แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 อยู่กับป้าและบุตรทั้งสามคนอยู่กับป้าด้วย ทั้งจำเลยที่ 2 ก็รับว่าให้ป้าดูแลบุตรของตน ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 นำเงินกู้ไปซ่อมแซมบ้านของป้าก็เพื่อประโยชน์และความผาสุกของบุตรทั้งสามคนของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากัน กรณีจึงเป็นหนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัวตามมาตรา 1490 (1) แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินกู้แก่โจทก์จำนวน ๑๒๑,๙๙๓.๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑๑๖,๔๑๖.๕๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ขณะจำเลยที่ ๑ กู้เงินตามฟ้อง จำเลยที่ ๒ เป็นคู่สมรสจำเลยที่ ๑ แต่ปัจจุบันได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันแล้ว จำเลยที่ ๒ ไม่ได้รู้เห็นหรือยินยอมให้จำเลยที่ ๑ กู้เงิน ทั้งเงินที่กู้มาก็ไม่ได้นำไปซ่อมแซมบ้านเนื่องจากบ้านจำเลยที่ ๒ เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ ไม่จำต้องซ่อมแซม และไม่ได้นำไปใช้จ่ายในครอบครัวเพราะจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในครอบครัวเพียงลำพัง เงินกู้ดังกล่าวหมดไปกับหนี้สินการพนันเพราะจำเลยที่ ๑ เป็นคนชอบเล่นการพนัน มีหนี้สินต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนสมรสกับจำเลยที่ ๒ ซึ่งโจทก์ทราบดี ก่อนที่โจทก์จะค้ำประกัน ถ้าโจทก์ใช้ความระมัดระวังเพียงพอโดยสอบถามจำเลยที่ ๒ เสียก่อน จำเลยที่ ๒ ก็จะห้ามปราม การที่โจทก์ค้ำประกันเงินกู้ของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าวถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์เอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ ๒ ไม่เคยได้รับการทวงถามจากโจทก์ไม่ว่าทางใด ถือว่าคดียังไม่มีข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่ชอบที่จะเสนอคดีต่อศาล ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินจำนวน ๑๑๖,๔๑๖.๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๑ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๑) มิให้เกินกว่า ๕,๕๗๗ บาท กับให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๓,๐๐๐ บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๒ ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ชำระเงินจำนวน ๑๑๖,๔๑๖.๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๑ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๑) มิให้เกินกว่า ๕,๕๗๗ บาท ให้จำเลยที่ ๒ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ และให้จำเลยที่ ๒ ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๒,๐๐๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๒ ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
ปัญหาว่า จำเลยที่ ๒ ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ หรือไม่นั้น มีข้อต้องพิจารณาว่า หนี้เงินกู้ของจำเลยที่ ๑ ที่โจทก์เป็นผู้ร่วมค้ำประกันนั้นเป็นหนี้ร่วมของจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๘๙ , ๑๔๙๐ หรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าตามหนังสือกู้สำหรับเงินกู้สามัญข้อ ๓ ระบุว่านำเงินกู้ไปใช้เฉพาะเพื่อการต่อไปนี้คือ ซ่อมแซมบ้านและใช้จ่ายในครอบครัว ซึ่งแม้จะเป็นระเบียบการกู้เงินของสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงยุติธรรม จำกัด ก็ต้องถือว่าการกู้เงินของจำเลยที่ ๑ นำไปใช้เพื่อเป็นกิจการดังกล่าว ขณะนั้นจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๑ ยังเป็นสามีภริยากันอยู่ เพิ่งจะหย่าขาดจากกันปี ๒๕๓๙ และยังปรากฏข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของจำเลยที่ ๑ ว่า นำเงินกู้ส่วนหนึ่งไปใช้ในการซ่อมแซมบ้านป้า และอีกส่วนหนึ่งนำไปชำระหนี้การพนันสลากกินรวบ เหตุที่นำเงินไปซ่อมแซมบ้านป้าเพราะป้าดูแลจำเลยที่ ๑ มาตั้งแต่เล็กรวมทั้งดูแลบุตรของจำเลยที่ ๑ ด้วย แม้หนี้การพนันสลากกินรวบตามที่กล่าวอ้างจะไม่ใช่หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ ๑ เบิกความรับว่า จำเลยที่ ๑ อยู่กับป้าและบุตรทั้งสามคนอยู่กับป้าด้วย ทั้งจำเลยที่ ๒ ก็รับว่าให้ป้าดูแลบุตรของตนและจำเลยที่ ๒ ให้เงินใช้และซื้อของให้ด้วย ดังนี้ การนำเงินกู้ไปซ่อมแซมบ้านของป้าก็เพื่อประโยชน์และความผาสุกของบุตรทั้งสามคนของจำเลยทั้งสอง กรณีจึงเป็นหนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๙๐ (๑) หนี้ที่จำเลยที่ ๑ ก่อขึ้นจึงเป็นหนี้ร่วมที่จำเลยที่ ๒ ต้องร่วมรับผิดด้วย ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ ๒ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.