แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ขณะเกิดเหตุเด็กหญิง ม. มีอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์จึงมิอาจสมรสได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 กรณีที่จำเลยต้องการอยู่กินฉันสามีภริยากับเด็กหญิง ม. โดยนาง จ.มารดาเด็กหญิง ม. ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางขออนุญาตให้เด็กหญิง ม. จดทะเบียนสมรสกับจำเลยนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังเกิดเหตุแล้วแม้ต่อมาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจะอนุญาตตามคำร้องดังกล่าวก็มิอาจลบล้างความผิดที่จำเลยได้กระทำมา ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารจึงชอบแล้ว แต่เมื่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้อนุญาตให้จำเลยและเด็กหญิง ม. สมรสกันการกระทำของจำเลยในข้อหากระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรกจำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ในวรรคท้ายแม้จำเลยจะมิได้ฎีกามาแต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้เอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยพรากเด็กหญิง ม. อายุยังไม่เกิน 15 ปีไปเสียจากนาง จ. มารดา เพื่อการอนาจาร และจำเลยกระทำชำเราเด็กหญิง ม. ผู้เสียหาย ซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลยโดยผู้เสียหายยินยอม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 317, 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277, 317 (ที่ถูกคือมาตรา 277 วรรคแรก, 317 วรรคท้าย)การกระทำเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 317 วรรคท้าย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารเพราะผู้เสียหายกับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายตามคำสั่งศาลเยาวชนและครอบครัวกลางแล้วหรือไม่ ปรากฏว่าคดีนี้ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงคงฎีกาได้เฉพาะข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วมีว่า จำเลยพรากเด็กหญิง ม.อายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจาก จ. มารดาโดยพาเด็กหญิง ม.ไปนอนค้างที่โรงแรมอาร์.ดี แล้วร่วมประเวณีกับเด็กหญิง ม. โดยเด็กหญิง ม. ยินยอม ครั้นนาง จ. ทราบก็ได้ไปร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลย เห็นว่าขณะเกิดเหตุ เด็กหญิง ม. มีอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ จึงมิอาจสมรสกันได้เว้นแต่ศาลจะอนุญาตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 กรณีที่จำเลยต้องการอยู่กินฉันสามีภริยากับ เด็กหญิง ม. โดยนาง จ. ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางขออนุญาตให้เด็กหญิง ม. จดทะเบียนสมรสกับจำเลยนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังเกิดเหตุแล้ว และแม้ต่อมาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจะอนุญาตตามคำร้องดังกล่าวก็มิอาจลบล้างความผิดที่จำเลยได้กระทำมา ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารชอบแล้วคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ปรากฏว่าศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้อนุญาตให้จำเลยและเด็กหญิง ม. สมรสกัน การกระทำของจำเลยในข้อหากระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา277 วรรคแรก จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ในวรรคท้ายแม้จำเลยจะมิได้ฎีกามาแต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้เอง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์