คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2741/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยใช้ไม้ตีแล้วกอดปล้ำผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและแต่งเครื่องแบบตำรวจออกตรวจท้องที่ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยภายในงานวัด ไม่ว่าการทำร้ายร่างกายดังกล่าวจะมีมูลเหตุมาโดยประการใด ก็เป็นกรณีที่ถือได้ว่าจำเลยได้ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานตำรวจผู้กระทำการตามหน้าที่ เพราะการที่ผู้เสียหายกำลังปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยภายในงานวัด เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 296

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ขณะที่สิบตำรวจโทบัญชา โพธิ์ทอง ผู้เสียหาย เจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรตำบลหนองขาวกำลังปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยภายในงานที่วัดอินทราราม จำเลยใช้ไม้หนา 1 นิ้วครึ่ง กว้างประมาณ 3 นิ้ว ยาวประมาณ 1 เมตร ตีไปที่ศีรษะผู้เสียหาย ผู้เสียหายหลบได้ทันจึงพลาดถูกที่ไหล่ข้างซ้าย จากนั้นจำเลยเข้ากอดปล้ำแย่งอาวุธปืนพกพนาด .38 ของทางราชการจากเอวของผู้เสียหายไปได้ แล้วใช้อาวุธปืนดังกล่าวจ่อยิงผู้เสียหายที่หน้าอก 2 นัด โดยเจตนาฆ่า จำเลยลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผลเนื่องจากผู้เสียหายปัดปากกระบอกปืนไปทางอื่น กระสุนปืนที่ยิงออกไปจึงไม่ถูกผู้เสียหาย และขณะเดียวกันมีเจ้าพนักงานตำรวจเข้าช่วยเหลือ เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมอาวุธปืนดังกล่าว ไม้ และปลอกกระสุนปืน 2 ปลอก เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 289 (2) ริบไม้ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 จำคุก 2 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี ยกฟ้องโจทก์ข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน ริบไม้ของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (2) ประกอบมาตรา 80, 52 (1) จำคุกตลอดชีวิต คำให้การรับสภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 25 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังกล่าวในฟ้อง ขณะที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและแต่งเครื่องแบบตำรวจออกตรวจท้องที่ในขณะปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยภายในงานวัดอินทราราม จำเลยใช้ไม้ของกลางตีผู้เสียหายถูกที่ไหล่ข้างซ้าย จากนั้นจำเลยทิ้งไม้แล้วเข้ากอดปล้ำแย่งอาวุธปืนไปจากเอวของผู้เสียหายขณะกอดปล้ำกันอยู่นั้นปืนของผู้เสียหายที่จำเลยแย่งไปได้ดังขึ้น 2 นัด หลังเกิดเหตุผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย จ.2 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยเข้ากอดปล้ำแย่งอาวุธปืนไปจากเอวของผู้เสียหาย จำเลยล้มลงนอนหงายอยู่ด้านล่างส่วยผู้เสียหายอยู่ด้านบน จำเลยเหนี่ยวไกปืน ผู้เสียหายใช้มือปัด จำเลยเล็งปากกระบอกปืนที่หน้าอกของผู้เสียหายแล้วยิง 2 นัด ผู้เสียหายใช้มือปัดปากกระบอกปืนไปทางอื่น กระสุนปืนจึงไม่ถูกผู้เสียหาย จำเลยลุกขึ้นถืออาวุธปืนวิ่งหนี แต่ในที่สุดถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวและแย่งอาวุธปืนกลับคืนมาได้ เห็นว่า ก่อนเสียงปืนดัง ผู้เสียหายกับจำเลยเข้ากอดปล้ำแย่งอาวุธปืนกันจนจำเลยล้มลงนอนอยู่ด้านล่างส่วนผู้เสียหายอยู่ด้านบน แสดงว่าร่างของผู้เสียหายทับอยู่บนร่างของจำเลย ดังนั้น โอกาสที่จำเลยจะเล็งปากกระบอกปืนไปที่หน้าอกของผู้เสียหายย่อมเป็นไปได้ยาก และกระสุนปืนที่ลั่นขึ้นอาจเกิดจากอุบัติเหตุในขณะที่ยื้อแย่งอาวุธปืนกันก็เป็นได้ แม้โจทก์จะมีสิบตำรวจเอกวิจารณ์ เจนวิทยาอมรเวช กับนายนิคม กมลวิบูลย์นันท เป็นพยานเบิกความอีก 2 ปาก โดยสิบตำรวจเอกวิจารณ์เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยใช้ไม้ตีหัวไหล่ข้างซ้ายของผู้เสียหาย ผู้เสียหายล้มลง แล้วจำเลยกับผู้เสียหายต่อสู้กัน พยานได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 2 นัด หันไปเห็นจำเลยนอนอยู่ที่พื้นในมือถืออาวุธปืนและผู้เสียหายนอนทับอยู่ด้านบน คำเบิกความของพยานปากนี้แสดงว่าพยานไม่เห็นเหตุการณ์ในขณะที่เสียงปืนดัง ส่วนที่นายนิคมเบิกความว่า ผู้เสียหายกับจำเลยกอดปล้ำกันจนล้มลงทั้งคู่ จำเลยแย่งอาวุธปืนจากเอวผู้เสียหายไปได้แล้วยิงขึ้นฟ้า 2 นัด เฉียดศีรษะของผู้เสียหายนั้น นายนิคมกลับเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จำเลยนอนอยู่ที่พื้นแล้วยิงปืนขึ้นฟ้าอีก 1 นัด ไปทางศีรษะผู้เสียหาย จากนั้นจำเลยลุกขึ้นแล้วยิงปืนขึ้นฟ้าอีก 1 นัด คำเบิกความของนายนิคมที่ตอบโจทก์ได้ข้อเท็จจริงไปอย่างหนึ่ง แต่กลับตอบทนายจำเลยได้ข้อเท็จจริงไปอีกอย่างหนึ่งในเหตุการณ์เดียวกันจึงไม่อยู่กับร่องกับรอย คำเบิกความของสิบตำรวจเอกวิจารณ์ และนายนิคมดังกล่าวไม่อาจรับฟังประกอบการวินิจฉัยคดีได้ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนก็เป็นเพียงพยานบอกเล่าไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้โดยลำพัง เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธในชั้นศาล พยานหลักฐานโจทก์มีความสงสัยตามสมควร ว่าเหตุที่กระสุนปืนลั่นขึ้นเกิดจากจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายหรือเกิดจากอุบัติเหตุในขณะที่ผู้เสียหายกับจำเลยยื้อแย่งอาวุธปืนกัน จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง และการที่จำเลยใช้ไม้ตีแล้วกอดปล้ำผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและแต่งเครื่องแบบตำรวจออกตรวจท้องที่ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยภายในงานวัด ไม่ว่าการทำร้ายร่างกายดังกล่าวจะมีมูลเหตุมาโดยประการใดก็เป็นกรณีที่ถือได้ว่าจำเลยได้ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานตำรวจผู้กระทำการตามหน้าที่ เพราะการที่ผู้เสียหายกำลังปฏิบัติหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยภายในงานวัดเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้อต่อไปของจำเลย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share