แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามป.พ.พ. มาตรา 237 โจทก์จะต้องฟ้องคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่ทำนิติกรรมดังกล่าว ศาลจึงจะบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ เพราะผลของคำพิพากษาไม่อาจบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ เพราะผลของคำพิพากษาไม่อาจบังคับกับบุคคลนอกคดีได้ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองแล้วศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 สั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ออกเสียจากสารบบความ เพราะโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 1 มีผลให้จำเลยที่ 1 พ้นจากการที่ต้องถูกบังคับตามคำพิพากษา ศาลฎีกาไม่อาจพิจารณาพิพากษาตามคำขอของโจทก์เพราะจะมีผลกระทบไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ ศาลฎีกาจึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่พิพากษายืนให้ยกฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2541 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้ตามเช็ค 11 ฉบับ เป็นเงิน 11,771,855 บาท ต่อมาศาลจังหวัดกาญจนบุรีพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์ตามฟ้อง ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1885/2541 ของศาลจังหวัดกาญจนบุรี หลังจากโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2541 จำเลยที่ 2 ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรีขอให้ชำระหนี้เงินกู้จำนวน 3,000,000 บาท ทั้งๆ ที่จำเลยที่ 1 ไม่เคยกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 2 และไม่เคยมีหนี้สินต่อกัน ต่อมาจำเลยทั้งสองขอให้ศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยจำเลยที่ 1 ตกลงชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ย 4,745,959 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 530/2541 ของศาลจังหวัดกาญจนบุรี การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์เสียเปรียบไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาหรือได้รับน้อยกว่าที่ควรจะได้รับ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาว่าสัญญากู้ยืมเงินระหว่างจำเลยทั้งสองฉบับลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2537 เป็นโมฆะ และหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 530/2541 ของศาลจังหวัดกาญจนบุรี เป็นโมฆะ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1885/2541 ของศาลจังหวัดกาญจนบุรีจริง จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 2 จริง จำเลยทั้งสองไม่ได้คบคิดกันฉ้อฉลทำให้โจทก์เสียเปรียบ คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เนื่องจากจำเลยที่ 2 มิได้มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์และมิได้มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องในหนี้สินของจำเลยที่ 1 ที่อยู่กับโจทก์ จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 2 จำนวน 3,000,000 บาท มีหลักฐานการกู้ยืมเงินถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 ส่งมอบเงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยวิธีโอนเข้าบัญชี จำเลยที่ 2 จึงใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้เงินกู้ คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความถูกต้องตามกฎหมาย คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
โจทก์ไม่นำส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ตามคำสั่งของศาลชั้นต้น จึงเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ให้จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ภาค 7
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนจำเลยที่ 2
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า แม้คดีนี้โจทก์จะมีคำขอให้ศาลพิพากษาว่า สัญญากู้ยืมเงินระหว่างจำเลยทั้งสอง ฉบับลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2537 และหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายแดงที่ 530/2541 ของศาลจังหวัดกาญจนบุรีเป็นโมฆะ แต่สภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาอ้างว่านิติกรรมดังกล่าวเป็นการฉ้อฉล ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 นั่นเอง การเพิกถอนการฉ้อฉลนั้น โจทก์จะต้องฟ้องคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่ทำนิติกรรมดังกล่าว ศาลจึงจะบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ เพราะผลของคำพิพากษาไม่อาจบังคับแก่บุคคลนอกคดีได้การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองแล้วศาลอุทธรณ์ภาค 7 สั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ออกเสียจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีผลให้จำเลยที่ 1 พ้นจากการที่ต้องถูกบังคับตามคำพิพากษา ศาลฎีกาไม่อาจพิจารณาพิพากษาตามคำขอของโจทก์เพราะจะมีผลกระทบไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลนอกคดีได้ และปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับวินิจฉัยคดีให้นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย คงเห็นพ้องด้วยในผลของคดีที่ให้ยกฟ้อง”
พิพากษายืน ค่าทนายความชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ.