีการขายหุ้นดังกล่าว ก็จะมีการหักทอนบัญชีกัน ถ้า ได้กำไรก็จะนำเข้าบัญชีให้ผู้ร้องแต่ถ้า ขาดทุนจะเรียกให้ผู้ร้องชำระ กรณีจึงเป็นเรื่องตัวแทนเรียกร้องเอาเงินที่ได้ทดรองจ่ายไปในกิจการอันตัวการมอบหมายแก่ตนจากตัวการ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164ไม่ใช่กรณีที่บริษัทลูกหนี้เป็นผู้ค้าในการรับทำการงานต่าง ๆเรียกเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปจากผู้ร้อง ตามมาตรา 165(7).

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้บริษัทราชาเงินทุนจำกัด ลูกหนี้ล้มละลาย
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องไม่ได้เป็นหนี้บริษัทลูกหนี้ตามจำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งมา และไม่อาจเรียกร้องให้ผู้ร้องรับผิดใช้หนี้ตามคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และสั่งให้จำหน่ายหนี้ของผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คัดค้านว่า ผู้ร้องต้องรับผิดหนี้ค่าซื้อขายหุ้นขาดทุนสิทธิเรียกร้องไม่ขาดอายุความ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ผู้ร้องฎีกาว่า กรณีเป็นเรื่องที่บริษัทลูกหนี้เป็นผู้ค้าในการรับทำการงานต่าง ๆ ให้ผู้ร้องเพื่อสินจ้างเป็นทางค้าปกติเรียกเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปจากผู้ร้องซึ่งมีกำหนดอายุความสองปี ตาม1ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 165(7) และสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ร้องได้ตกลงสั่งซื้อหุ้นกับบริษัทลูกหนี้โดยวิธีผู้ร้องออกตั๋วสัญญาใช้เงินนำไปวางเป็นประกัน ผู้ร้องมีสิทธิสั่งซื้อหุ้นได้เป็นเงินไม่เกิน 3 เท่าของจำนวนเงินที่วางประกันเมื่อซื้อหุ้นได้แล้วบริษัทลูกหนี้จะออกเงินทดรองค่าซื้อหุ้นให้ผู้ร้องก่อนโดยทำเป็นหนังสือว่าผู้ร้องได้กู้เงินของบริษัทลูกหนี้ไปต่อมาถ้ามีการขายหุ้นดังกล่าวก็จะมีการหักทอนบัญชีกัน ถ้าได้กำไรก็จะนำเข้าบัญชีให้ผู้ร้อง แต่ถ้าขาดทุนจะเรียกให้ผู้ร้องชำระกรณีจึงเป็นเรื่องตัวแทนเรียกร้องเอาเงินที่ได้ทดรองจ่ายไปในกิจการอันตัวการมอบหมายแก่ตนจากตัวการ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น ต้องใช้อายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 สิทธิเรียกร้องนั้นไม่ขาดอายุความ ไม่ใช่กรณีที่บริษัทลูกหนี้เป็นผู้ค้าในการรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปจากผู้ร้องตามมาตรา 165(7) ดังที่ผู้ร้องอ้าง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share